‘ชัชชาติ’ เชื่อคุ้มลงทุนสุด เซ็น MOU ‘กทม.-กสศ.’ รั้งเด็กด้อยโอกาส กว่า 9,000 หลุดระบบการศึกษา

‘ชัชชาติ’ เชื่อคุ้มลงทุนสุด เซ็น MOU ‘กทม.-กสศ.’ รั้งเด็กด้อยโอกาส กว่า 9,000 หลุดระบบการศึกษา

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 20 ตุลาคม ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างกรุงเทพมหานคร และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อดำเนินการพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ ด้อยโอกาส และการพัฒนาคุณภาพครู สถานศึกษา

สำหรับการลงนามครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมปาฐกถาพิเศษ โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม ประกอบด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

ADVERTISMENT

นายชัชชาติ กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ในโอกาสร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ กสศ. ว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ หลายคนคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของ กทม. แต่เป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ แต่จริงๆ แล้ว กทม.ดูแลเด็กปฐมศึกษาจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กวัยปฐมศึกษาทั้งหมดของ กทม. ซึ่งเด็กวัยนี้สิ่งสำคัญคือ การพัฒนาการยาก และการพัฒนาการในที่นี้อาจหมายถึงการดูแลตั้งแต่ 9 เดือน จนถึงวัย 6 ขวบ และหากเด็กกลุ่มนี้มีพัฒนาการที่ไม่ดีหรือหลุดจากระบบการศึกษา จะกลับคืนได้ยาก

ADVERTISMENT

“หน้าที่หลักของ กทม.คือการดูแลการศึกษาให้ไม่แพ้เรื่องของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ในเรื่องของพันธะสัญญาของสังคม หรือ Social Contract โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาและสาธารณสุข เป็นเรื่องสำคัญที่ กทม.ต้องดูแล และเป็นพันธะสัญญาที่เราต้องดูแลให้ประชาชนทุกคนได้รับความเท่าเทียมกัน ทั้งทางด้านการศึกษาและสาธารณสุข เงินลงทุนที่เราให้เด็กในวันนี้ คือการลงทุนให้เมืองและประเทศในอนาคต เพราะหากเด็กมีศักยภาพที่ดีได้ ในอนาคตเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ที่สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ จ่ายภาษีให้เมืองและดูแลด้านอื่นๆ ต่อไป” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุน กสศ. จะเป็นการลงทุนที่ได้ผลคุ้มค่ามากที่กว่าการลงทุนใดที่เคยมีมา เป็นผลตอบแทนที่มหาศาลมากกว่าตัวเงิน ซึ่ง กทม.ควรร่วมกับกองทุน กสศ. มานานแล้ว เพราะ กทม. น่าจะมีเด็กขาดโอกาสมากที่สุด เนื่องจากเราเป็นศูนย์รวมของเมืองที่มีอาชีพที่หลากหลาย และมีเด็กที่หลุดจากระบบมากมายแต่เรามองไม่เห็น ถือเป็นโอกาสดีที่เราได้มีการสำรวจเด็กกลุ่มนี้ว่ามีมากถึง 9,000 คน การเข้ามาดูแลเด็กกลุ่มนี้ของกองทุน ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่จะไม่ใช่การมีประโยชน์กับเด็กและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์กับเมืองและประเทศ เนื่องจากเราจะมีบุคลากรที่มีคุณภาพ และเป็นส่วนที่เข้มแข็งในการพัฒนาเมืองและประเทศต่อไป

 

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และกรุงเทพมหานครครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์ในการจัดตั้ง กสศ. ในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ให้ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับและเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาอย่างเสมอภาคและทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู ตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 5 ตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 ซึ่งกำหนดให้กองทุนดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความยั่งยืน โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระยะเวลา 3 ปีฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ 5 ประการที่สำคัญ ได้แก่

1. สนับสนุนนวัตกรรมการคัดกรองความยากจน การจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข และระบบการติดตามของสถานศึกษาสังกัด กทม. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และให้การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ นักเรียนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ที่สอดคล้องกับความถนัดและพัฒนาตนเองตามศักยภาพเป็นรายบุคคล

2. ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ นักเรียนพิการหรือด้อยโอกาสให้ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นตามศักยภาพ

3.สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาครู และสถานศึกษาสังกัด กทม. ที่สอดคล้องกับความต้องการและส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของนักเรียน

4.บูรณาการฐานข้อมูลการความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ

5.สนับสนุนให้เกิดความร่วมมืออื่นใดที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือ ส่งเสริมนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ นักเรียนพิการ และด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของครูของสถานศึกษาสังกัด กทม.

ดร.ไกรยสกล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้ความร่วมมือนี้ กสศ. และ กทม. จะร่วมกับสำนักการศึกษา สำนักงานเขต และสถานศึกษาสังกัด กทม. ในการร่วมกันวิจัยพัฒนานวัตกรรมต้นแบบระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กเยาวชนในสถานศึกษาสังกัด กทม. ซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาฐานและเชื่อมโยงฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศของ กทม. และ กสศ. รวมทั้งการจัดทำแนวทางการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือและส่งต่อโอกาสสำหรับเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ และด้อยโอกาส ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาระดับที่สูงกว่าภาคบังคับทั้งในและนอกระบบการศึกษาให้ได้รับการศึกษาหรือพัฒนา หรือเพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ หรือการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ผ่านพ้นจากสถานการณ์หรือวิกฤตต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นต้น

โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จะสนับสนุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำแก่กลุ่มเป้าหมายใน กทม. 3 กลุ่มสำคัญ ได้แก่

1. นักเรียนในสถานศึกษาสังกัด กทม. กสศ. จะสนับสนุนเครื่องมือการคัดกรองข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ และเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขให้แก่นักเรียนทุนมอภาคในสถานศึกษาสังกัด กทม. ตามระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอน

2. เด็กเยาวชนวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในพื้นที่ กทม. กสศ. จะสนับสนุนกลไกการให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษาในสถานศึกษาสังกัด กทม. ตามระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนของ กสศ. เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติทางการศึกษา หรือได้รับการศึกษาตามศักยภาพหรือบริบทของตนเองต่อไป

3. ครู และสถานศึกษาสังกัด กทม. กสศ. จะสนับสนุนการพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาในสถานศึกษาสังกัด กทม. ต้นแบบทั้ง 50 เขต เพื่อสนับสนุนการขยายผลยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาสังกัด กทม.

นอกจากนั้น กสศ. และองค์กรภาคีทั้งในประเทศ และต่างประเทศจะร่วมสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ นวัตกรรมการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การติดตามผลการดำเนินงานตามความร่วมมือนี้ รวมทั้งการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image