สปส.แจ้งดีเดย์ตรวจสุขภาพ กลุ่มแรงงานห่วงงบ 1.8 พันล.

สปส.แจ้ง รพ.คู่สัญญาทั่วประเทศ ดีเดย์ 1 มกราคม 60 ตรวจสุขภาพผู้ประกันตน 12 ล้านคน

ความคืบหน้ากรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ออกสิทธิประโยชน์ตรวจสุขภาพให้กับผู้ประกันตนแบ่งเป็นช่วงอายุตามความจำเป็น อาทิ การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข ผู้ประกันตนอายุ 30-39 ปี ตรวจได้ทุก 3 ปี แต่ถ้าอายุ 40-54 ปี ตรวจได้ทุกปี หรือการตรวจน้ำตาลในเลือด อายุ 35-54 ปี ตรวจทุก 3 ปี หากอายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี ส่วนการเอกซเรย์ทรวงอก ได้ปีละ 1 ครั้ง อายุ 15 ปีขึ้นไป โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 นั้น

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่โรงแรมเบย์ ศรีนครินทร์ จ.สมุทรปราการ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) และตัวแทนเครือข่ายแรงงานกว่า 40 กลุ่ม อาทิ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ มูลนิธิเพื่อนหญิง สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมก่อสร้างและคนทำไม้ฯ องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ร่วมจัดประชุมระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนผลการดำเนินงานและข้อเสนอในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประกันสังคม โดยประเด็นหลักในการหารือ คือ การจัดทำข้อเสนอต่อ สปส. ในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ เกี่ยวกับมาตรา 63(2) แนวทางการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ภายหลัง สปส.ออกประกาศให้ผู้ประกันตนตรวจสุขภาพได้ในสถานพยาบาลตามสิทธิ แต่เป็นไปตามเงื่อนไขต่างๆ นั้น

นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้แทนมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน เปิดเผยว่า จากการอ่านประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงานนั้น ปรากฏว่าขณะนี้เห็นเพียงหลักเกณฑ์และอัตราแนบท้ายการตรวจร่างกายสำหรับประชาชนอายุ 15-80 ปีขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งหากไปศึกษาในกฎหมายแล้ว กรณีนี้จะมีแค่การตรวจสุขภาพ แต่ยังไม่มีแนวทางการส่งเสริมสุขภาพโรคอื่นๆ เลย ซึ่งอาจไม่ตรงกับมาตรา 63(2) ที่เกี่ยวเนื่องจากการส่งเสริมสุขภาพทั้งหมด แบบนี้ถือว่าผิดเจตนารมณ์ด้วยหรือไม่ และจะทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าตรวจสุขภาพคือการส่งเสริมป้องกันโรค ที่สำคัญ สปส.ยังไม่ชัดเจนว่าหน่วยบริการมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ควรออกมาพูดให้ชัดเจน นอกจากนี้ประเด็นมาตรา 63(2) (7) ยังมีเรื่องเยียวยาการช่วยเหลือทางการแพทย์ เบื้องต้นก็ยังไม่มีการกล่าวถึงในประกาศแนบท้ายเลย

Advertisement

นายมนัส โกศล ประธาน คปค. กล่าวว่า เบื้องต้นทางเครือข่ายฯต่างๆ มองว่าประกาศที่ออกมานั้น สามารถปรับปรุงเพิ่มเติมได้ เหมือนกรณีทันตกรรมจาก 600 บาทต่อปี เป็น 900 บาทต่อปี ก็มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ จากเดิมกำหนดอัตราค่าบริการ เงื่อนไขต่างๆ ก็ปรับปรุงให้เหมาะสมตามข้อเรียกร้อง ดังนั้นในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ เครือข่ายจะเข้าพบ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการ สปส. จะนำข้อเสนอเหล่านี้ไปหารือด้วย

“เบื้องต้นเครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข เสนอว่าการตรวจสุขภาพช่องปากจำเป็นต้องมีอยู่ในประกาศด้วย และควรมีการระบุให้ชัดเจนด้วยว่าหากตรวจสุขภาพแล้วพบว่าผู้ประกันตนมีภาวะของโรคใดๆ ก็ตาม เช่น ไต หรือเบาหวาน ต้องได้รับการรักษาทันที และขอให้หลักเกณฑ์ในการตรวจสุขภาพ ไม่ควรมีการกำหนดช่วงอายุ ยกตัวอย่าง มะเร็งปากมดลูก ในประกาศให้ผู้ประกันตนอายุ 30 ปีขึ้นไปตรวจได้ แต่ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ เด็กและวัยรุ่นมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ทั้งนั้น เราควรป้องกันตั้งแต่อายุน้อยไม่ใช่หรือ” นายมนัสกล่าว

