จะอะไรกันนักหนา กะอีแค่โลกเราร้อนขึ้น 1 องศา 2 องศา

จะอะไรกันนักหนา กะอีแค่โลกเราร้อนขึ้น 1 องศา 2 องศา

ประโยคข้างบนนี้คิดว่าหลายคนคงเคยได้ยิน คนที่พูดแบบนี้เขาอ้างเหตุผลของเขาว่า สมมติว่าเราไปมีภารกิจอยู่ที่อลาสก้า ซึ่งในเดือนเมษายนอุณหภูมิที่นั่นอยู่ที่แค่ 0 องศา (°C) หรือไม่ก็ติดลบประมาณ 1-2 องศา และเมื่อภารกิจของเราเสร็จเราก็นั่งเครื่องบินกลับมากรุงเทพฯ ซึ่งอุณหภูมิของวันเดียวกันนั้นอยู่ที่ประมาณ 30-38 องศา ต่างกันถึงเกือบ 40 องศา แต่เราก็ไม่ตาย อย่างมากสุดก็แค่รู้สึกอึดอัด ไม่สบายเนื้อสบายตัว ดังนั้นกับอีแค่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไปเพียง 1 องศา 2 องศา ซึ่งต่างจาก 40 องศาที่ว่านั้นมหาศาล เราจะไปเดือดร้อนกับมันทำไมมากมายนัก ทว่านี่เป็นความเข้าใจผิดของเขา ซึ่งสักครู่เราจะอธิบายให้ฟังว่าเขาเข้าใจผิดอย่างไร แต่ตอนนี้ขอพูดถึงคำศัพท์คำหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจไขว้เขว และพาลไปเข้าใจตามคนกลุ่มข้างต้นที่เพิ่งพูดถึงมา คำนั้นคือคำว่า “โลกร้อน”

 

โลกร้อน…ศัพท์ที่บัญญัติผิด

เมื่อเราใช้คำว่าโลกร้อน นั่นย่อมหมายความว่าอุณหภูมิของโลกมันต้องสูงๆ และอากาศมันต้องร้อนถึงร้อนมากแบบกลางเดือนเมษายนที่เราได้ประสบกันมาทุกปีนั้นแหละ แต่เราคงจำกันได้ว่าในช่วงต้นเดือนเมษายนของปี 2565 นั้น จู่ๆอุณหภูมิของประเทศไทยก็ลดลงเหลือประมาณ 24-27 องศาอยู่ถึงสองสามวัน หรืออีกเหตุการณ์หนึ่งเมื่อเดือนมกราคม 2565 เกิดพายุหิมะถล่มเมืองทางภาคตะวันออกของสหรัฐ หิมะตกหนาถึง 300 มม. ต้องยกเลิกเที่ยวบินไปถึง 4,800 เที่ยว คนกลุ่มนี้ก็จะยกประเด็นขึ้นมาทันที่ว่า ไหนว่าโลกร้อนไง เห็นๆอยู่ว่าไม่ร้อนสักหน่อย หนาวจะตาย

Advertisement

คำว่า “โลกร้อน” นี้จะว่าไปแล้วในทางวิทยาศาสตร์ไม่ควรใช้เลย เพราะมันแปลว่า hot earth ซึ่งไม่มีอยู่จริง และคำว่าโลกร้อนนี้จริงๆแล้วมันเอามาอย่างผิดๆจากคำภาษาอังกฤษ “global warming” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “การอุ่นโลก” ซึ่งก็มีความหมายตรงตัวอีกเช่นกันว่าโลกเรามีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นเล็กน้อย และเราจะอุ่นขึ้นนิดหน่อยเท่านั้น ไม่ใช่โลกร้อนจนเดือดอะไรทั้งสิ้น

 

 

Advertisement

 

ยุคโฮโลซีนและการที่โลกอุ่นขึ้น 1 องศา

แต่เรื่องมันไม่ง่ายและตรงไปตรงมาทื่อๆแบบนั้น เพราะการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นไปเพียง 1 องศานั้นแหละมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งชีวิตมนุษย์และสัตว์ได้อย่างมากมาย จนแทบจะคาดเดาไม่ได้เลย ดังที่เรากำลังจะอธิบายให้ฟังอยู่เดี๋ยวนี้ แรกเริ่มเลยขอย้อนเวลากลับไปประมาณหนึ่งแสนปี  ซึ่งในช่วง 1 แสนถึงประมาณ 9 หมื่นปีก่อนถึงปัจจุบันนั้นเป็นยุคที่เราเรียกว่า “ยุคน้ำแข็ง” และอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกแกว่งขึ้นลงอย่างมาก (ดูรูปที่ 1, ตัวเลขอายุโลก 100 ปีในหน่วยพันปี คือ 100×1000 = 100,000 ปี) รวมทั้งแตกต่างกันได้ถึงลบ 20 องศาในช่วงเวลาเพียงแค่ประมาณหนึ่งร้อยถึงสามร้อยปี และเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นวัฏจักร การที่อุณหภูมิโลกเฉลี่ยติดลบและแปรผันมากมายมหาศาลเช่นนั้นทำให้สัตว์ พืช และสิ่งมีชีวิตอื่นๆส่วนใหญ่ปรับตัวตามไม่ทัน และมีเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในยุคน้ำแข็งนั้น

