ชัชชาติ คุย ‘นายกสมาคมซาเล้ง’ ลุยภารกิจช่วยชาติ 3 แสนล้าน จ่อขึ้นทะเบียน เรียกความเชื่อมั่น ปชช.
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) พร้อมด้วย นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. และนายชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า เปิดเผยภายหลังการประชุมสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า เพื่อหารือแนวทางการจัดการมูลฝอยและข้อปัญหาต่างๆ
นายชัชชาติกล่าวว่า มูลค่าการซื้อขายของเก่าตกปีละ 300,000 ล้านบาท โดยซาเล้งมีภารกิจช่วยชาติอย่างมาก เพราะช่วยรีไซเคิลขยะโดยไม่ต้องเสียค่าจ้าง ซึ่งช่วยลดการเก็บขยะของ กทม.ด้วย เป็นประโยชน์ต่อการดูแลขยะของเมือง แต่ที่ผ่านมามีปัญหาคือ ร้านรับซื้อของเก่าไม่สามารถเปิดได้ เพราะติดปัญหากฎหมายผังเมือง
นายชัชชาติกล่าวว่า ทางสมาคมฯมีข้อเรียกร้องให้มีการขึ้นทะเบียนซาเล้ง จะได้มีประวัติเพื่อให้หมู่บ้านต่างๆ เปิดรับซาเล้งไปเก็บขยะตามบ้านต่างๆ ได้สะดวกใจ พร้อมสนับสนุนให้เครื่องชั่งน้ำหนัก ต่อมา ให้มีการกำหนดการรีไซเคิลให้เป็นมาตรฐานมากขึ้น, การใช้แอพพลิเคชั่นในการเรียกซาเล้งไปเก็บขยะ, ขยะกำพร้า คือขยะรีไซเคิลไม่ได้ ซึ่งอาจจะนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิง RDF, ต่อมาอาจจะเพิ่มวิชารีไซเคิล กับโรงเรียนในสังกัด กทม., กำหนดวันแยกขยะเปียกขยะแห้ง เพราะการทิ้งรวมในถังเดียวกันขยะรีไซเคิลจะกลายเป็นขยะเสีย, ขอให้มีการแจกเครื่องทำปุ๋ยหมักในราคาถูก รวมถึงส่งเสริมวัสดุรีไซเคิลในหน่วยงานของ กทม. และให้มีการตั้งร้านรับซื้อของเก่าที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า 100 ตารางเมตรขึ้นไป ในเขตผังเมืองที่ไม่สามารถตั้งโรงงาน
“เมื่อไม่มีร้านรับซื้อของเก่าในพื้นที่ ทำให้ซาเล้งต้องวิ่งไกลเพิ่มต้นทุนค่าน้ำมัน เมื่อเช้าไปเจอซาเล้งแถวถนนปรีดี พนมยงค์ เขาบอกว่าลำบาก ขายขยะได้แค่วันละ 300 กว่าบาท ค่าน้ำมันก็ไม่พอแล้ว จึงจำเป็นต้องมีร้านรับซื้อของเก่าแบบถูกกฎหมายกระจายหลายพื้นที่”
“ขยะในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังใช้วิธีฝั่งกลบเป็นหลัก ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายการบริหารขยะแพงมาก ถ้ามีแนวร่วมเปลี่ยนขยะให้เป็นรายได้ หรืออย่างน้อยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนอื่น ก็เป็นเรื่องดีของสังคม” นายชัชชาติกล่าว
ด้าน นายพรพรหมกล่าวเสริมว่า ประชาชนไม่เชื่อมั่นในการแยกขยะ เพราะคิดว่าแยกแล้วแต่พนักงานเก็บขยะก็เทรวมกันอยู่ดี ซึ่ง กทม.กำลังทำโครงการนำร่อง โดยแยกรถขยะที่เก็บเศษอาหารโดยเฉพาะ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน โดยเริ่มต้น 3 เขต ได้แก่ เขตปทุมวัน พญาไท และหนองแขม ในวันที่ 4 กันยายนนี้ โดยเริ่มจากเส้นทางนำร่อง และขยายเก็บทั้งเขตในต้นปี 2566
นายชัยยุทธิ์กล่าวอีกว่า ตามผังเมืองที่ไม่ใช่เขตอุตสาหกรรม สามารถตั้งร้านรับซื้อของเก่าได้ไม่เกิน 100 ตารางเมตร ซึ่งมีขนาดเล็กมาก เพื่อให้มีการแก้ไขจากจุดเริ่มต้น ให้มีการประกวดร้านรับซื้อของเก่า เช่น ไม่ตั้งกองขยะไว้หน้าร้าน ไม่อยู่บนทางเท้า มีการทำรั้วกั้น ทำป้ายให้ดูดี มีที่จอดรถ ไม่สร้างความรำคาญให้กับคนอื่น ต่อมาขอการอนุโลมให้ร้านตั้งเครื่องจักรอัดขวดพลาสติก 10 แรงม้า ส่วนขยะกำพร้า เป็นขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลต่อได้ โดยขอให้แต่ละเขตมีจุดรับขยะพวกนี้ เพื่อไปทำเป็นเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย (RDF) ต่อไปได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ปลัดกทม.ให้โอวาท ผอ.ใหม่ ‘ครองตน ครองคน ครองงาน’ เป็นตัวอย่างให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ทำงานสำเร็จตามเป้าหมาย
- กทม. ร่วม MBK ชวนประชาชนตรวจสุขภาพ ฟรี! ถวายเป็นพระราชกุศล 8-10 ต.ค. นี้
- กทม.-MEA ลงนาม ยกมาตรฐานเข้มก่อสร้างสายไฟใต้ดิน ลดกระทบทางสัญจร
- เขตวังทองหลางเตรียมยกเลิกแผงลอยรามคำแหง 39 แยก 1-3 แก้ปัญหาลักลอบทิ้งขยะอาคารร้างประดิษฐ์มนูธรรม 1