ที่มา | สกู้ปข่าวหน้า1 มติชน 27 ตุลาคม 2565 |
---|
สกู๊ปหน้า 1 : ชักธงรบ PM 2.5 เน้นลุยตรวจ 3 ด้าน
เตรียมตัวตั้งรับมาตั้งแต่ช่วงท้ายๆ ของสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ สำหรับปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ซึ่ง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขีดเส้นใต้ทำไฮไลต์ว่าต้องทั้งสกัดและรับมือด้วยยุทธศาสตร์ต่างๆ ย้ำชัดตั้งแต่ตี 5 ขณะวิ่งออกกำลังกายยังสวนสาธารณะกลางกรุง จนถึงในศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ทั้งเสาชิงช้าและดินแดง หลายครั้งหลายครา
บอกเล่าอย่างเข้าใจง่ายถึงสาเหตุของความทึมเทาในบรรยากาศช่วงนี้ที่มีสาเหตุจากปริมาณฝุ่นที่สูงขึ้นว่า
เกิดจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.ปริมาณฝุ่นในอากาศเอง จากรถยนต์ที่ปล่อยควัน การเผาไหม้ชีวมวล และโรงงานอุตสาหกรรม 2.ความกดอากาศในช่วงปลายปี ซึ่งเมื่อกดลงต่ำ ปริมาตรอากาศลด แม้ปริมาณฝุ่นเท่ากัน ความหนาแน่นย่อมมากขึ้น 3.ลมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกเฉียงใต้ปะทะกันในช่วงปลายปี ทำให้ลมไม่เคลื่อนที่ ฝุ่นจึงมีอยู่มากในช่วงเช้า เวลาสายจึงเจือจาง
ล่าสุด ประกาศเปิด ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร ที่สำนักสิ่งแวดล้อม เขตดินแดง โดยเน้นย้ำถึงการผสานความร่วมมือมือกับหน่วยงานต่างๆ อย่างละเอียด นอกเหนือจากการรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน มีมาตรการเบื้องต้น คือ กทม. ออกตรวจ ตรวจจุดที่มีปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เช่น แพลนต์ปูน โรงงานอุตสาหกรรม อู่รถเมล์ ฯลฯ ซึ่งดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม
ส่วนการพยากรณ์ฝุ่นล่วงหน้า สามารถทำได้ 7 วัน ระบุความแม่นยำได้ 3 วัน โดยจะมีการสื่อสารให้ประชาชนทราบอย่างสม่ำเสมอ
เรื่องฝุ่นสามารถพยากรณ์ได้ โดยไม่ต้องดูจากปริมาณฝุ่น แต่พิจารณาจากสภาพความกดอากาศซึ่งเหมือนฝาชีครอบ และสภาพลม เพราะแม้ปริมาณฝุ่นเท่ากันแต่ปัจจัยทั้ง 2 นี้จะทำให้ทราบถึงความหนาแน่นของฝุ่นที่จะเกิดขึ้นได้ ผู้ว่าฯกทม.ยกภาพ ฝาชี เทียบ ชวนให้จินตนาการได้อย่างไม่ซับซ้อน
จากการประชุม คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม และการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 23/2565 เรื่องการรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา สรุปใจความสำคัญและยุทธศาสตร์ ได้ว่า ในส่วนของการลุยตรวจ เน้น 3 ด้าน ได้แก่
1.ตรวจควันไอเสียรถยนต์ ซึ่งชัชชาติเผยว่า สมาพันธ์ขนส่ง เสนอความเห็นว่ารถที่มีโอกาสปล่อยควันเสียออกมามาก แสดงว่ารถคันนั้นมีการบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งต้องมีการพิจารณาข้อกฎหมายว่า กทม.มีอำนาจในการควบคุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินได้หรือไม่
2.ตรวจแพลนต์ปูน โรงงานอุตสาหกรรม โดยร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มีการรายงานการตรวจทุกวันว่า ไม่ผ่านการประเมินจำนวนเท่าไหร่บ้าง ด้าน กรมโรงงานอุตสาหกรรมรายงานว่าในกรุงเทพฯ มีจำนวนโรงงานกว่า 6,000 แห่ง มี 260 แห่ง ที่มีความเสี่ยงในการเกิดฝุ่น โดยให้ผู้อำนวยการแต่ละเขตเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และเข้าร่วมตรวจกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม
