คณะอนุกรรมการระบบบำบัด ฟื้นฟู ติดตามผู้ติดยาเสพติด เห็นชอบใช้แนวทาง SMI-V ดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง นำร่อง 30 จังหวัด พร้อมผลักดันการดูแลผู้ป่วยที่บ้านให้เป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการระบบบำบัด ฟื้นฟู ติดตามผู้ติดยาเสพติด ครั้งที่ 2/2566 โดยมี นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ เข้าร่วมประชุม
นพ.โอภาส กล่าวว่า ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในการเปิดปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามนโยบายรัฐบาล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ระยะเร่งด่วน 3 เดือน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนด้านบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยมีการสำรวจและเร่งรัดจัดตั้งศูนย์คัดกรองในตำบลแล้ว 9,473 แห่ง แบ่งเป็น สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 6,596 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2,877 แห่ง มีสถานพยาบาลยาเสพติดอีก 1,079 แห่ง ที่ดำเนินงานแบบบูรณาการบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (CBTx) ครอบคลุม 659 ชุมชน และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมในชุมชนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 1,185 แห่ง นอกจากนี้ ยังขยายการเปิดหอผู้ป่วยในจิตเวชในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ครอบคลุมทุกจังหวัด รวมโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต เป็น 5,435 เตียง ส่วนการจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน ผ่านการประเมิน 91 แห่ง รอการประเมิน 326 แห่ง รวมถึงให้การสนับสนุนจัดตั้งสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกับภาคีเครือข่ายในทุกจังหวัดทั้งหมด 146 แห่ง
นพ.โอภาส กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบใน 3 ประเด็น คือ 1.การดำเนินการของสถานพยาบาล สังกัดกรมการแพทย์และกรมสุขภาพจิต ให้บูรณาการรับส่งต่อผู้ป่วยยาเสพติดในกลุ่มที่ยุ่งยากซับซ้อน มีภาวะแทรกซ้อนทางกายและทางจิตที่ไม่รุนแรง แบบไร้รอยต่อ แบ่งเขตความรับผิดชอบและสนับสนุนเครือข่ายเขตสุขภาพ รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปรึกษา (Tele Consult) แพทย์และพยาบาล พร้อมรับส่งต่อผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง และเร่งเปิดโรงพยาบาลธัญญารักษ์ให้ครบทุกจังหวัดเร็วที่สุด เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ ให้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อเพิ่มพูนทักษะอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ได้เปิดฝึกอบรม 11 หลักสูตร และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง อีก 8 หลักสูตร
2.ใช้แนวทางดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง หรือ SMI-V ให้สามารถอยู่ในชุมชนได้ ไม่ป่วยและไม่ก่อความรุนแรงซ้ำ นำร่องในพื้นที่ 30 จังหวัด และเร่งขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัด รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีแนวทางการส่งต่อที่ชัดเจน และสถานพยาบาลสามารถรองรับได้ครบทุกจังหวัด และ 3.ผลักดันให้มีการใช้แนวทางดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Ward) ในกลุ่มผู้ป่วยนอกที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดแต่ไม่สามารถนอนโรงพยาบาลได้ เพื่อให้ครอบครัวมีส่วนร่วมดูแล ช่วยให้ญาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดการนอนโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยได้รับการดูแลผ่าน DMS Tel-med ทางโทรศัพท์/แอปพลิเคชัน ซึ่งจะมีแพทย์และพยาบาลจาก สบยช. และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องทุกวัน