รูปที่ 1 อุณหภูมิของโลกยุคน้ำแข็งเมื่อแสนปีที่แล้ว มาจนถึงยุค Holocene ในช่วงประมาณหมื่นปีเศษจนมาถึงปัจจุบัน

 

แต่เมื่อประมาณ​ 10,000 ปี ถึง 12,000 ปี ก่อนถึงยุคปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเริ่มค่อนข้างคงที่ คือไม่แกว่งมาก(ดูทางขวาของรูปที่ 1) เมื่อเป็นเช่นนี้ พืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์ก็ปรับตัวได้ง่ายและสามารถสืบพันธุ์แพร่พันธุ์กันได้อย่างราบรื่น รวมทั้งมีความหลากหลายทางสายพันธุ์มากกว่าเดิม แต่ทั้งนี้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็ต้องปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศนั้นๆด้วย เช่น หมีขาวย่อมอยู่ที่ขั้วโลก หมีควายย่อมอยู่ที่ป่าเขตร้อน ข้าวต้องปลูกที่พื้นที่น้ำแยะในเขตร้อน เอสกิโมต้องไม่ปลูกพืชผลไม้ ดังนี้เป็นต้น อย่างไรก็ตามคงต้องกล่าวย้ำกันให้ชัดเจนอีกครั้งว่า เรากำลังพูดถึงเฉพาะอุณหภูมิเฉลี่ย ไม่ใช่อุณหภูมิต่ำสุดหรือสูงสุดของปี ซึ่งแน่นอนที่ในแต่ละช่วงปีหนึ่งๆ ย่อมมีหน้าหนาวและหน้าร้อนแบบที่เราเคยชินกันอยู่ในปัจจุบัน ทว่าความแกว่งหรือเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงนี้ต่ำกว่าในช่วงยุคน้ำแข็งอย่างมาก

รูปที่ 2 อุณหภูมิโลก (เฉลี่ย) ตั้งแต่หมดยุคน้ำแข็ง

อ้างอิง: Prof. Stefan Rahmstorf (@rahmstord)

 

รูปที่ 2 เป็นการขยายให้เห็นชัดเจนขึ้นสำหรับช่วงประมาณ 2 หมื่นปีถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเมื่อประมาณ 2 หมื่นปีก่อน โลกยังอยู่ในยุคน้ำแข็ง แต่ก็เป็นปลายของยุคแล้ว อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ในระดับ -3 องศา (°C) แต่เมื่อขยับมาจนถึงประมาณ 9,000 ปีก่อนปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะลดลง คือแตกต่างกันเหลือเพียงประมาณ 0.5 องศา ยิ่งถ้าดูไปในช่วงสั้นๆเช่นเป็นร้อยปี อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะถือว่าเป็นค่าคงที่เลยก็ว่าได้ ยุคช่วงประมาณหมื่นปีเศษก่อนถึงปีปัจจุบันนี้มีชื่อเรียกว่า ยุคโฮโลซีน (Holocene, ดูรูปที่ 2) ทีนี้ก็มาถึงปัญหา ถ้าเราสังเกตไปทางขวาสุดของรูป จะเห็นได้ว่าโลกเราเฉลี่ยอุ่นขึ้นถึง +1 องศา (°C) ในเวลาไม่ถึงร้อยปี ซึ่งหากเทียบกับเวลาเป็นหมื่นๆปีข้างต้นแล้ว หนึ่งร้อยปีนี้สั้นมาก และนี่แหละที่จะเป็นคำอธิบายให้เห็นถึงปัญหาที่จะตามมา

 

รูปที่ 3 การแปรผันของอุณหภูมิในช่วงโฮโลซีน

อ้างอิง: Wikimedia commons

 

 

รูปที่ 4 ค่าเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกในช่วงปี ค.ศ.1850 ถึง 2020

อ้างอิง: Wikipedia

 

