กรมวิทย์ เปิดอาคารปฏิบัติการตามมาตรฐานสากลแห่งแรก! ในไทย ใช้งบกว่า 200 ลบ. หวังทลายขีดความสามารถห้องแล็บ สู่การวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรม
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี อ.เมือง จ.อุดรธานี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในพิธีเปิด “อาคารปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุดรธานี” โดยมี นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 นพ.ทวีรัชต์ ศรีกุลวงศ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี และคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภาคีเครือข่ายเขตสุขภาพที่ 8 เข้าร่วมพิธี
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม โดยมีบทบาทหน้าที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สมุนไพร การชันสูตรโรค ศึกษาวิจัยพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข เพื่อควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยตามกฎหมายประเมินความเสี่ยงแจ้งเตือนภัยสุขภาพ และเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงนอกจากนี้ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จากภารกิจการคุ้มครองผู้บริโภคและการชันสูตรโรคของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเป็นจังหวัดศูนย์กลางการคมนาคมทางบกและทางอากาศที่เชื่อมต่อทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ (Hub) ตั้งอยู่ใกล้ด่านชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม ยา เครื่องสำอาง และมีการเดินทางสัญจรเข้าออกของประชากรคนไทยและต่างชาติจึงมีโอกาสแพร่กระจายโรคติดต่อระหว่างประเทศสูง
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ปี 2558 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ขยายงานการเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิง และ
ศูนย์ฝึกอบรมทางห้องปฏิบัติการในระดับชาติและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมอบหมายให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี เป็นหน่วยงานริเริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการ ซึ่งจะเป็นอาคารต้นแบบมาตรฐานสากลของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขเป็นแห่งแรกเป็นอาคารสูง 3 ชั้น พื้นที่ 7,791.60 ตารางเมตรมีระบบปรับอากาศและระบายอากาศ ระบบดับเพลิง ระบบเก็บและกำจัดของเสีย ระบบสุขาภิบาล ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบตู้ดูดควัน ตามมาตรฐานสากล และมีระบบที่ดีทางด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และความปลอดภัยทางห้องปฏิบัติการ เพื่อป้องกันอันตรายแก่ผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อมอีกทั้งมีห้องปฏิบัติการ BSL 3 เพื่อรองรับงานวิจัยและตรวจเชื้ออันตรายที่ต้องการความปลอดภัยระดับสูงและมีมาตรฐาน ได้ดำเนินการก่อสร้าง ปี พ.ศ. 2558 ถึง 2562 รวมระยะเวลาก่อสร้างทั้งหมด 4 ปี 5 เดือนใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 222,481,237 บาท ขณะนี้เปิดใช้งานแล้ว“ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ได้จัดทำแผนในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการด้านการตรวจสารพันธุกรรมด้วยการนำเทคโนโลยี Next-Generation Sequencing (NGS) หรือเทคโนโลยีการถอดรหัสทางพันธุกรรมมาใช้ ได้แก่ การตรวจ Target Sequencing และการตรวจ Whole Genome Sequencing ซึ่งเข้ามามีบทบาททางการแพทย์หลายสาขาวิชาทั้งส่วนของการวินิจฉัย การดูแลรักษา การป้องกันและการส่งเสริมสุขภาพ” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ทั้งนี้ อธิบดีกรมวิทย์ กล่าวว่า สำหรับการตรวจ NGS นั้น เมื่อร่วมกับการประมวลผลขั้นสูงทางคอมพิวเตอร์ (Bioinformatics) เข้ามาช่วยวินิจฉัยโรค เช่น โรคมะเร็ง โรคทางพันธุกรรมต่างๆ จะสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ถือเป็นศูนย์แรกที่ให้บริการในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8และเป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการจังหวัดอุดรธานีเมืองทางการแพทย์ (Udonthani Green Medical Town : UDGMT) สู่ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอีสานตอนบนสู่อินโดจีนและสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทยไปสู่การแพทย์แม่นยำได้อย่างมีประสิทธิภาพ