รองผู้ว่าฯเผย ‘ผมเสรี-ไปรเวต’ เป็นโปรเจ็กต์ที่ น.ร.ชมเยอะสุด ยันไม่ได้เปลี่ยนแบบพลิก แค่หวังกระตุ้นการวิพากษ์ ช่วยเด็กค้นหาเทส ปรับตัวก่อนเข้าสู่วัยทำงาน
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะโฆษก กทม.และนางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา แถลงข่าวกรณี กทม.มีหนังสือแจ้งแนวทางการแต่งกาย และแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.
นายศานนท์ กล่าวว่า หนังสือเวียน ทั้ง 2 ฉบับกว่าจะออกมา ใช้ระยะเวลานานเนื่องจากมีคณะกรรมการหลายภาคส่วน โดยก่อนหน้านี้ ผู้ว่าฯ กทม.เซ็นประกาศเรื่องสิทธิเด็ก และชุดลูกเสือ ไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยหัวใจหลักมีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ทำให้เด็กไปโรงเรียนอย่างมั่นใจ ถูกสุขอนามัย โดยแต่ละโรงเรียนสามารถออกกฎระเบียบร่วมกับนักเรียน 2.เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดย กทม.ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในการจัดซื้อเครื่องแบบให้นักเรียนปีละ 2 ชุด คือชุดนักเรียน 1 ชุด ชุดลูกเสือ-เนตรนารี ชุดพละ สลับกันปีละ 1 ชุด กทม.จึงออกแนวทางกลางๆ อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ นักเรียนสามารถใส่ชุดอะไรก็ได้ที่สบายใจ อย่างชุดไปรเวต หรือชุดนักเรียน ชุดลูกเสือ ชุดพละ และ 3.การมีส่วนร่วมของนักเรียนในการออกกฎระเบียบร่วมกับโรงเรียน ในการกำหนดทรงผมและเครื่องแต่งกาย
นายศานนท์กล่าวว่า สิ่งที่ทำไม่ได้เกินสิ่งที่กฎกระทรวงศึกษาธิการกำหนด แต่ว่ามีความกว้าง กทม.จึงออกบันทึกข้อความเพื่อให้มีความชัดเจน อย่างเรื่องทรงผมต้องอยู่บนพื้นฐานสุขอนามัยที่ดี สะอาด ส่งเสริมบุคคลิกภาพและความมั่นใจ โดยสถานศึกษาต้องทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย การทำให้นักเรียนอับอายต้องไม่เกิดขึ้น ส่วนการแต่งกายให้สวมชุดใดก็ได้ที่ไม่เป็นการบังคับอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ โดยต้องให้เด็กมีส่วนร่วมในการกำหนด
ทั้งนี้ นักเรียนที่ต้องการใส่ชุดไปรเวต เช่น เสื้อยืด กางเกงยีนส์ สามารถทำได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสถานศึกษา และนักเรียน ประชุมพิจารณาความเหมาะสมร่วมกันก่อนประกาศใช้ เพราะแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่าง อยากให้เด็กนักเรียนมีอิสระและมีส่วนร่วม นอกจากนี้ บางโรงเรียนมีความแตกต่างเรื่องของศาสนาด้วย ดังนั้น จะทำได้รวดเร็วแค่ไหนจึงอยู่ที่ความเหมาะสมและความพร้อมของแต่ละโรงเรียน
“การเปลี่ยนแปลงแบบตัดฉึบเป็นสิ่งที่ยาก จะเห็นได้ว่าในประกาศเราใช้คำว่าอย่างน้อย 1 วัน ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมเดิมมาก เราเอากระบวนการมีส่วนร่วมของนักเรียน เอาเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเข้าไปด้วย การจะขยายมากกว่า 1 วันขึ้นอยู่กับโรงเรียน เราไม่ได้ต้องการทำให้พลิกแผ่นดินทันที แต่เราต้องการค่อยๆ เขยิบไป” นายศานนท์กล่าว
