ชัชชาติ ชี้ สร้าง รพ.ใหญ่ต้องคิดให้ดี ระวัง ‘เสียดายน้ำจิ้ม เลยไปซื้อเป็ดย่าง’ จับตาจุดโหด-ภัยน้ำทะเลสูง

ชัชชาติ ชี้ สร้าง รพ.ใหญ่ต้องคิดให้ดี ระวัง ‘เสียดายน้ำจิ้ม เลยไปซื้อเป็ดย่าง’ จับตาจุดโหด-ภัยน้ำทะเลสูง

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2565 ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยวันนี้มีการพิจารณาญัตติ ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566
นายชัชชาติกล่าวในตอนหนึ่ง หลังจบการอภิปรายของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ว่า เป็นการอภิปรายที่ฟังแล้วรู้สึกอบอุ่น รู้สึกว่าเหมือนกับเรามีทีมงานอีก 50 คนที่มาช่วยดูปัญหาต่างๆ ตนนั่งตลอด ยังไม่กล้ารับประทานข้าวกลางวัน เพราะอยากจะฟังอยากจะจดปัญหาทุกอย่าง เพราะเหมือนช่วยให้เห็นปัญหาที่แท้จริง อาทิ ส.ก.ลาดพร้าว พูดเรื่อง เงินไม่พอ และงบต่างๆ ที่ว่าแปลก ตนจะเข้าไปดูให้ ส่วนเรื่องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในงประมาณเป็นแนวคิดของ กทม.อยู่แล้ว รวมถึงเรื่องการรวมเงินก้อนของชุมชน เพื่อทำอะไรในชุมชน เช่น ติดกล้อง

“เรื่องไฟ ใน กทม.น่าจะมีอยู่ 400,000 ดวง ที่เขตดูแลประมาณ 230,000 ดวง สำนักการโยธาดู 80,000 ดวง ง่ายสุดอาจจะจ้างผู้รับจ้างเอกชน เปลี่ยนให้เร็ว และได้ต้นทุนที่ถูกลง เพราะเขาได้งานที่ใหญ่ขึ้น สั่งมาที่ส่วนกลางและเข้าไปแก้เลย

เรื่องขยะตกค้าง ปัญหาใหญ่อยู่ที่เขตรอบนอก ในเมืองไม่เยอะเท่า จะอยู่แถวสายไหม มีนบุรี หนอกจอกเยอะ เพราะหมู่บ้านขยายมากขึ้น รถและคนเก็บขยะไม่พอ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ ต้องรีบไปแก้

เรื่องการเปิดเมือง เปิดหน้ากาก ต้องเตรียมพร้อมด้านสาธารณสุขมากกว่านี้ ผมเห็นด้วย สำคัญสุดคือกลุ่ม 608 กลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน แม้ติดจะไม่แรง แต่เป็นกลุ่มที่นำเชื้อไปติดที่บ้าน ก็จะรับคำแนะนำสมาชิกไปปรับมากขึ้น ส.ก.คลองสามวามีข้อเสนอกองทุนพัฒนาชุมชนหมู่บ้าน ชุมชน 200,000 บาทต่อปี คงต้องไปดูรายละเอียด เงื่อนไข ว่าทำได้ มีงบหรือไม่

Advertisement

สุดท้ายต้องมาดูว่า เรามีประสิทธิภาพการจัดเก็บแค่ไหนที่จะคืนเป็นสวัสดิการให้ประชาชน สิ่งแรกต้องเรียกร้องจากรัฐบาลกลาง สวัสดิการพื้นฐานต้องขอร้องจากรัฐบาลกลาง เพราะคือหน้าที่หลัก เรามีงบประมาณ 8 หมื่นล้าน รัฐบาลกลางมีงบ 3 ล้านล้าน เราเป็นแค่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ของรัฐบาลกลาง แต่เราดูแลประชากร 15 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเรามีปัญหาเรื่องสวัสดิการผู้สูงอายุ คนพิการ ก่อนอื่นต้องแจ้งรัฐบาลว่า ที่ให้มาดูแลไม่เพียงพอ แล้วท่านจะตอบอย่างไรก็ว่ากันอีกที ขณะเดียวกันเราก็หารายได้เพิ่ม แล้วเสริมให้ คือแนวทางที่เราทำไป ค่อยๆ ไล่ไป” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อไปว่า เรื่อง ‘ถนนลำมะเขือขื่น’ เขตคลองสามวาที่มีคนจะยกให้ ต้องทยอยทำ ส่วน ส.ก.บางซื่อ พูดเรื่องความร่วมมือ เรื่องซอยและไฟ จะรีบดำเนินการให้ ส.ก.ทุ่งครุ เรื่องโรงพยาบาล การปรับศูนย์สาธารณสุขเป็นโรงพยาบาล ทำได้ เคยทำมาแล้ว โดยอาจจะคิดถึงโรงพยาบาลใหญ่ด้วย

