ชัชชาติ เผยสายสีเขียวต่อขยาย ยังนั่งฟรีไม่มีกำหนด รอเคลียร์ค่าจ้างเดินรถบีทีเอส

ชัชชาติ เผยสายสีเขียวต่อขยาย ยังนั่งฟรีไม่มีกำหนด รอเคลียร์ค่าจ้างเดินรถบีทีเอส

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยถึงปัญหาของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายว่า กทม.ยังคงพร้อมที่จะร่วมพูดคุยกับทางบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC กรณีที่พนักงานของบีทีเอสเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลยื่นข้อเรียกร้องจากรัฐบาลให้ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-คูคตและแบริ่ง-สมุทรปราการ โดยกำหนดระยะเวลา 7 วัน หากไม่ดำเนินการจะหยุดการเดินรถส่วนต่อขยาย โดยกทม.มองว่าหากเกิดเหตุการณ์หยุดเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายขึ้นจะกระทบต่อประชาชน ซึ่งทางกทม.และบีทีเอส คงไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนขึ้นในการเดินทาง

“ปัจจุบันการเดินรถส่วนต่อขยายจะเป็นส่วนที่บีทีเอสรับจ้างเดินรถให้กทม. มีสัมปทานล่วงหน้ายาวไปถึงปี 2585 โดยส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วง ยังคงให้บริการกับประชาชนฟรี หากยังไม่มีข้อยุติเรื่องสัญญาและสภากทม.ยังไม่อนุมัติคงต้องเปิดบริการฟรีอย่างไม่มีกำหนด” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ซึ่งส่วนต่อขยายดังกล่าวมีผู้ใช้บริการหลายแสนคน เพื่อป้อนเข้าสู่ส่วนสัมปทานที่เป็นเส้นทางไข่แดงแบบฟรีๆ ให้บีทีเอส ทำให้บีทีเอสมีรายได้และได้ค่าแรกเข้าทันที ถือเป็นผลประโยชน์ที่ทำให้บีทีเอสมีรายได้จุนเจือบ้าง แม้ยังไม่ได้ค่าจ้างซึ่งค่าเดินรถที่กทม.ยังไม่จ่าย เพราะเป็นเรื่องกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงยังมีเงื่อนไขทางกฎหมายที่ยังต้องดูอยู่ คือ เรื่องที่เข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่ต้องได้รับการอนุมัติก่อน เพราะการต่อสัมปทานโครงการดำเนินการตาม ม.44 ซึ่งเอกชนจะรับผิดชอบค่าเดินรถจนกว่าจะหมดสัมปทาน จะมีเรื่องค่าโดยสารรวมอยู่ด้วย ปัจจุบันเรื่องยังค้างอยู่ครม.ตั้งแต่ปี 2562

Advertisement

“ซึ่งม.44 เท่ากับพ.ร.บ.เป็นกฎหมายที่ต้องปฎิบัติตาม ซึ่งม.44 ชัดเจนว่าให้ทำอะไร ถ้าเราไม่ทำตามถือว่าผิดกฎหมายเช่นกัน ถ้าไม่ไหวคงต้องมานั่งคุยกันอีกที” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับข้อพิพาทค่าจ้างเดินรถ การจ่ายหนี้ยังคงต้องดูตามข้อสัญญาที่ค้างอยู่กับกทม.และต้องมีการหารือร่วมกัน รวมถึงบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด(KT)เป็นคู่สัญญากับบีทีเอส จะต้องหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งยังคงเป็นข้อกังวลที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้

“ส่วนตัวไม่อยากให้เรื่องยืดเยื้อ ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาอยู่แล้ว แต่กทม.ก็ต้องทำตามระเบียบ ทำให้ถูกขั้นตอน ทุกอย่างต้องรอบคอบ เพราะปัญหามันเกิดแล้ว เราก็พร้อมพูดคุยกับบีทีเอสเพื่อร่วมกันหาทางออก และเชื่อว่าบีทีเอสคงไม่ทำสิ่งที่เกิดผลกระทบต่อประชาชน หรือเอาประชาชนมาต่อรอง” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

นายชัชชาติยังตอบคำถามนโยบายที่เคยหาเสียงในช่วงของการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ในเรื่องเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้านั้นว่า ในสายที่เป็นไข่แดงถือว่าอัตราค่าโดยสารในปัจจุบันเฉลี่ยในช่วงราคา 35-40 บาท ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม และไม่มีปัญหาอะไรในส่วนนี้ แต่ในส่วนต่อขยายที่กทม.ว่าจ้างบีทีเอสที่ยาวไปอีก 13 ปี ที่ทำสัญญาไปแล้ว พบว่ามีอัตราค่าจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายที่ยังสูงเป็นแสนล้าน ทำให้กทม.จะต้องเก็บค่าโดยสารที่สอดคล้องกับต้นทุนค่าจ้างที่สูงตาม ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาแนวทางในการต่อรองกับบีทีเอสลดค่าจ้างเดินรถกับบีทีเอสในส่วนต่อขยาย เพื่อทำให้การจัดเก็บค่าโดยสารถูกลง และบีทีเอสยังได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมในการรับจ้างเดินรถ อย่างไรก็ตามยังคงต้องรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาดูแลและพิจารณาในเรื่องของประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นและแก้ไข

นายชัชชาติกล่าวว่า ส่วนที่พรรคการเมืองมีนโยบายหาเสียงเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย และ 40 บาทตลอดสายนั้น ต้องเข้าใจว่าปัญหาต่างๆ ในเรื่องของรถไฟฟ้าที่เป็นประเด็นยืดเยื้อมานาน เพราะมีหลายเจ้าของ ซึ่งสายสีน้ำเงิน สีม่วง สีเหลือง สีชมพู เป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) แอร์พอร์ตลิงค์เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ส่วนสายสีเขียวเป็นของกทม. ซึ่งกทม.อยากให้ทางรัฐบาลนำรถไฟฟ้าสายต่างๆ กลับไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีความเชี่ยวชาญเพียงหน่วยงานเดียวกำกับดูแลเอง เพราะจะทำให้การบริหารจัดการโครงข่ายรถไฟฟ้าง่ายขึ้น รวมถึงสามารถควบคุมและกำหนดอัตราค่าโดยสารให้เหมาะสม ถูกลง เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

“สายสีเขียว หากถามเราก็ไม่ได้อยากเป็นเจ้าของ เพราะเราไม่มีความเชี่ยวชาญในการบริหาร ถ้าเปิดโอกาสให้คืนรัฐบาลได้เราก็ยินดีที่จะคืน และหาแนวทางร่วมกันในการบริหารจัดการ จะทำให้กทม.ได้รับผลตอบแทนร่วมกันด้วย” นายชัชชาติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image