‘ผอ.เครือข่ายลดอุบัติเหตุ’ ยันปม ‘คานถล่ม’ แก้ที่กลไกรัฐ จี้ ‘คมนาคม’ เข้มมาตรฐาน-ประเมินความเสี่ยง

‘ผอ.เครือข่ายลดอุบัติเหตุ’ ยัน ปมคานถล่ม ต้องแก้ด้วยกลไกรัฐ วิศวกรต้องประเมินความเสี่ยง จี้ ‘คมนาคม’ เข้มมาตรฐาน-การเยียวยาต้องสูงขึ้น

สืบเนื่องจากกรณีเกิดอุบัติเหตุ แท่งเหล็กที่ใช้ทำทางต่างระดับตกลงมาบนถนนตรงข้ามกับปั๊มน้ำมัน ปตท. พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งห่างกันไม่ถึง 1 เดือน วันที่ 31 กรกฎาคมเกิดเหตุคานปูนสะพานกลับรถหล่นทับรถบนถนนพระราม 2 ขาเข้าหน้า รพ.วิภาราม จ.สมุทรสาคร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย มีผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุ 2 ราย และล่าสุดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม หลังคาด่านเก็บเงินทางด่วนช่วงบางปะกง มุ่งหน้าพัทยา พังถล่มลงมา แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต นั้น

อ่านข่าว : ด่วน! คานสะพานกลับรถ กม.34 ถนนพระราม 2 ร่วง การจราจรเคลื่อนตัวได้ช้า มีผู้เสียชีวิต

จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ให้สัมภาษณ์กับ “มติชน” ว่า ตนคิดว่าในตอนที่สร้างถนนในประเทศไทย สิ่งที่เราตั้งคำถามกันมาตลอดคือ

1.เรื่องรูปแบบและมาตรฐานการก่อสร้าง ซึ่งต้องใส่ใจและให้ความสำคัญว่าเราได้ดำเนินการก่อสร้างเป็นไปตามแบบและมาตรฐานจริงหรือไม่ และวิศวกรที่คุมงานทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่หรือไม่

Advertisement

2.หากพูดถึงโอกาสที่สิ่งก่อสร้างจะชำรุดเสียหายนั้น ตนคิดว่ากรมทางหลวงและวิศวกรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุง ประชาชนทั่วไปมองเห็นการก่อสร้างของกรมทางหลวงที่ผ่านมา ทั้งรูปแบบ เครื่องมือ ขนาดของเสาหรือขนาดของคาน เราเข้าใจว่าน่าจะงานเป็นร้อยปีแล้ว ไม่ใช่แค่ 30 ปีแล้วบอกว่าชำรุดเสียหายตามอายุการใช้งาน

3.ผู้เชี่ยวชาญต้องลงไปตรวจสอบที่หน้างานและประเมินความเสี่ยง ลักษณะของคานที่ตกลงมา จริงๆ แล้วเป็นคานคอนกรีตที่รับน้ำหนัก ซึ่งมีขนาดและน้ำหนักที่มหาศาล จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าเกิดความผิดพลาดเพราะอายุการใช้งาน เพราะเป็นคานขนาดใหญ่ที่ควรมีมาตรฐานในการออกแบบและก่อสร้างที่มั่นคง

เมื่อเกิดปัญหาการชำรุด สิ่งที่จะต้องประเมินคือ มีโอกาสที่จะถล่มลงมามากน้อยแค่ไหน และจะต้องป้องกันอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้มีการสัญจรและบอกว่าจะมีการซ่อมแซม หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ในเมื่อกำลังจะซ่อมแซมทำไมจึงไม่มีการกันรถออกไป หรือไม่ทำทางเบี่ยง แสดงว่าคุณมองปัญหานี้น้อยเกินไป หรือมองไม่ออกว่ามีความเสี่ยง

Advertisement

“ผมคิดว่าการแก้ปัญหาต้องเข้าไปอยู่ในระดับกลไกของรัฐบาลดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม จะต้องกำชับวิศวกรตลอดจนคนที่ดูแลงานก่อสร้างทั้งหมด จะต้องจริงจังและเข้มงวดกับเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยให้มากขึ้นหลายเท่าตัว เพราะเกิดเหตุการณ์แบบนี้หลายครั้งแล้ว นายพรหมมินทร์เน้นย้ำ

เมื่อถามถึงแนวทางการป้องกันของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ?

นายพรหมมินทร์ระบุว่า วันนี้ประชาชนหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพึ่งตัวเองให้มากขึ้น เมื่อไรก็ตามที่ถนนข้างหน้ามีความผิดปกติ มีป้ายบอก มีการทำทางเบี่ยง หรือมีเครื่องจักรที่กำลังทำงานอยู่ เราจะต้องประเมินความเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเราจะไว้ใจได้อย่างไรว่าหน่วยงานรัฐดูแลได้อย่างปลอดภัย ต้องหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปยังบริเวณดังกล่าว

“สิ่งที่สำคัญคือ เวลาที่เกิดเหตุแล้วนั้น จะต้องไปขยับกฎหมายบางอย่าง เช่น เรื่องการชดเชยเยียวยา ให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ถ้ากลไกกำกับดูแลไม่เข้มงวด ประชาชนก็จะได้รับความเดือดร้อน การชดเชยเยียวยาก็ไม่เต็มที่ จากเดิมที่วิศวกรควบคุมงานต้องรับผิดชอบด้วย การชดเชยเยียวยาต้องมากขึ้นกว่าเดิมเป็น 10 เท่าตัว เมื่อการชดเชยเยียวยาสูง มาตรการในการเฝ้าระวังก็จะมากขึ้น กรณีที่เกิดขึ้นหากจบที่การชดเชยคนละ 1-2 ล้านบาท ก็จะเป็นเพียงแค่การเข้าไปสังเวยชีวิต โดยที่ทางหน่วยงานแทบจะไม่สะเทือนเลย เพราะการก่อสร้างระดับนี้มีมูลค่าหลายร้อยล้านอยู่แล้ว” นายพรหมมินทร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image