‘ชัชชาติ’ ยันไม่ได้สั่งเลิก ‘มุดสายไฟลงดิน’ แค่กลัวไปไม่รอด แนะ ‘เคที’ ดูความคุ้ม หวั่นเพิ่มภาระปชช.

ชัชชาติ หวั่น เพิ่มภาระประชาชน แนะ ‘เคที’ ดูความคุ้ม โครงการร้อยสายไฟลงดิน จะไปรอดไหม? ยัน ไม่ได้สั่งยกเลิกโครงการ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 3 มกราคม ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมคณะผู้บริหารกทม. ครั้งที่ 1/2566

โดยเปิดเผยภายหลังการประชุมถึงกรณี โครงการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน ซึ่งใช้งบประมาณวงเงินถึง 1.9 หมื่นล้านบาท แต่ยังติดปัญหาทางเทคนิค หาผู้เช่าท่อร้อยสายระบบสาธารณูปโภค ไม่ได้ ส่งผลให้ไม่มีรายได้ ซึ่งหากคิดค่าเช่าท่อร้อยสายแพง ผู้เช่าจะไปคิดค่าบริการเพิ่มกับประชาชนนั้น

นายชัชชาติกล่าวว่า กรณีท่อร้อยสายไฟ ที่มีคนบอกว่าเราไปยกเลิกโครงการ ความจริงแล้วท่อร้อยสายไฟเป็นโครงการของ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ที่ทำมาก่อน ซึ่ง กทม.จะไปทำท่อร้อยสายไฟเองทั้งกรุงเทพฯ ต้องใช้งบฯ ประมาณ 19,000 ล้านบาท โดยมีการทำทดลองไปแล้วส่วนหนึ่ง ประมาณ 1,000 ล้านบาท 10 กิโลเมตร แต่หาลูกค้าไม่ได้

“ตอนนี้ก็ให้เคที ไปทบทวนโมเดลธุรกิจ (business model) ว่า สุดท้ายแล้วลงทุน 20,000 ล้านบาท จะมีคนต้องการมาใช้หรือไม่ เพราะความจริง ถ้าลงทุนไปโดยเอาเงินประชาชนไปลง มันก็จะเหมือนกับโครงการที่ลงทุนเพื่อให้มีผลตอบแทนที่ดี แต่ไม่ได้คิดว่ามีลูกค้าดีหรือเปล่า ความจริง รูปแบบของเคที ก็คงให้เคทีไปพิจารณาว่า สรุปแล้วที่เคยคิดกันมา 20,000 ล้านบาท เราทำทดสอบไปแล้วหลาย 100 ล้าน มีฐานลูกค้าบ้างไหมที่จะมาใช้ท่อที่คุณทำ ซึ่งถ้าเราปล่อยให้ทำทั้งหมดแล้วสุดท้ายไม่มีลูกค้ามาใช้ มันก็กลายเป็นภาระประชาชนอยู่ดี หรือไม่ ถ้ามีลูกค้าใช้แล้วไปเก็บเขาแพงมาก สุดท้ายประชาชนก็ต้องจ่ายอยู่ดี อันนี้ก็คงต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบ

Advertisement

ขณะเดียวกัน เรื่องจัดระเบียบสายไฟ กทม.ก็ทำมาตลอด ร่วมกับ กสทช. อย่างน้อยตัดสายที่รกรุงรังก่อน ซึ่งไม่ได้หยุด เดินหน้าตลอด มีการหารือกับทาง กสทช. และ กฟน.อยู่ตลอด ส่วนเรื่องท่อร้อยสายไฟ คงต้องดูเรื่องความคุ้มทุน ความโปร่งใส ว่าสุดท้ายแล้วโครงการไปรอดหรือไม่” นายชัชชาติกล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : “ชัชชาติ” ถก “เคที” ทวงความคืบหน้าสายสื่อสารลงดิน พบไร้ผู้เช่าท่อร้อยสายสาธารณูปโภค

กรุงเทพธนาคม จับมือ กสท. สร้างสมาร์ท ซิตี้ นำสายสื่อสารลงใต้ดิน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image