‘ชัชชาติ’ ย้ำหัวใจสำคัญของการ ‘ปฏิรูป’ กทม.เดินหน้า ‘แซนด์บ็อกซ์ 2 จุด’ ปรับสาธารณสุขใหม่

ชัชชาติ ย้ำ ‘ดิสรัปต์-ขยายผล’ หัวใจสำคัญของการ ‘ปฏิรูป’ กทม.เดินหน้าแซนด์บ็อกซ์ 2 จุด ‘ดุสิต-ราชพิพัฒน์’ ปรับสาธารณสุขใหม่

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่ห้องกมลทิพย์ 1 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว “ก้าวต่อไปของการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1 : Health security” ร่วมกับ ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้แทน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ทั้งนี้ นายชัชชาติ ได้กล่าวถึงบทบาทและการขับเคลื่อนระบบบริการปฐมภูมิ และการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ไม่มีเวลาไหนที่เหมาะเท่าเวลานี้กับการปฏิรูปเรื่องสาธารณสุข เรามีบทเรียนที่สำคัญมาจากเรื่องโควิด-19 กรุงเทพมหานครมีบทเรียนที่หนักมาก ตรงกับ 2 เรื่องสำคัญ คือ การบูรณาการด้านข้อมูลและเรื่องทรัพยากร กรุงเทพมหานครมีเตียงมาก สุดท้ายแล้วการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ยังมีปัญหา การร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน เราอาจจะเป็นจังหวัดที่ไม่มีสาธารณสุขจังหวัด ไม่มีคนที่สั่งการทั้งจังหวัดได้ แต่ละส่วนมีหน้าที่ดูแลตัวเอง กรุงเทพมหานครมีเตียงอยู่แค่ 11 เปอร์เซ็นต์ ของเตียงทั้งหมดในกรุงเทพฯ

“เรื่องแรกก็คือ เรื่องการบูรณาการด้านข้อมูลความร่วมมือ เรื่องที่สอง เรื่องปฐมภูมิเป็นจุดอ่อนของกรุงเทพมหานคร เราไม่มีหน่วยปะทะ หน่วยหน้า จะเห็นได้ว่าเรามีแต่หน่วยปะทะหลัก ก็คือศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอยู่ 69 แห่ง ถามว่ารับไหวไหม อย่างศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย มีบุคลากรอยู่ 82 คน ดูแลประชากรในคลองเตยประมาณ 1 แสนคน ไม่มีทางรับไหว พอปฐมภูมิอ่อนแอ ทุกอย่างไหลไปที่ทุติยภูมิ ตติยภูมิหมด เมื่อคนไม่มาศูนย์บริการสาธารณสุข แต่ไปที่โรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลหลักก็แน่น เพราะคนไม่ไว้ใจปฐมภูมิ การแก้ไขปฐมภูมิเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่จะแก้ไขปัญหาของระบบสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร” นายชัชชาติกล่าว และว่า

“จริงๆ แล้วกรุงเทพมหานครไม่สามารถทำคนเดียวได้ เพราะมันต้องมีทั้งเทคโนโลยี ทั้งข้อมูลต่างๆ เป็นมิติที่ดีที่ทุกคนมาร่วมมือกัน ต่างจังหวัดมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ส่วนกรุงเทพมหานครมีอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ในอัตราส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับต่างจังหวัด ต้องเพิ่ม อสส. มากขึ้น และกรุงเทพมหานครจะมีอีกส่วนหนึ่งที่มาเป็นบทบาทสำคัญ คือ อาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) ประจำชุมชน ถ้าลองไปดู อสส. จะเป็นผู้สูงอายุเยอะ ไม่ค่อยเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี อสท. เป็นเด็กรุ่นใหม่ในชุมชนที่ใช้เทคโนโลยีเป็น สามารถเข้าใจการใช้แอพพลิเคชั่น (Application) แล้วไปสอนคนในชุมชนให้เข้าใจการเข้าถึงเทเลเมดิซีน (Telemedicine) การใช้แอพพลิเคชั่น (Application) การเอาข้อมูลอัพเดตมาถึงส่วนกลาง ก็จะทำให้ภาพรวมของการดูแลปฐมภูมิเข้มข้น วันนี้เป็นมิติที่ดีมากๆ ที่ทุกคนมาร่วมมือกัน การจัดงานในวันนี้ ผมคิดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับคุณภาพชีวิตของคนทั้งประเทศได้อย่างชัดเจน” นายชัชชาติระบุ

