บทเรียน… คนดังขาดสติ และวิธี’จัดการ…โกรธ’

เป็นภาพสะท้อนซ้ำซากกรณีคนดังขาดสติจนเกิดความรุนแรง และยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอในโลกออนไลน์ จนกลายเป็นปรากฏการณ์บทลงโทษทางสังคม

อย่างรายล่าสุดกับวลีสุดฮิต “กราบรถกู” จากกรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ “น็อต เวคคลับ” หรือ อัครณัฐ อริยฤทธิ์วิกุล พิธีกรชื่อดัง ด่าทอและต่อยหน้า “บอย-กิตติศักดิ์ สิงโต” พนักงานคัดกรองเอกสาร สำนักงานสรรพากรพื้นที่ตลิ่งชัน หลายครั้งจนทำให้ “กิตติศักดิ์” จมูกหัก หน้าบวมปูด เหตุเพราะ “บอย” ขี่รถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนรถมินิคูเปอร์ คันทรีแมน ของน็อตจนไฟท้ายแตก และน็อตเข้าใจว่าคู่กรณีตั้งใจชนแล้วหนีจึงบันดาลโทสะ กลายเป็นเรื่องลุกลามใหญ่โต ก่อนถูกต้นสังกัดยกเลิกสัญญา และสถานีโทรทัศน์ระงับการออกอากาศรายการและละครที่ “น็อต” เป็นพิธีกรและนักแสดง

หากยังจำกันได้ กรณีทำนองเดียวกับน็อต เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง อาทิ เมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา “ดีเจเก่ง” หรือ ภัทรศักดิ์ เทียมประเสริฐ อดีตนักจัดรายการวิทยุคลื่น 89.5 สวีทเอฟเอ็ม ที่เป็นกระแสโด่งดังในโลกโซเชียล มีการแผยแพร่คลิปรถกระบะวีโก้สีดำ ถอยหลังชนรถเก๋งสีแดงอย่างแรง

เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ถูกมาตรการทางสังคมลงโทษ จนต้นสังกัดสั่งยุติการทำหน้าที่

Advertisement

คำถามที่ตามมาคือ มาตรการทางสังคมจากโลกโซเชียลเหมาะสมหรือไม่

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า คนที่มีความโกรธเกิดได้หลายสาเหตุ ทั้งความเครียดสะสม ทั้งปัจจัยอื่นๆ จนทำให้เกิดการแสดงออกที่แตกต่าง คนที่แสดงออกด้วยความรุนแรง ย่อมมาจากการไม่รู้จักจัดการความเครียดตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อมีอารมณ์โกรธก็ไม่สามารถจัดการความโกรธของตนเองได้ จึงกลายเป็นปัญหา

สิ่งสำคัญเราต้องเข้าใจว่าเมื่อมีการแสดงออกแบบนี้แล้ว การตำหนิ หรือการด่าทอ ก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก แม้การห้ามปรามจะเป็นเรื่องดีที่ทำให้บุคคลนั้นๆ ตระหนักและรับรู้ว่าไม่สมควรทำ แต่ก็ควรอยู่ในระดับที่พอดี โดยเฉพาะสื่อต่างๆ การหยิบมาเล่นข่าวก็เข้าใจได้ แต่ควรนำเสนอทางออก และการป้องกันปัญหา โดยเฉพาะการควบคุมอารมณ์ด้วยก็จะดียิ่งขึ้น

Advertisement

“การด่าทอ ต่อว่าด้วยคำพูดแรงๆ และยิ่งส่งต่อกันไปอีก ก็เหมือนเป็นการส่งต่อความรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง คนที่ส่งต่อสิ่งเหล่านี้ก็สะสมความเครียด ความรุนแรงไม่รู้ตัว สิ่งสำคัญต้องเอาบทเรียนที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เหล่านี้มาพิจารณาว่าจะหาทางป้องกันอย่างไร ซึ่งวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือจากตัวเอง ต้องรู้จักจัดการกับความโกรธนั่นเอง หรือจะรับคำปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ก็ได้” น.ต.นพ.บุญเรืองชี้แนะ

จะจัดกับการความโกรธอย่างไร…นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต แนะนำว่า ก่อนอื่นต้องสังเกตอาการตัวเองก่อน อย่างคนที่มีความเครียดสะสมมานาน คนเหล่านี้ไม่รู้ตัว เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งมาปะทะ ก็อาจเป็นการจุดระเบิดให้อารมณ์โกรธพุ่งขึ้นมาจนยากจะยับยั้ง ซึ่งจริงๆ หากรู้จักจัดการอารมณ์ตัวเองได้ตั้งแต่แรก ก็จะทำให้มีสติได้มากกว่าคนที่ไม่รู้จักจัดการอารมณ์ตัวเอง

ดังนั้น ต้องเริ่มจากสังเกตอาการตัวเองก่อนว่า 1.มีอาการออกทางกาย อย่างการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ 2.อาการทางใจ มีจิตใจว้าวุ่น ไม่มีสมาธิ ลืมง่าย และ 3.เป็นคนโมโหง่าย หงุดหงิดง่าย เจอเรื่องอะไรเล็กน้อยก็หงุดหงิด โมโห หากมีปัจจัยเหล่านี้ถือว่ามีความเครียดสะสม ต้องรีบหาวิธีจัดการ

