เปิดรับ นศ.แพทย์รุ่นแรกของ “สถาบันพระบรมราชชนก” 96 คน เตรียมยื่นคะแนนผ่านทีแคส ต้น ก.พ.

สถาบันพระบรมราชชนก เปิดรับ นศ.แพทย์ รุ่นแรก ผ่านทีแคสรอบโควต้า ยื่นคะแนนเดือน ก.พ. รวม 96 คน อธิการฯ ให้ความมั่นใจ หลักสูตรใหม่ ผ่านการรับรองจาก อว. พร้อมปั้นแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท

เมื่อวันที่ 7 มกราคม ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดตั้งสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาเพื่อผลิตแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า สถาบันพระบรมราชชนก เดิมเป็นกองหนึ่งในสังกัด สธ. จากนั้นมีการยกฐานะเป็นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือ มหาวิทยาลัย ที่ชื่อว่า “สถาบันพระบรมราชชนก” ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ.2562 ซึ่งได้รับโปรดเกล้าจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 6 เม.ย.2562 โดยเจตนารมณ์คือ ผลิตบุคลากรทางสายวิทยาศาสตร์สุขภาพให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการขาดแคลน อาทิ แพทย์ แพทย์แผนไทย ทันตแพทย์ เภสัชกร เป็นต้น ซึ่งสถาบันฯ มีต้นทุน 2 คณะ คือ คณะพยาบาล และ คณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ ที่มีวิทยาลัย 30 แห่งทั่วประเทศครบทั้ง 13 เขตสุขภาพ โดยปัจจุบันสามารถประสาทปริญญาบัตรได้เอง ทั้งนี้ ปี2566 สถาบันฯ รับนักศึกษาคณะพยาบาล เป็นนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่ได้ลงนามความร่วมมือกับโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ 2,360 แห่งและโรงเรียนในเขตเมือง รวม 4,220 คน ส่วนคณะสาธารณสุขศาสตร์ สถาบันฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับนักเรียนจากโรงเรียนมัยธมทั่วประเทศ ผ่านระบบทีแคส (TCAS) ในรอบที่ 2 รอบโควต้าพิเศษ รวม 2,000 กว่าคน ดังนั้น 2 คณะนี้ก็จะรวมกันเกือบ 6,500 – 6,800 คน

ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าวว่า สำหรับคณะที่ 3 โครงการจัดตั้งคณะแพทย์ศาสตร์ ซึ่งหลักสูตรผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับรองจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จากนั้น รมว.สาธารณสุข ก็จะเห็นชอบส่งเรื่องเข้าไปในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นเดือน ม.ค. ทั้งนี้ หลักสูตรจึงเน้นเรื่องความต้องการบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะในชุมชน ถิ่นทุรกันดาร หรือสถานีอนามัยทั่วประเทศ สำหรับหลักสูตรจะเป็นหลักสูตรใหม่ มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 (5) ที่ระบุว่า คนไทยต้องได้รับการดูแลรักษา โดยแพทย์เวชาศาสตร์ครอบครัว และแพทย์ในระบบปฐมภูมิ (Primary care) ทั่วประเทศ และยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนของกระทรวงสาธารณสุข แผนของพ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิพ.ศ. 2562 เป็นต้น อีกด้วย

ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าวว่า หลักสูตรโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ของสถาบันฯ ภายใต้โครงการ “ผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท” เป้าหมายของปีการศึกษา 2566 – 2570 จะรับนักศึกษารวม 96 คนต่อปี คุณสมบัติ ต้องเป็นนักเรียนที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2565 ยื่นคะแนนผ่านระบบทีแคส รอบ 2 (รอบโควต้า) ปลายเดือน ม.ค. – ก.พ. สำคัญคือ นักเรียนและผู้ปกครองจะต้องมีภูมิลำเนาเดียวกันในจังหวัดที่สมัครอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี ทั้งนี้ เพื่อผลิตแพทย์ให้กับศูนย์การแพทย์ของโรงพยาบาล (รพ.) 3 แห่ง คือ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ 32 ที่นั่ง เปิดรับนักเรียนที่โรงเรียนอยู่ภายในจังหวัดเขตสุขภาพที่ 3 รพ.ราชบุรี 32 ที่นั่ง รับนักเรียนในเขตสุขภาพที่ 5 และ รพ.นครศรีธรรมราช 32 ที่นั่ง รับนักเรียนในเขตสุขภาพที่ 11

“โดยนักศึกษารุ่นแรกจะศึกษาจบในปี 2571 ซึ่งจะเป็นนักศึกษารุ่นแรกที่รับปริญญาบัตรที่สถาบันพระบรมราชชนก จากนั้นจะเป็นแพทย์ใช้ทุนตามเขตสุขภาพที่สมัครไว้ในตอนต้น ขอให้ความมั่นใจว่านักเรียนที่จะมาเรียนในคณะแพทย์ของสถาบันฯ ทั้ง 3 ศูนย์แพทย์ที่กล่าวมาได้ดำเนินการมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปี ระบบคะแนนคัดเข้าจะเป็นไปตามเกณฑ์ของ อว. ผลผลิตที่ผ่านมา พบว่านักศึกษาที่จบไป มีงานทำตามโควต้าที่ได้รับจัดสรร มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หลายคนเป็นผู้อำนวยการ รพ. ระดับอำเภอ ส่วนหนึ่งเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) หรือ รองนพ.สสจ. จึงให้ความมั่นใจในด้านคุณภาพ และบุคลากรที่เป็นไปตามอัตลักษณ์ของสถาบันฯ คือ วินัย หน้าที่ สามัคคี เสียสละ สัจจะ กตเวที” ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image