รูปที่ 3 คล้ายกับรูปที่ 2 เพียงแต่เน้นให้เห็นเฉพาะช่วงโฮโลซีนที่อุณหภูมิค่อนข้างคงที่ก่อนที่จะมาเพิ่ม +1 องศาในช่วงไม่ถึง 100 ปีอย่างที่ได้กล่าวมา  และแสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของตัวเลขหรือข้อมูล เพราะมีการศึกษาจากนักวิทยาศาสตร์หลายคนซึ่งต่างก็ได้ผลสรุปออกมาคล้ายกัน แม้เส้นอุณหภูมิของช่วงปีเหล่านั้นจะไม่ทับกันเป็นเส้นเดียวกันก็ตาม ส่วนรูปที่ 4 เป็นผลการศึกษาของนักวิจัยหลายคนเช่นกัน แต่เนื่องจากเป็นการศึกษาย้อนหลังไปไม่นานนัก เพียงแค่ประมาณ 175 ปี ตัวเลขจึงหาได้แม่นยำกว่า เส้นกราฟจึงออกจะทับกันมากกว่าในรูปที่ 2 ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันข้อสรุปดังกล่าวว่าเชื่อถือได้มากขึ้น และในรูปนี้เราจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ปีค.ศ.ประมาณ 1975 เป็นต้นมา โลกเราได้อุ่นขึ้นแล้วถึง 1 องศา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเพียงแค่ 2025-1975 หรือเพียง 50 ปีเท่านั้น นับว่าเป็นการเพิ่มอุณหภูมิของโลกอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ ไม่ใช่สิ! ต้องพูดว่ารวดเร็วจน“ต้อง”ตกใจ จึงจะถูกต้องกว่า ส่วนรูปที่ 5 เป็นตัวเลขของอุณหภูมิที่ทำการวัดที่สองแหล่งคือที่ผิวโลกและที่ดาวเทียม ซึ่งก็ได้ผลที่เทียบเคียงกันได้ และเป็นข้อมูลที่ยืนยันอยู่เช่นเดิมว่าโลกเราได้ถูกอุ่นขึ้น (global warming) อย่างรวดเร็วเกินไปแล้ว

 

รูปที่ 5 อุณหภูมิที่พื้นผิวโลกและที่ดาวเทียม

อ้างอิง: Wikimedia Commons

 

อะไรทำให้เกิดการอุ่นโลกอย่างรวดเร็วเกินไป

ทีนี้ก็มาถึงคำถามว่าแล้วอุณหภูมิโลกเราเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ได้อย่างไร คำตอบสำหรับคำถามนี้อยู่ในรูปที่ 6 และ 7 คือ เราพบว่าในขณะที่โลกเรามีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นประมาณ 1 องศา (°C) ในระยะเวลาสั้นๆนี้นั้น ค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์​ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) และก๊าซไนตรัสออกไซด์​(N2O) ก็สูงตามติดมาอย่างแยกกันไม่ออก นักวิทยาศาสตร์จึงได้เห็นพ้องกันและพากันร่วมสรุปว่าก๊าซพวกนี้แหละที่เป็นตัวการทำให้โลกเรามีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นทุกปีๆ ก๊าซสามชนิดนี้มีชื่อเรียกรวมๆว่าอะไรหลายคนคงทราบดีอยู่แล้ว มันคือ GHGs หรือ Greenhouse Gases หรือก๊าซเรือนกระจกนั่นเอง

รูปที่ 6 อุณหภูมิและ CO2 ใน 1 พันปีที่ผ่านมา

อ้างอิง: Environmental Defense Fund และ Climate 411 blog

 

รูปที่ 7 ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก (GHGs) จากค.ศ.0 – 2000

อ้างอิง: http://gcmd.nasa.gov/records/GCMD_WMO_Concentrations_greenhouse_gases0-2005.html