3.การเผาชีวมวล ได้มีการลงไปพูดคุยกับเกษตรกรให้งดการเผา ทางเกษตรกรจึงขอให้สนับสนุนค่าน้ำมันในการเก็บตอซังข้าว หรือการใช้น้ำหมักช่วยย่อยสลายฟางข้าวให้เป็นปุ๋ยได้ แต่ปัญหาการเผาส่วนใหญ่เกิดนอกพื้นที่กรุงเทพฯ โดยศูนย์บัญชาการจะมีการมอนิเตอร์จุดกำเนิดความร้อน ซึ่งถ้ามีการเผาจะมีการแจ้งกับทางกรมควบคุมมลพิษ รวมถึงการเผานอกประเทศนั้น ทางกรมควบคุมมลพิษจะมีการแจ้งกับองค์กรระหว่างประเทศต่อไป
ส่วนที่ กทม.จะดำเนินการได้ คือการตรวจควันไอเสียของรถยนต์เป็นหลัก โดยจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเน้นตรวจรถยนต์ที่ไซต์ก่อสร้าง แพลนต์ปูน และพื้นที่ที่มีการขนส่งหนาแน่น ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รวมถึงยังร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในการตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดฝุ่นสูง 260 แห่ง ชัชชาติเผย
นอกจากนี้ ยังให้นักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ชักธง แจ้งเตือนฝุ่น ตามลำดับความรุนแรงตามค่าฝุ่น สีฟ้า เขียว เหลือง ส้ม และแดง เพื่อฝึกให้เด็กได้ติดตามสถานการณ์ หากถึงระดับ 4 คือ สีส้ม เมื่อใด จะให้ หยุดเรียน เพื่อขยายมาตรการนี้สู่ชุมชนต่อไป
“ต้องมีการแจ้งผลงานให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องว่าทำอะไรมาบ้าง หลักการเพื่อสร้างความมั่นใจ ไม่ใช่ว่าเขียนแผนเพื่อให้มีแผน แต่ไม่ปฏิบัติ ต้องไปปฏิบัติจริง มีการออกรายงานต่อเนื่อง มีการเตือนอย่างเป็นรูปธรรม และต้องมีการสื่อสารให้ชัดเจน และให้ประชาชนแจ้งเหตุเข้ามา เช่นรถปล่อยควันดำ การเผาชีวมวล โดยใช้ทราฟฟี่ฟองดูว์เป็นตัวรับแจ้งเหตุต้นตอของมลพิษด้วย” ผู้ว่าฯกทม.ย้ำ
ไม่เพียงเท่านั้น ยังสั่งการ ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. จัดอุปกรณ์ ทั้งหน้ากากอนามัย (N95) และเครื่องฟอกอากาศ เตรียมดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางด้วย
หันมาดูข้อมูลล่าสุดจาก ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ณ เวลา 10.00-12.00 น. มีแนวโน้มลดลง กล่าวคือ ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าเกินมาตรฐาน เพียงพื้นที่เดียว คือ เขตหนองแขม
โดยตรวจวัดได้ระหว่าง 15-52 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (PM2.5 ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชม. ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) โดยตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 ตุลาคม มวลอากาศเย็น (ความกดอากาศสูง) ยังแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้เพดานอากาศต่ำลง จนฝุ่นละอองไม่สามารถลอยขึ้นด้านบนได้ จึงสะสมในปริมาณสูงขึ้น
ล่าสุด มีลมพัดแรงขึ้น ทำให้ฝุ่นละอองกระจายตัวได้ดี แต่ยังคงมีค่าเกินมาตรฐานในบางพื้นที่
ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน ผ่านทาง www.bangkokairquality.com และ www.pr-bangkok.com FB: สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร แอพพลิเคชั่น AirBKK
หากพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษ แจ้งเบาะแสได้ทาง ทราฟฟี่ฟองดูว์
นับเป็นยุทธศาสตร์ออกศึกที่มีทั้ง รุกและรับ พร้อมจับตามองอย่างใกล้ชิด ในฤดูหนาวที่ใกล้เข้ามา พร้อมฝุ่น PM2.5 ที่ต้องประกาศรบอย่างจริงจัง