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนทำนโยบายของ กทม. ได้มีการศึกษาแนวคิดของนักการปฏิรูปเรื่องสาธารณสุข ซึ่งเห็นตรงกันว่านโยบาย 216 ข้อ เรื่องสาธารณะสุข สอดคล้องกับแนวคิดของ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการสาธารณสุข ทั้งสิ้น คือเน้นเรื่องเส้นเลือดฝอยปฐมภูมิ เพราะเชื่อว่า กทม. ไม่มีหน้าที่ไปสร้างเตียงอีกจำนวนมาก สร้างปฐมภูมิให้ดี แล้วเชื่อว่าการใช้เตียงทุกเตียงทุติยภูมิ ตติยภูมิคงจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นนโยบายที่ดูแลเส้นเลือดฝอยปรับปรุงสาธารณสุข ใช้เทคโนโลยี Telemedicine มาช่วยในการเข้าถึงชุมชน ดีใจที่จะพัฒนาและมีแนวร่วมมากขึ้น กรุงเทพมหานครทำ Sandbox 2 ที่ คือ ที่ดุสิต กับ ที่ราชพิพัฒน์

“แซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) คือ แบบทดลอง กรุงเทพมหานครแบ่งเขตสาธารณสุขออกเป็น 6 โซน แล้วทำแต่ละโซนโดยทดสอบก่อน ถ้ามันมีความสำเร็จเอาขยายไปที่อื่นได้ แซนด์บ็อกซ์ต้องมีตั้งแต่โรงพยาบาลที่แม่ข่ายสามารถดูแลเคสที่หนัก ซับซ้อน (Complicate) ได้ อาจใช้วชิรพยาบาลเป็นตัวแม่ ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นปฐมภูมิลำดับแรก แล้วก็จะมีเครือข่ายคลินิก ชุมชนอบอุ่น ร้านขายยา มันก็จะเป็นเครือข่ายที่ครบสมบูรณ์แบบ ถ้าปะทะได้จบ อยู่ที่คลินิก หรือศูนย์สาธารณสุข

จากนั้นมีโรงพยาบาลคอยเป็นที่ปรึกษา (Consultant) อาจจะมีหน่วย Telemedicine ลงไป ตอนนี้แซนด์บ็อกซ์เริ่มจะสำเร็จ ของราชพิพัฒน์น่าจะเสร็จสิงหาคมนี้ น่าจะเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์ (Completed) ขยายผลได้ ทุกอย่างเดินไปอย่างเต็ม ข้อดีของปฐมภูมิคือไม่ต้องลงทุนมากมายเพียงแค่เปลี่ยนมายด์เซต (Mindset) หาแนวร่วม ใช้ระเบียบ/ข้อบังคับ (Regulation) ใช้การตรวจสอบ มากำกับควบคุม” นายชัชชาติกล่าว และว่า

Advertisement

ถ้าโรงพยาบาล 1 โรง อาจใช้เวลา 3 ปี แล้วได้ที่เป็นโลเกชั่น และเปลี่ยนวิธีคิดเรื่อง ปฐมภูมิ คิดว่าอิมแพคที่เร็ว หาแนวร่วมได้เร็ว หัวใจของคำว่าการปฏิรูป คิดว่า 2 คำ คือ ดิสรัปต์ (Disrupt) เปลี่ยนวิธีคิดแบบเดิม และต้อง Scale คือขยายผลได้เร็ว ถึงมี sandbox ถ้าสำเร็จ 1 โมเดล เอาขยายไปทุกเขตในทุกสาธารณสุขได้ คิดว่าน่าจะเห็นผลตั้งแต่เดือนหน้า เพราะเริ่มทำมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งในการดำเนินการสามารถร่วมกับหน่วยงานอื่นได้ อีกปัญหาที่เจอคือความเป็นเนื้อเดียวกัน มีการตั้งคณะกรรมการของระบบสาธารณสุขทั้งหมดเพื่อให้เกิดการประสานงานด้านความรู้ เทคโนโลยี ทรัพยากรต่างๆ บูรณาการการทำงานร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image