‘ทวิดา’ ค้าน หมอสำคัญกว่าพยาบาล ไม่จริง! แนะเน้นสื่อสาร ยกคำชัชชาติ ‘ฟังให้เยอะ’

‘ทวิดา’ ค้าน หมอสำคัญกว่าพยาบาล ไม่จริง! แนะคนทำคลินิกกายภาพ ต้องเน้นสื่อสาร ยกคำชัชชาติ ‘ฟังให้เยอะ แล้วตัดสินใจ’

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่ ห้องประชุมพิทยรักษ์ ชั้น 4 สำนักการแพทย์ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารการพยาบาล (ด้านการแพทย์) รุ่นที่ 16 โดยมี คณะผู้บริหารสำนักการแพทย์ และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักการแพทย์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี

ผศ.ดร.ทวิดา รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า จากนิทรรศการ “Smart People Smart Health Literacy” การนำเสนอรายงานรุ่น เรื่อง “การส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพของผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” เห็นว่าผลงานที่เสร็จแล้วคงไม่อยากให้อยู่นิ่งๆ อยากให้มองว่าความพยายามที่ผ่านมาเห็นผล หลักสูตรน่าจะพยายามพัฒนาให้ทุกคนเป็นบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นไฮบริด (Hybrid) ในตัวของตัวเอง ที่สามารถมองงานพัฒนาที่เป็นยุทธศาสตร์ สามารถสร้างงานต่อยอดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ประชาชนได้มากขึ้น ถ้าจะให้เติม มีอย่างเดียวในมุมมองของฐานะผู้รับบริการ คือความตั้งใจที่อยากจะทำให้ประชาชน

“ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพูดเสมอว่า ต้องไม่ทำให้ความ Smart มัน Out Smart ประชาชน ความกลัวจากความเจริญก้าวหน้า ความกลัวจากความ Smart จึงทำให้ประชาชนไม่กล้า และ Target ของทุกคนเฉพาะวันนี้คือผู้สูงอายุ ถ้าเป็นผู้สูงอายุความไม่กล้าต่อเทคโนโลยีมันเยอะ แนวความคิดสุดท้ายที่จะสร้างคลินิก อันนี้สนับสนุน เพราะรู้สึกว่า Human Touch และบางทีมันก็คือ Something Else มันคืออะไรบางอย่างที่มากเหนือกว่าการมา Reach หน้าประตูบ้าน บางครั้งถ้าคลินิกนี้ไม่ได้สนับสนุนเฉพาะบุคลากรกันเอง สามารถเดินไถ่ถามกันได้ก็เกิด Share Knowledge สังคมไทยไม่เน้นเรื่อง Design เพราะรู้สึกว่าเสียเวลา ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำชับว่า การตัดสินใจในฐานะผู้บริหารหรือฐานะอะไรก็ตาม ให้ฟังให้เยอะแล้วนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจ ผศ.ดร.ทวิดากล่าว และว่า

Advertisement

ดังนั้น อะไรคือความพอดีของกายภาพและการบริหารจัดการ ให้กายภาพเท่าที่มีอยู่สามารถใช้ได้ อยากให้หาให้เจอ เพราะคนที่ทำงานทุกวันจะหาเจอ โดยเฉพาะคนชอบคิดว่า หมอสำคัญกว่าพยาบาล อันนี้ไม่จริง คนเจอพยาบาลนานกว่าหมอ การพยายามทำคลินิกคือการพยายามเน้นเรื่อง Literacy ในทักษะของการสื่อสาร ดังนั้น ต่อให้ไม่พูดอะไรเลยแต่สีหน้าท่าทางก็สื่อสารตั้งแต่ต้น บุคลากรทางด้านการพยาบาลเป็นคนที่อยู่ใกล้กับประชาชนที่สุด หลักสูตรนี้มีประโยชน์กับทุกคนจากที่เห็นผลงาน Keep Learning แล้วก็ทำให้สิ่งที่เรียนรู้เป็นประโยชน์ในเชิงรูปธรรมให้ได้ ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นให้ได้ คิดว่าทุกคนคงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง เราสามารถเปลี่ยนมันได้และทำให้ดีขึ้นได้

ทั้งนี้ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร จัดการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารการพยาบาล (ด้านการแพทย์) รุ่นที่ 16 (บพ.16) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เพื่อพัฒนาสมรรถนะบุคลากร ทางการพยาบาลด้านการบริหาร ให้มีภาวะผู้นำ ทักษะการคิด วิเคราะห์ ความรู้ ความสามารถ และเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างเจตคติ วิสัยทัศน์ มุมมองเชิงยุทธศาสตร์ สามารถบริหารจัดการโดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรมทางการพยาบาลที่ทันสมัยมาประยุกต์ในการพัฒนาระบบการให้บริการพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สอดคล้อง เชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติราชการ นโยบายของส่วนราชการ และแผนของกรุงเทพมหานคร

Advertisement

โดยฝึกอบรมระหว่างวันที่ 17 พ.ค. – 11 ส.ค. 65 รวมจำนวน 57 วัน ผู้เข้ารับการฝึกอบรม รวมทั้งสิ้น 36 คน เป็นข้าราชการสายงานด้านการพยาบาล ระดับชำนาญการ – ชำนาญการพิเศษ สังกัดสำนักการแพทย์ 32 คน บุคลากรสายงานด้านการพยาบาล สังกัดมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล 2 คน และคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ 2 คน หลักสูตรการอบรม ประกอบด้วย ภาควิชาการ ภาคการสร้างเสริมภาวะผู้นำและการบริหารทางการพยาบาล ภาคเสริมสร้างประสบการณ์นักบริหาร ภาคการศึกษาดูงานและภาคการจัดทำรายงานการศึกษา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image