“ต้องเรียนว่า หน้าที่หลักของ กทม.คือ ปฐมภูมิ เราดูแล 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่โรงพยาบาลเรามีเตียงแค่ 11 เปอร์เซ็นต์ของโรงพยาบาลทั้งหมด นโยบายการบริการต้องโฟกัสที่ปฐมภูมิก่อน การสร้าง รพ.ใหญ่ ต้องคิดดีๆ เหมือนกัน กทม.ชอบสร้างโรงพยาบาลตามที่ดินบริจาค บางแห่งรถประจำทางไปไม่ถึง แต่ค่าสร้างตึกเท่ากัน เหมือนเสียดายน้ำจิ้ม เลยไปซื้อเป็ดย่าง ต้องคิดให้ดี ว่าตำแหน่งแห่งที่และต้นทุน ตรงไหนดีที่สุด การลอกคลองเป็นเรื่องใหญ่ที่ได้ผลดี จุดที่มีการลอกน้ำระบายได้ดีขึ้น วิธีคิดคือพยายามปรับให้ภาพรวมสมบูรณ์แบบมากขึ้น” ผู้ว่าฯกทม.กล่าว

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ส.ก.เขตทวีวัฒนาบอกว่า เมืองขยายไปแต่ทรัพยากรตามไปไม่ถึง ต้องไล่ตาม เรื่องไฟฟ้าแสงสว่าง ถนนเสียหาย ชำรุด ลอกท่อ ลอกคูคลอง เดี๋ยวทำให้ ส่วนเรื่องสวนสาธารณะอยู่แล้ว กทม.จะปรับปรุงให้ดีขึ้น ส.ก.เขตธนบุรี พูดน่าสนใจ เรื่องตลาดรัชดาภิเษกที่เป็นของ กทม. อยู่ตลาดพลู และร้าง สามารถเอามาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ถ้าการรถไฟมีที่ว่างให้ประชาชนทำพื้นที่เศรษฐกิจได้ จะเป็นสิ่งที่ดี ตอนนี้ กทม.ต้องค้นหาทรัพย์สินที่มี เราหวังแค่ว่าเป็นแหล่งทำมาหากินของประชาชนในยามยากลำบาก ราคาไม่แพง ส่วนเรื่องอุโมงค์รัชดา ไปหลายรอบแล้ว ชาวบ้านบ่นเยอะ ยังมี 14 โครงการใหญ่ที่มีความล่าช้า อ้างโควิด เราต้องเดินหน้า เอาจริงเอาจัง ปรับ ปฏิบัติตามสัญญา

“ส่วน ส.ก.เขตพระโขนง พูดเรื่องบึงหนองบอน ไม่จบ ท่าทางจะยาว การกู้อุโมงค์ถล่มไม่ใช่เรื่องง่าย อาจจะต้องมีการก่อสร้างอะไรเพิ่มเติม รวมถึงเรื่องโรงเรียน ที่ไม่ใช่แค่แหล่งความรู้ แต่คือเรื่องสารอาหารและความปลอดภัยด้วย ส่วนเรื่องเทศกิจมาดูแลจราจร ได้สั่งการไปแล้ว คงต้องเอา ร.ร.ใน กทม.ก่อน ขณะเดียวกันให้พนักงานกวาดของเรา ช่วยเป็นหูเป็นตาด้วย ไม่ได้กวาดอย่างเดียว ดูเรื่องความปลอดภัยด้วย หลายอย่างที่สมาชิกบอกมาว่า ระเบียบ กทม.ขัดแย้งกัน จะไปดูให้

ส่วน ส.ก.เขตราชเทวี พูดเรื่องบ้านครัว เครื่องมือดับเพลิงต้องให้สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ สำรวจความต้องการแต่ละชุมชนว่าขาดเหลืออะไร ต้องมีเครื่องมือที่สอดคล้องกับความต้องการ เราคือทีมเดียวกัน ข้อมูลของท่านมีคุณค่ามาก คือสิ่งที่เราอยากจะฟัง ท่านเข้าถึงประชาชน รู้จักประชาชนมากกว่าผมเยอะ จะรีบไปดำเนินการให้

ส.ก.สาธรพูดเรื่องไฟฟ้าส่องสว่าง คลองช่องนนทรี มีงบอยู่ คงต้องชะลอดูว่ามีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน

ส.ก.บางกะปิพูดถึงจุดโหดของกรุงเทพฯ แยกลำสาลีที่มีการก่อสร้างเยอะ ถ้าเราไปเร่งรัด สถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้น

ส.ก.ราษฎร์บูรณะจะดูเรื่องปัญหาการุกล้ำที่ดิน, ส.ก.บางบอน ปัญหาน้ำท่วมทะเลขึ้นสูง อนาคตภัยอันตรายที่สุด คือระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ไทยเสี่ยงสูง กทม.เราคงต้องตั้งคณะทำงาน เป็นการแก้ปัญหาของรัฐบาล เราเสนอทางแก้ไขไม่ยาก อ่าวไทยจะมีถนนทางเลียบชนบท สามารถยกถนนนี้ให้เป็นเขื่อน ยาวตลอด แต่ต้องทำประตูน้ำที่ท่าจีน เจ้าพระยา บางประกง เหมือนประตูน้ำของลอนดอน เชื่อมกับเขื่อน แต่คงไม่ใช่งานเรา คงต้องเสนอรัฐบาลไป” นายชัชชาติกล่าว และว่า เมื่อวานหายไป 3 ชั่วโมง จดไว้หมดแล้ว รับรองว่าไม่มีการถูกละเว้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image