สธ.เปิดผลสอบสวนโรค 3 พี่น้องสงสัยติดฝีดาษลิง ยันเป็นเริม เหตุต่อยมวยในยิมที่ภูเก็ต
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงผลการสอบสวนโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox) ในผู้สงสัยป่วย 3 รายในประเทศไทย ว่า
สำหรับกรณีนี้เป็นนักท่องเที่ยวไอร์แลนด์ 3 ราย ที่มีผื่นตุ่มหนองนั้น พบว่าเป็นพี่น้องกัน รายที่ 1 เพศชาย อายุ 30 ปี รายที่ 2 เพศชาย อายุ 27 ปี และรายที่ 3 เพศชาย อายุ 20 ปี ผลสอบสวนโรค
ผู้ป่วยรายที่ 1 มีอาชีพแพทย์ วันที่ 21 พ.ค.เริ่มมีผื่นที่แขนซ้าย อีก 2 วันถัดมาเริ่มมีไข้ 38.9 องศา รับยาคลินิกเอกชน จ.ภูเก็ต
ผู้ป่วยรายที่ 2 อาชีพนักแสดง วันที่ 21 พ.ค.65 เริ่มมีผื่นที่หลัง ด้านขวาและคอ รับประทานยาและอาการไม่ดีขึ้น
ส่วน รายที่ 3 เป็นนักศึกษา วันที่ 22 พ.ค.เริ่มมีผื่นที่รักแร้ซ้าย รับประทานยา อาการไม่ดีขึ้น โดยทั้งหมดคลุกคลีใกล้ชิดกันตลอดเวลาที่อยู่ในไทย แต่ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยฝีดาษวานรที่ไอร์แลนด์ แต่เมื่ออยู่ไทยมีการแบ่งกันใช้อุปกรณ์ชกมวย กระสอบทรายร่วมกันในยิมเดียวกัน และมีประวัติเพศสัมพันธ์กับหญิงไทย
อย่างไรก็ตาม พบผู้ป่วยสงสัยเพิ่มเติม 2 รายที่ยิมเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการผู้ป่วยสงสัยทั้งหมด 5 ราย ไม่พบฝีดาษวานร เป็นเชื้อเริม
ผู้สื่อข่าวถามว่าเชื้อฝีดาษลิงและโรคเริมสามารถฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ได้เหมือนโควิด-19 หรือไม่ และเชื้อจะอยู่บนสิ่งของนานแค่ไหน นพ.จักรรัฐกล่าวว่า การฆ่าเชื้อใช้แอลกอฮอล์ได้เหมือนโควิด ดังนั้น การล้างมือยังเป็นสิ่งจำเป็น ส่วนเชื้อจะอยู่ในอากาศได้นานแค่ไหนยังต้องติดตามข้อมูลต่อ
เมื่อถามถึงมีนักวิชาการะบุว่าเชื้อนี้แพร่เร็ว 10 เท่า นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ต้องติดตามข้อมูลเช่นกัน เพราะยังไม่ได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลก และย้ำว่า สำหรับคนที่ไปร่วมงานเฟสติวัลในต่างประเทศ หรือร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยง หากมีอาการและมาพบแพทย์ขอให้แจ้งแพทย์ด้วยว่ามีประวัติร่วมกิจกรรม อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนไทยที่เดินทางกลับมานั้น หากเราไม่ได้ร่วมกิจกรรมเสี่ยง และยังปฏิบัติตัวตามมาตรการส่วนบุคคล ทั้งสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะป้องกันโควิด-19 และฝีดาษวานรและโรคอื่นๆ ได้ ซึ่งคนไทยที่จะเดินไปต่างประเทศก็เช่นกัน ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล ไม่ร่วมกิจกรรมเสี่ยงก็จะป้องกันได้
“สำหรับคุณหมอที่อายุน้อยกว่า 60 ปี อาจไม่เคยเห็นลักษณะฝีดาษ จึงขอให้ตั้งคำถามสงสัยว่าเป็นฝีดาษลิงก่อน โดยพิจารณาจากประวัติเสี่ยง ซึ่งผู้ที่เข้ามารับบริการใน รพ.ทุกท่านหากมีประวัติร่วมกิจกรรมเสี่ยงขอให้แจ้ง ไม่ต้องกังวลโรคนี้ ส่วนใหญ่หายเอง จะได้รับการรักษาและจะลดการแพร่ระบาดไปสู่คนอื่นได้” นพ.จักรรัฐกล่าว