‘คลัง’ ชี้ กทม.มีอำนาจ พิจารณาเก็บภาษีที่ดินเพิ่ม แลนด์ลอร์ด ทำเกษตรในที่ดินใจกลางเมือง

‘คลัง’ ชี้ กทม.มีอำนาจ พิจารณาเก็บภาษีที่ดินเพิ่ม แลนด์ลอร์ด ทำเกษตรในที่ดินใจกลางเมือง

เมื่อวันที่ 15 กันยายน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่กรุงเทพมหานคร ขอหารือกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในกรณีที่มีการปลูกพืชการเกษตรในที่รกร้างว่างเปล่าใจกลางเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีว่า คณะอนุกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้มีการประชุมร่วมกับกรุงเทพมหานครในกรณีดังกล่าวแล้ว แต่ตนยังไม่เห็นรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

“คณะอนุกรรมการดังกล่าว จะต้องส่งคำวินิจฉัยมาให้ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งผมในฐานะปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อหาข้อสรุป อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวยังไม่ได้เสนอเรื่องมาให้พิจารณา”นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวว่า ในหลักการของการจัดเก็บภาษีดังกล่าวนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละท้องถิ่นเอง หากพบว่า มีการปลูกพืชการเกษตรเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ก็สามารถจัดเก็บภาษีได้ โดยในหลักการต้องดูที่เจตนาด้วย แม้ว่า จะมีการปลูกพืชเกษตรในที่รกร้างว่างเปล่า ถ้าหากเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี ทางท้องถิ่นก็ต้องใช้ดุลพินิจในการพิจารณาว่า จะมีการจัดเก็บภาษีหรือไม่

นายกฤษฎา กล่าวว่า อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีที่รกร้างว่างเปล่า ก็เพราะต้องการให้เกิดการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์มากขึ้น หากการปลูกพืชเกษตรตามข้อกำหนดของกฎหมาย ก็ถือว่า มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นๆอย่างถูกต้อง

Advertisement

“ทั้งนี้ ตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจัดเก็บภาษีที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรในอัตราที่สูงกว่าที่ดินประเภทอื่นๆนั้น ก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งหากเป็นที่ดินรกร้างไม่ว่าอยู่ที่ใดในประเทศ แล้วเจ้าของที่ดินนำที่ดินแปลงนั้นไปทำการเกษตร ตามข้อกำหนดว่า จะต้องมีต้นไม้ในพื้นที่กี่ต้นต่อไร่ หากเป็นไปตามข้อกำหนดที่กฎหมาย กำหนด ก็ต้องถือว่าที่ดินแปลงนั้นได้ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรจริง”

นายกฤษฎา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้กำหนดอัตราภาษีสูงสุด ที่จะให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษีตัวนี้ ตามประเภทที่ดินดังนี้ คือ ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อัตราเพดานอยู่ที่ 0.15 %ของมูลค่าที่ดิน ,ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย เพดานอยู่ที่ 0.3%ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินประเภทอื่นนอกเหนือจากเกษตรกรรม และที่อยู่อาศัย เช่น ที่ดินที่ใช้ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม รวมถึงที่ดินรกร้างว่างเปล่า มีเพดานอยู่ที่ 1.2% เป็นต้น

นายกฤษฎา กล่าวว่า โดยคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะกำหนดอัตราภาษีแนะนำ แต่ละประเภทที่ดิน ให้เป็นแนวทางให้ท้องถิ่นจัดเก็บ ซึ่งท้องถิ่นสามารถจัดเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราแนะนำ หรือสูงกว่าก็ได้ แต่ต้องไม่เกินเพดานที่กำหนด ส่วนกรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพนั้น กฎหมาย ยังกำหนดอีกว่า หากที่ดินแปลงใดปล่อยไว้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า และถูกเสียภาษีในอัตราที่รกร้างว่างเปล่าแล้ว ยังไม่ได้นำที่ดินแปลงนั้นมาใช้ประโยชน์ ยังคงปล่อยไว้ให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่านั้น ในทุก 3 ปี จะปรับอัตราภาษีเพิ่มอีก 0.3% หากไม่ได้ทำประโยชน์อะไรอีก ก็จะปรับขึ้นภาษีไปเรื่อยๆ แต่สูงสุดจะต้องไม่เกิน 3%ของราคาประเมิน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image