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่น่าสะพึงกลัว       

ในบทความนี้จะขอไม่พูดถึงว่า GHGs นี้ทำให้โลกอุ่นขึ้นด้วยกระบวนการใด เพราะหลักการนี้หาได้ทั่วไปในอินเตอร์เน็ต แต่อยากจะบอกเพิ่มว่าจากการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในช่วงโฮโลซีนค่อนข้างนิ่งมาเป็นเวลานานจนสรรพสิ่งมีชีวิตทั้งหลายอยู่ได้อย่างสบายจนเคยชินแล้วและไม่ต้องปรับตัวมากนัก จนมาเกิดภาวะที่โลกอุ่นขึ้นเฉลี่ยถึง 1 องศาในเวลาเพียงแค่ 50 ปี นั่นมันเป็นวิกฤติการณ์ของโลกแล้ว เพราะการที่อุณหภูมิสูงขึ้นไม่มากแต่ด้วยในระยะเวลาที่สั้นเกินนี้แหละที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change” อันมีผลสืบเนื่องทำให้ธรรมชาติเสียดุลยภาพและทำให้เกิดอาเพศไปต่างๆนานา ซึ่งเราจะขอยกตัวอย่างมาให้ดูบ้างพอเป็นสังเขป เช่น อากาศในบางพื้นที่เมื่อร้อนก็ร้อนเกิน ในขณะที่บางที่ไปในทางตรงข้าม คือเมื่อหนาวก็หนาวผิดปกติ หรือฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาลที่ควรเป็น เกิดพายุฝน น้ำท่วมใหญ่ เกิดหิมะถล่ม เกิดภาวะแห้งแล้งจนทะเลทรายขยายอาณาเขตไปมากขึ้น เกิดโรคอุบัติใหม่ที่มนุษย์ไม่เคยรู้จักและยังไม่มีวิธีรักษา เกิดไฟไหม้ป่าได้มากกว่าและรุนแรงกว่าที่เคยเป็นหรือมีมา ทำให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์เปลี่ยนไป ซึ่งทำให้ความเสี่ยงที่สัตว์จะสูญพันธุ์มีมากขึ้น ทำให้การเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์มาเป็นอาหารทำได้ยากขึ้น จนอาจเกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงในบางพื้นที่บางประเทศ ที่ปรากฏให้เห็นเป็นเชิงประจักษ์ก็มีไม่น้อย เช่น เมือง Ain Sefra ในทะเลทรายซาฮารามีหิมะตกบ่อยมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีหิมะตกที่นี่แล้วประมาณ 5 ครั้งในรอบ 42 ปีที่ผ่านมา หรือ เหตุการณ์พายุลูกเห็บถล่มอ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอนเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ทำให้หมู่บ้านบนยอดดอยขาวโพลนเหมือนกับมีหิมะตกลงมา หรือเหตุการณ์ที่หมู่บ้านลิททัน (Lytton) ในเขตบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ที่ต้องเผชิญหน้ากับคลื่นความร้อนอย่างหนักในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 โดยมีอุณหภูมิสูงเกือบ 50 องศาเซลเซียส อันเป็นสถิติอุณหภูมิที่สูงที่สุดในรอบกว่า 80 ปี

เหตุการณ์วิปริต อาเพศ ไปจนถึงวิกฤติเหล่านี้ในอนาคตอาจจะก่อให้เกิดความล่มสลายทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมของทุกประเทศอย่างไม่มีใครจะคาดเดาได้ และนี่แหละที่เป็นคำอธิบายว่าทำไมเราต้องเดือดร้อนเมื่อโลกอุ่นเฉลี่ยขึ้นเพียง 1 องศา (°C) ในเวลา 50 ปี และกำลังจะอุ่นขึ้นไปอีกหากพลโลกยังไม่มีมาตรการที่ดีพอที่จะมาหยุดมัน

 

โลกรวน…อีกคำศัพท์ที่ไม่ควรใช้

ก่อนจบขอแถมเรื่องเบาๆที่อาจมีผลต่อการตีความในภาษาอีกสักเรื่อง นั่นคือ ขณะนี้มีกลุ่มคนรวมถึงองค์กรของรัฐบางแห่งได้ใช้และพยายามให้คนอื่นใช้คำว่า “โลกรวน” สำหรับคำว่า climate change ซึ่งนี่ก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้นในโลก เพราะการที่โลกจะรวนนั้น มันไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเดียว ความขัดแย้งทางการเมืองระดับโลก ความขัดแย้งทางการทหาร ความเหลื่อมล้ำและสงครามทางเศรษฐกิจระดับนานาชาติ การแก่งแย่งกันใช้ทรัพยากร การเสื่อมถอยทางศีลธรรม โควิด-19 สังคมสูงวัย คริปโตเคอร์เรนซี จักรวาลนฤมิต (metaverse) ฯลฯ ล้วนแต่สามารถทำให้โลกนี้รวนได้ทั้งสิ้น ฉะนั้นจึงต้องไม่ใช้คำนี้ให้ประชาชน รวมไปถึงนักวิชาการ นักการเมือง นักบริหารบ้านเมือง สับสนกับความหมายของมัน เหมือนกับที่ได้สับสนกันมาแล้วกับคำว่า “โลกร้อน”  ดังในอดีตที่ผ่านมา

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image