กทม.ดันคลินิกดูแลกลุ่มหลากหลายทางเพศ ตั้งเป้า 2 คลินิกทุกเดือน

กทม.ดันคลินิกดูแลกลุ่มหลากหลายทางเพศ ตั้งเป้า 2 คลินิกทุกเดือน

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ห้องพัชราวดี โรงแรมปริ๊นพาเลซ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดการประชุมพัฒนาเครือข่ายการดำเนินงานด้าน HIV/STI และด้านสุขภาพในกลุ่มหลากหลายทางเพศ ซึ่ง กทม.โดยกองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย ร่วมกับ ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้าน สาธารณสุข (TUC) จัดขึ้นเพื่อพัฒนาเครือข่ายการดำเนินงาน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

น.ส.ทวิดากล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นการพยายามทำให้เกิดความร่วมมือ ทำให้รู้สึกว่าต้องใส่ใจ นี่คือเพื่อนของเรา เป็นคนที่เราต้องห่วงใย ต้องดูแล ผู้ว่าฯกทม.และทีมงานมีความสนใจกลุ่มหลากหลายทางเพศอยู่แล้ว ทุกคนเหมือนกัน ไม่ได้คิดว่ามีความแตกต่าง แต่อยู่ด้วยแล้วสนุก มีความสุข หากมีบางอย่างที่สามารถทำแล้วทำให้กลุ่มหลากหลายทางเพศสามารถเข้าถึงและใช้ชีวิตได้เหมือนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรจะพยายามอย่างยิ่ง

“ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สำนักอนามัยและสำนักการแพทย์มีการดำเนินงานในการแสวงหาความร่วมมือจากเครือข่ายอยู่แล้ว เนื่องจากไม่สามารถทำเองได้ อยากให้คลินิกที่ดูแลกลุ่มหลากหลายทางเพศเกิดขึ้น 2 คลินิกในทุกเดือน โดยดูแลทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาทางใจ การใช้ชีวิต เป็ป (PEP) เพร็พ (PREP) เรื่องฮอร์โมน เรื่องการดูแลรักษา คลินิก PrEP Bangkok จำนวน 16 แห่ง ต้องเป็นคลินิกที่สมบูรณ์แบบที่สุดภายในสิ้นปีนี้ 6 คือทุกอย่างครบวงจรต้องอยู่ใน 16 คลินิก และครอบคลุม 6 โซนพื้นที่ของกรุงเทพฯ เวลาตอบสนองต่อการทำงานไม่ใช่แค่เฉพาะเวลาราชการ

“สิ่งใดที่ทำให้รสนิยม ความมีสีสัน ความหลากหลาย และความเข้าใจของสังคมต่อเรื่องนี้เพิ่มขึ้นยินดีสนับสนุนเต็มที่ จะไปด้วยกันระหว่างเรื่องของวิถี สุขภาพ รสนิยม ความชอบ สีสัน และอิสระของการใช้ชีวิต ซึ่งหวังว่าเราจะทำได้ ตรงไหนที่ติดขัดหากทำได้เลยยินดีดำเนินการทันที หากทำไม่ได้จะหาแนวทางดำเนินการให้ต่อไป” น.ส.ทวิดากล่าว

Advertisement
ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน กทม.คาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่ในปี 2565 จำนวน 81,465 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,128 คน และเสียชีวิตภายในปี 2565 จำนวน 1,708 คน ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (NAP Program) ในปี 2564 พบว่า มีผู้ที่ทราบสถานการณ์ติดเชื้อเอชไอวีและมีชีวิตอยู่ จำนวน 80,827 คน ได้รับยาต้านไวรัสและมีชีวิตอยู่ จำนวน 64,640 คน และมีผลการตรวจพบว่ามีปริมาณไวรัสในกระแสเลือดน้อยกว่า 1,000 copies/ml จำนวน 52,671 คน

จากผลการเฝ้าระวังความชุกของการติดเชื้อเอชไอวี พื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2564 พบว่า กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 9.1 กลุ่มสาวประเภทสอง ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 6.6 กลุ่มพนักงานบริการทางเพศหญิงในสถานที่สาธารณะ (FSW-Non-Vanue) ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 5.9 กลุ่มชายที่มาตรวจรักษากามโรค ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 3.20 สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า กรุงเทพฯมีอัตราการป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 100.53 ต่อแสนประชากร

ข้อมูลจากบัตรรายงานผู้ป่วย รง.506 ของสำนักอนามัย พบผู้ป่วย 6,450 คน โรคที่พบมากที่สุดคือ ซิฟิลิส 2,276 คน รองลงมาคือ หูดอวัยวะเพศและทวารหนัก เริมที่อวัยวะเพศ หนองใน และหนองในเทียม โดยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

Advertisement

กทม.มีบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศของสำนักอนามัย ประกอบด้วย คลินิกรักปลอดภัย จำนวน 9 แห่ง ให้บริการปรึกษา ตรวจ/รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ บริการเชิงรุก Mobile Clinic, คลินิก PrEP Bangkok จำนวน 16 แห่ง ให้บริการปรึกษา ตรวจเอชไอวี บริการสนับสนุนอุปกรณ์และยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนและหลังสัมผัสเชื้อ ตรวจการติดเชื้อและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี คลินิก Family and Friend (พี่น้องและผองเพื่อน) มีบริการเริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัส จำนวน 37 แห่ง ให้บริการคนไทย ผู้ที่ไร้สิทธิรวมถึงแรงงานข้ามชาติ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิการรักษา ทำให้ประชาชนทั่วไปรวมถึงกลุ่มหลากหลายทางเพศมีโอกาสเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียมกัน

สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย องค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานกับกลุ่มหลากหลายทางเพศ จำนวน 16 องค์กร บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ ตัวแทนกลุ่ม LGBT ได้แก่ คณะผู้จัดงานนฤมิต ไพรด์, Mr.Gay World Thailand 2018 และ 2019, Miss LGBT Thailand 2022, Mister & Miss Queen Rainbow Sky Bangkok 2022 รวม 60 คน โดยวิทยากรได้รับเกียรติจาก ผศ.พญ.พูนพิศมัย สุวะโจ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร คลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี และคุณรีน่า จันทร์อำนวยสุข คลินิกแทนเจอรีน มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี ซึ่งทุกท่านมีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญด้านการจัดบริการคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image