“วิถีประชา” เป็นวิธีปฏิบัติที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เริ่มจากการออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นการระบายความเครียดได้ทางหนึ่ง ขณะเดียวกันการฝึกสมาธิ ซึ่งไม่เพียงแค่สวดมนต์ ไหว้พระ แต่ยังรวมถึงการฝึกโยคะ หรือการรำไท้เก๊กก็ช่วยได้ เพียงแต่เราไม่สนใจ และหันไปทำกิจกรรมคลายเครียดอื่นๆ แทน ทั้งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดูหนัง ฟังเพลง สิ่งเหล่านี้เป็นแค่หลีกหนีชั่วคราวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับบางคนวิธีเหล่านี้อาจใช้ไม่ได้ผล ต้องพึ่งพานักจิตวิทยา ซึ่งจะมีแนวทางฝึกฝน หรือการบำบัดความเครียด ความโกรธ จะมีทั้ง 1.การฝึกการหายใจคลายเครียด 2.การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ 3.สมาธิคลายเครียด และ 4.ฝึกจินตนาการคลายเครียด สิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการฝึกจากผู้ที่ผ่านการอบรม

ต้องถึงขั้นเข้าคอร์สจัดการความโกรธ หรือที่เรียกว่า Anger Management เหมือนในต่างประเทศหรือไม่… “นพ.ยงยุทธ” บอกว่า การจัดการความโกรธจะใช้ในกรณีที่เราไม่สามารถจัดการหรือควบคุมอารมณ์ตัวเองได้เลย อย่างคนที่ไม่เคยโกรธง่าย ก็โกรธอย่างรุนแรง บำบัดอาการเบื้องต้นก็ไม่อยู่ หรือคนที่มีความโกรธเป็นเจ้าเรือน ไม่ถูกใจก็โกรธทันที ซึ่งการจัดการความโกรธมีหลายวิธี ทั้งการดูการเต้นหัวใจก่อน สำรวจว่าความโกรธรุนแรงระดับไหน และฝึกวิธีหยุดอารมณ์โกรธ ฝึกการควบคุมอารมณ์
เป็นต้น

“เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ต้องบอกตัวเองว่า ‘ฉันโกรธแล้วนะ’ เพื่อให้รู้ตัวเองตั้งแต่เริ่มโกรธ จะช่วยให้เราหยุดยั้งพฤติกรรมรุนแรงที่จะตามมาหลังความโกรธได้ เมื่อรู้ตัวว่าเริ่มโกรธแล้ว ให้หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆ ตั้งสติอยู่กับลมหายใจแบบนี้สักพักหนึ่ง หรือให้นับ 1-10 หรือ 1-50 ก็จะช่วยลดความโกรธได้” นพ.ยงยุทธแนะนำ

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ให้ความเห็นเสริมว่า สิ่งสำคัญคือเราเรียนรู้อะไรจากปรากฏการณ์ดังกล่าว แน่นอนว่าความเครียดเกิดขึ้นในสังคม ทั้งผู้ถูกกระทำ และผู้กระทำ รวมไปถึงผู้เสพข่าว ไม่มากก็น้อย ดังนั้นต้องป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น กล่าวคือ ต้องรู้วิธีจัดการความโกรธ จริงๆ มีหลักง่ายๆ แค่ 3 ข้อ หากทำให้เป็นนิสัยก็จะลดภาวะความฉุนเฉียวก้าวร้าวลงได้ คือ 1.ต้องรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง 2.ควบคุมให้ได้ และ 3.หาทางระบายออกอย่างเหมาะสม

เมื่อมีความโกรธ เราต้องรู้จักสงบสติอารมณ์ นับเลข สูดหายใจลึกๆ และหาทางระบายออก โดยการพูดให้คนที่พร้อมรับฟัง ดีที่สุดคือพูดคุยกับผู้ที่รับฟังและแนะนำทางออกได้ ไม่ใช่ว่าต้องไปหาจิตแพทย์อย่างเดียว แต่ก็สามารถโทรปรึกษาที่สายด่วน 1323 กรมสุขภาพจิต

แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก อย่างอีคิว (Emotional Intelligence : E.Q.) ความฉลาดทางอารมณ์ซึ่งเป็นการพัฒนาของสมองส่วนหน้า โดยปกติจะมีการพัฒนาไปตามระยะเวลาอยู่แล้ว อย่างเด็ก 1 ขวบเวลาหิว ก็จะร้องไห้เสียงดัง แต่พออายุ 3 ขวบก็ร้องงอแงบ้าง แต่ก็พอพูดได้ ก็จะร้องบอกแม่ ไม่ร้องไห้มากเหมือนขวบแรก

สิ่งเหล่านี้เป็นการพัฒนาของอารมณ์ แต่เราก็ต้องช่วยพัฒนาด้วย อย่างพี่น้องทะเลาะกัน ทำร้ายกัน ก็ต้องสอนว่าไม่ควรทำ ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการสอนการแสดงออก การควบคุมอารมณ์ ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่เด็กๆ ให้รู้จักการควบคุมอารมณ์ การแสดงออกที่เหมาะสม เมื่อเกิดเหตุการณ์ปะทะ ก็จะควบคุมตัวเองอย่างมีสตินั่นเอง

เป็นคำแนะนำ “จัดการความโกรธ” จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะช่วยให้สังคมลดความรุนแรงลง

ทั้งจากการลงมือทำร้ายร่างกายกัน และความรุนแรงทางจิตใจที่โดนรุมด่าประณาม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image