“ทำไมต้องประกาศเรื่องนี้ด้วยอยู่เฉยๆ ก็ไม่โดนด่า ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญของนักเรียน ตั้งแต่ออกหนังสือเวียนนี้ไป ผมทำเรื่องการศึกษามา 20 โปรเจ็กต์ โปรเจกต์นี้เป็นโปรเจ็กต์มีเด็กพิมพ์มาขอบคุณมาเยอะที่สุด เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของยุคสมัย เป็นเรื่องที่ถ้าเราไม่คุยบนโต๊ะถ้าไม่เป็นบทเรียนของการเรียนรู้ ก็คงไม่สามารถเดินต่อได้” นายศานนท์กล่าว
นายศานนท์กล่าวต่อว่า เรื่องนี้สามารถนำมาสอนเด็กได้ เป็นแบบ Active Learning สร้างการถกเถียงอย่างมีส่วนร่วม เป็นพื้นฐานในการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ได้ จะเห็นว่ามีการถกเถียงกันแน่นอนซึ่งเป็นพื้นฐานของ Critical Thinking หรือการคิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งทั้งหมดน่าจะเห็นแนวทางที่ชัดขึ้นในปีการศึกษาหน้า
“ส่วนความเหลื่อมล้ำ รากฐานมาจากการเปรียบเทียบกัน มีโทรศัพท์มือถือก็เปรียบเทียบกันแล้ว เครื่องแต่งกายต่างๆ เป็นเพียงส่วนเดียว ถ้านำเอาความแตกต่างมาแสดงในโรงเรียนเลยเป็นเรื่องที่ดีกว่าด้วยซ้ำ ทำให้เห็นว่าในนี้มีคนรวยคนจน แต่สุดท้ายมีความเหมือนกัน คนที่แต่งตัวไม่แพงอาจจะมีผลสอบที่ดีกว่าก็ได้ เกิดการยอมรับในโรงเรียนมากขึ้นด้วย” นายศานนท์กล่าว
ด้าน นางสาวศุภร กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนในสังกัด กทม.จะมีการผ่อนปรนไม่ต้องใส่ชุดนักเรียนในวันศุกร์อยู่แล้ว ให้สามารถแต่งชุดไปรเวตได้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำกิจกรรม แต่ว่าอาจมีข้อตกลงเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เช่น การแต่งชุดผ้าไทย ซึ่งบางโรงเรียนมีการดำเนินการไปแล้ว ส่วนบางโรงเรียนที่ยังไม่มีข้อตกลงร่วมกันก็จะต้องมีการหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไร มีการรับฟังความคิดเห็นให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นร่วมกัน หาตรงกลางที่เหมาะสมร่วมกัน โดยทั้งเรื่องของการแต่งกายและการไว้ทรงผมนั้น มีรายละเอียดและระเบียบที่กำหนดเป็นแนวทางชัดเจนแล้ว การดำเนินการต่างๆ จะต้องไม่เป็นการกระทำที่รุนแรงหรือลิดรอนสิทธิของนักเรียน รวมถึงหากเกิดการทำร้ายร่างกายนักเรียน ก็จะต้องมีการสอบสวน หากพบว่าผิดจริงก็จะลงโทษต่อไป
ขณะที่ นายเอกวรัญญู โฆษกกทม. ยกตัวอย่างโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ที่ได้ดำเนินการเรื่องนี้ไปแล้วบางส่วน สภานักเรียนโรงเรียนนี้ได้มีการพูดคุยหารือกันแล้วนำข้อสรุปที่ได้มาหารือกับทางคณะกรรมการของโรงเรียน ซึ่งจุดเริ่มต้นต้องมาจากตัวเด็กนักเรียนก่อนแล้วก็มาหารือร่วมกัน เพื่อได้แนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินการต่อไป
“เราทุกคนมีความแตกต่างกันเอง จะทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่ได้ กับความแตกต่างในบริบทสังคมที่มีมากมาย แล้วยิ่งโตขึ้นก็ยิ่งมีความแตกต่างมากขึ้นแต่คุณสามารถอยู่ร่วมกันได้ และอยู่อย่างเข้าใจกันด้วย เวลาเด็กแต่งตัวเขาจะเรียนรู้ด้วยตัวเองว่า ชอบเทสแบบไหน เพราะหลายครั้งเวลาเรียนจบไปเข้าไปทำงาน เราไม่รู้ว่าต้องแต่งกายอย่างไรให้ถูกต้องเหมาะสม การที่ได้เรียนรู้มีคุณครู มีเพื่อนๆ คอยแนะนำกัน ทำให้เรารู้ว่าบริบทสังคมตอนโตขึ้นไปจะต้องแต่งตัวอย่างไร” นายเอกวรัญญูกล่าว