กทม.ตรวจโคโค่วอล์ค เผย 5 เช็คลิสต์ เร่งทำรายงานส่งชัชชาติ เห็นโจทย์แก้-กำหนดมาตรการ

กทม.ตรวจโคโค่วอล์ค เผย 5 เช็คลิสต์ เร่งทำรายงานส่งชัชชาติ เห็นโจทย์แก้-กำหนดมาตรการ

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม เวลา 20.00 น. พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการโคโค่วอล์ค เขตราชเทวี โดยมี นายณันทพงศ์ สินมา ผู้อำนวยการเขตราชเทวี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตราชเทวี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

พล.ต.อ.อดิศร์ กล่าวว่า วันนี้ไม่ใช่วันแรกที่เริ่มตรวจ แต่เราเริ่มตรวจสถานประกอบการมาหลายวันแล้ว โดยกำลังทยอยทำรายงานและกำหนดรูปแบบของการทำรายงาน เพื่อให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เห็นโจทย์ของการแก้ไขปัญหาและกำหนดมาตรการในการสร้างความระมัดระวังได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากเมื่อหลายปีที่ผ่านมามาตรการเหล่านี้เริ่มห่างหายไป ประกอบกับรูปแบบของการท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้สถานประกอบการปิดไป อาจจะทำให้วิธีการในการป้องกันปัญหาหรือแก้ไขปัญหาปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่สิ่งแรกที่เราต้องทำคือในเรื่องของมาตรการในการป้องกันเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชน

ซึ่งก่อนสถานประกอบการจะเปิดบริการได้นั้น ต้องผ่านการพิจารณาตรวจสอบจากผู้อำนวยการเขต ทั้งด้านกายภาพ โครงสร้าง เพื่ออนุญาตให้ใช้อาคาร หากอาคารดังกล่าวได้รับอนุญาตให้เปิดใช้ได้ แสดงว่าต้องเกิดความปลอดภัย ทั้งในเรื่องของโครงสร้าง ทางหนีไฟ และสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย ต่อไปเป็นเรื่องของการอนุญาตจำหน่ายอาหาร  การเปิดเป็นร้านอาหาร และเรื่องของการใช้เสียง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ในอำนาจของสำนักงานเขตในพื้นที่ ส่วนเรื่องของการจำหน่ายสุราเป็นอำนาจของกรมสรรพสามิต สถานประกอบการลักษณะคล้ายสถานบริการ การขออนุญาตเบื้องต้นจะเป็นลักษณะขอจำหน่ายอาหาร สุรา มีดนตรี เลิกเที่ยงคืน เนื่องจากใบขออนุญาตจำหน่ายสุรา จะขายได้แค่เที่ยงคืน ถ้าขายเกินเที่ยงคืนจะมีโทษปรับ

Advertisement

พล.ต.อ.อดิศร์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเราจะเน้นในเรื่องของความปลอดภัยเป็นพิเศษ สิ่งใดที่เห็นว่าไม่ปลอดภัยเราจะสั่งให้ปิดทันที เพื่อที่จะดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง โดยจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้อำนวยการเขต

“เรามีเช็คลิสต์อยู่ประมาณ 5 ข้อให้ดำเนินการแก้ไข หลังจากนั้นจะมาดูตามกรอบเวลาที่กำหนด เมื่อถึงเวลาแล้วหากสถานประกอบการยังแก้ไขไม่ได้ทางผู้อำนวยการเขตก็มีอำนาจในการสั่งปิดต่อ หรือจะให้กลับไปทำการแก้ไข อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้อำนวยการเขต ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการเมื่อประมาณกลางเดือนมิถุนายน ช่วงที่มีข่าวไฟฟ้าลัดวงจรและเกิดไฟลุกไหม้ที่สีลม ซอย 2 แต่เราไปเน้นในเรื่องของไฟฟ้าลัดวงจร เรื่องสายไฟ สายสื่อสาน ซึ่งมาตรการ 5 ข้อ คือ ทางเข้าออก เครื่องดับเพลิง ไฟฉุกเฉิน ประตูหนีไฟ มีสิ่งของตั้งวางกีดขวาง เช่น ถังขยะ บาร์เหล้า ซึ่งสำนักงานเขตได้ลงพื้นที่สำรวจทุกเดือน ในส่วนด้านกายภาพจากการตรวจสอบที่ผ่านมาพบว่าสถานประกอบการบางแห่ง นำสำลีไปติดไว้บนเพดาน เพื่อสร้างบรรยากาศเป็นปุยเมฆ ซึ่งสำลีเมื่อติดไฟจะตกลงมาใส่ประชาชนทำให้เกิดอันตรายได้ เรื่องเหล่านี้เราได้ให้คำแนะนำไป ยิ่งใกล้ช่วงเทศกาลเราต้องเข้มมากขึ้น” พล.ต.อ.อดิศร์

ด้านนายณันทพงศ์ ผู้อำนวยการเขตราชเทวี กล่าวด้วยว่า สถานประกอบการในบริเวณนี้ ลักษณะจะเป็นร้านอาหารเป็นหลัก มีดนตรีประกอบ เป็นสถานประกอบการขนาดเล็กไม่ใหญ่มาก ไม่ซับซ้อนมากเหมือนที่เป็นข่าวไฟไหม้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาคารชั้นเดียว ติดกระจกใส มีทางเข้าออก ทางหนีไฟอยู่ด้านข้างหรือด้านหลัง หากสถานประกอบการยังดำเนินการไม่ถูกต้อง สำนักงานเขตจะกำหนดรายละเอียดในการแก้ไขให้สถานประกอบการทราบ และจะให้ระยะเวลาอย่างน้อยในการแก้ไขเบื้องต้น 7 วัน เช่น ไฟฉุกเฉิน ทางหนีไฟ ถังดับเพลิง ถ้าสิ่งไหนดำเนินการแก้ไขได้ยากก็จะให้เวลาในการแก้ไขเพิ่มขึ้นอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image