สธ.รับ ยากเอาผิด “กรวินคลินิก” ใช้วัสดุเสริมงามเถื่อน เหตุขอเปิดถูก กม.ทั้ง 32 สาขา แนะผู้บริโภครู้เสียหายให้แจ้งข้อมูล

ความคืบหน้ากรณีกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขยายผล ทลายเครือข่ายใช้ซิลิโคนศัลยกรรมเถื่อนในคลินิกเสริมความงามรายใหญ่ มูลค่าหลายล้านบาท นั้น

เมื่อวันที่ 17 มกราคม นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดี สบส. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คลินิกความงาม “กรวินคลินิก” เปิดให้บริการ 32 สาขาทั่วประเทศ แต่มีการสืบสวนพบว่ามีการสั่งทำซิลิโคนจากโรงงานเถื่อน ทำให้ไม่ได้มาตรฐาน โดยที่ผ่านมามีการใช้ซิลิโคนปลอมกับประชาชนกว่า 1,600 คน ว่า สำหรับกรณีดังกล่าวมีการตรวจสอบพบว่าคลินิกได้รับการอนุญาตจาก สบส. เปิดบริการทุกสาขา

“ซึ่งตามปกติแล้ว ถ้าได้รับอนุญาต ก็หมายถึงว่า แพทย์ที่ประจำการแต่ละคลินิกเป็นแพทย์จริง ดังนั้น คลินิกไม่เถื่อน หมอไม่เถื่อน แต่ซิลิโคนเถื่อน อย่างไรก็ตาม สบส.จะสั่งปิดคลินิกได้ จะต้องมีหลักการดำเนินการ คือ การดำเนินการในคลินิกมีความอันตรายร้ายแรงมากที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายถึงเสียชีวิต หรือมีความเสียหายร้ายแรง เช่น การฉีดยาที่มีความอันตรายจนถึงชีวิต เราสามารถสั่งปิดได้ตามเหตุความรุนแรง แต่กรณีนี้ ยังไม่ถึงเหตุความรุนแรงมาก ดังนั้น จึงต้องตักเตือนให้ปรับปรุงไม่ให้ใช้ซิลิโคนปลอม ส่วนความผิดที่เกิดขึ้น ก็เอาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล มาพิจารณาเพื่อกำหนดบทลงโทษ ทั้งโทษอาญาและโทษปรับ ซึ่งตอนนี้ที่เราตรวจสอบมี 3 ข้อหา คือ 1.ไม่มีแพทย์อยู่ประจำการ ณ เวลาที่ประกาศไว้ 2.บางสาขามีการต่อเติมห้องผ่าตัดโดยไม่ได้ขออนุญาต เช่น สาขาระยอง และ 3.การโฆษณาโดยไม่ได้ขออนุญาต สบส. เนื่องจากเขาขอเปิดเป็นคลินิกเวชกรรมทั่วไป คือการตรวจรักษาโรค แต่เมื่อมีการทำเสริมความงาม ก็ต้องมาขออนุญาตก่อน” นพ.สุระ กล่าว

อธิบดี สบส. กล่าวว่า สำหรับการตรวจสอบเบื้องต้นเพียงไม่กี่สาขา พบว่ามีการใช้ซิลิโคนปลอมกับประชาชนกว่า 1,600 คน ซึ่งยังมีอีกหลายสาขาให้บริการทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่เข้าไปรับบริการในคลินิกดังกล่าว แม้ยังไม่เกิดปัญหาจากการเข้ารับบริการ ก็สามารถแจ้งเรื่องเพื่อเป็นหลักฐานไว้ก่อนได้ โดยติดต่อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ สบส. ที่ “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” หรือ สามารถแอดไลน์ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดช่องทางไว้ที่ @cppd4 รวมถึงกรณีที่ประชาชนรู้สึกได้รับความเสียหายจากการให้บริการ เช่น การจ่ายค่าบริการเสริมความงามที่ไม่เป็นธรรม การที่คลินิกใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานมาเสริมความงาม เป็นต้น

Advertisement

ด้าน นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง กำลังสืบข้อมูลเพื่อดูว่ามีการใช้ซิลิโคนปลอมกับคลิกนิกทั้งหมดในเครือหรือไม่ เพราะเชื่อว่า ถ้าลงไปตรวจสอบภายหลังที่มีข่าวออกมาแล้ว อาจจะมีการเก็บหลักฐานต่างๆ ไปแล้ว เลยจะต้องมีการสอบสวนผ่านเส้นทางการเงิน การสืบพยานต่างๆ ต่อไป

“ขณะที่ เราก็ขอให้ประชาชนแจ้งข้อมูลมาเพื่อให้มีหลักฐานดำเนินการกับคลินิกได้เพิ่มเติม ทั้งนี้ การที่ประชาชนจะเข้ารับบริการจากคลินิกใดก็ตาม จะต้องตรวจสอบว่า คลินิกนั้นๆ ได้รับการอนุญาตจาก สบส. หรือไม่ วัสดุที่นำมาใช้เสริมความงาม เป็นของที่ได้รับรองจาก อย. หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ประชาชนมีสิทธิเรียกดูได้ โดยที่คลินิกต้องเปิดเผยข้อมูล สำหรับผู้ที่เข้ารับบริการแล้วเกิดความเสียหาย ให้แจ้งที่ สบส. เพื่อให้เราดำเนินการตรวจสอบว่าความเสียหายนั้นเกิดจากมาตรฐานหรือคุณภาพของสถานพยาบาลหรือไม่ ถ้าเกี่ยวข้อง สบส.ดำเนินการได้เลย แต่ถ้าเกี่ยวกับวิชาชีพ เช่น แพทย์ เราก็ส่งให้แพทยสภาพิจารณาอีกที แต่เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ เป็นแพทย์ที่ได้รับอนุญาตทำงานในคลินิกที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง ดังนั้น หากถามว่า แพทย์ใช้ซิลิโคนปลอมผิดบรรยาบรรณของแพทย์หรือไม่ เรื่องนี้จริงๆ ตรวจสอบยากว่าแพทย์คนไหน ใช้ซิลิโคนจริงหรือปลอม ฉะนั้น ต้องให้แพทยสภาตรวจสอบเรื่องจริยธรรมอีกครั้ง” นพ.ภานุวัฒน์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image