GISTDA จับมือ กรมส่งเสริมการเกษตร ใช้ภูมิสารสนเทศบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร หรือ กสก. ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมและการบริหารจัดการการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ในรูปแบบออนไลน์
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการขยายความร่วมมือระหว่าง GISTDA กับ กรมส่งเสริมการเกษตร ที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องกันมานานกว่า 9 ปี ในเรื่องการบูรณาการเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการเกษตรร่วมกัน อีกทั้ง GISTDA จะร่วมผลักดันพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตรในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการส่งเสริมการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ หรือการบูรณาการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถระหว่างสองหน่วยงาน
ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองหน่วยงานและของประเทศอย่างแท้จริง เนื่องจากเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของประชาชนในประเทศไทย ดังนั้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการบริหารจัดการพื้นที่จึงเป็นภารกิจสำคัญในระดับประเทศ อีกทั้งความร่วมมือกัน จะเป็นการสร้างขีดความสามารถทั้งการบริหารในเชิงนโยบายและการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ด้านการเกษตรได้อย่างครอบคลุม ที่สำคัญจะเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของทั้ง 2 หน่วยงานเพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลรวมทั้งสนับสนุนภารกิจและการดำเนินงานในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ทางด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ สนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในโครงการต่าง ๆ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่ให้ความสำคัญกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาการเกษตรในปัจจุบันไปสู่การเกษตรอัจฉริยะหรือ Smart Agriculture เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่มุ่งสู่เกษตร 4.0 ผนวกกับมาตรการด้านการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตร
เช่น การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมไทยโชต เป็นแผนที่ฐานประกอบการวาดผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล และใช้เป็นหนึ่งในแผนที่ฐานในเว็บบริการข้อมูลแผนที่ส่งเสริมการเกษตร หรือ ssmap การร่วมกันพัฒนาโปรแกรมวาดแปลงในระบบบริการภูมิสารสนเทศเพื่อการเกษตร หรือ GISAgro การใช้ข้อมูลดาวเทียมตรวจสอบพื้นที่ปลูกข้าว พื้นที่การเกษตรที่เสียหายจากอุทกภัยและภัยแล้ง และติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เป็นต้น ถือเป็นการบูรณาการร่วมพัฒนา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยีและข้อมูลระหว่างหน่วยงาน รวมถึงการร่วมกันนำเสนอข้อมูลการเกษตรที่เป็นข้อมูลเดียวกัน”
นำไปสู่การศึกษาวิจัยและจัดทำการประเมินพื้นที่เกษตรที่เสี่ยงเสียหายจากภัยธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ การประยุกต์ใช้ Applications ด้านการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่สำหรับงานส่งเสริมและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่ และนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพบุคลากรเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและด้านส่งเสริมการเกษตร พร้อมดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นชอบร่วมกันต่อไป