พล.ท.นพ.ศิริชัย รัตนวราหะ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ในฐานะกรรมการกองทุนเงินทดแทนชุดที่ 9 ในอนุกรรมการแพทย์กองทุนเงินทดแทน ประกันสังคม กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าโรงพยาบาลต่างๆ มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เพราะกังวลว่าผู้ประกันตนจะไม่ได้รับความสะดวกในการบริการตรวจสุขภาพในวันที่ 1 มกราคม 2560 ต้องสร้างความมั่นใจการเข้าถึงบริการด้วย ส่วนประเด็นที่มองว่า สปส.ไม่ได้คำนึง คือ หากตรวจสุขภาพแล้วพบว่าป่วยจะดำเนินการอย่างไรต่อ รักษาได้ต่อเนื่องทันทีหรือไม่ รวมทั้งแนวทางการตรวจสุขภาพที่ยึดตามกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นั้น บางอย่างไม่ต้องตรวจทุกปี แต่บางอย่างก็จำเป็น อย่างคนทำงานในโรงงานบางอย่างมีความเสี่ยงก็ต้องตรวจทุกปี ตรงนี้จะกำหนดอย่างไร

“สปส.ยังไม่ทำในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) 2558 ซึ่งต้องมีเรื่องกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ กิจกรรมการป้องกันโรค และกิจกรรมการรณรงค์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามสถานการณ์การระบาดของโรค อย่างเรื่องการดูแลระดับปฐมภูมิ รวมไปถึงการจัดบุคลากรทางการแพทย์ หรือหมอที่ได้มาตรฐานมาประจำในโรงงาน สถานประกอบการอย่างแท้จริง เพราะทุกวันนี้หมอที่มาประจำไม่กี่ชั่วโมง ยังทำงานไม่เต็มที่ด้วยซ้ำไป” พล.ท.นพ.ศิริชัยกล่าว และว่า ที่อยากถาม สปส.อีกอย่างคือ งบประมาณที่จะนำมาใช้ 1,800 ล้านบาท อยากถามว่าใช้งบจากส่วนไหน ไม่ควรใช้จากงบกองทุนทดแทน เพราะจะการันตีได้อย่างไรว่าจะไม่กระทบต่อกองทุนชราภาพ

นายกอบ เสือพยัคฆ์ อดีตสำนักงานประกันสังคมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จริงๆ การตรวจสุขภาพมีได้ แต่ต้องให้ชัดเจน อย่างการตรวจสุขภาพพื้นฐาน ควรให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ดูแลดีกว่า ส่วนการตรวจสุขภาพเพิ่มเติมควรให้ สปส.มาดูว่า มีอะไรสมควร รวมทั้งอะไรที่เกี่ยวเนื่องกับการตรวจโรคจากการทำงานก็ต้องเป็นหน้าที่ของ สปส. ควรแยกให้ชัดเจน ที่สำคัญควรมีการสอบถามผู้ประกันตนว่า เห็นด้วยหรือไม่เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพรูปแบบไหน

ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ยินดีรับฟังข้อเสนอ โดยทั้งหมดยืนยันว่าหลักเกณฑ์ที่ออกมาอิงตามข้อมูลวิชาการ โดยทำงานร่วมกับกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยศึกษาและพิจารณาแล้วว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ และจำเป็นกับกลุ่มอายุ แต่หากต้องปรับปรุงในอนาคตก็ยินดี เพราะทาง พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำชับว่า ทุกนโยบายต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนแบบประชารัฐ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เครือข่ายผู้ประกันตนเสนอให้สอบถามความคิดเห็นผู้ประกันตนมากกว่านี้หรือไม่ นพ.สุรเดชกล่าวว่า เกณฑ์ดังกล่าวยึดข้อมูลวิชาการ ข้อมูลเหล่านี้มีการสำรวจประชาชน ความจำเป็นในการตรวจสุขภาพมาก่อนแล้ว การตรวจบางอย่างหากไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่น่าจะทำ เช่น ตรวจมะเร็งปากมดลูก ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี หากสงสัยถามสูตินรีแพทย์ได้ ส่วนการกำหนดอายุและบอกว่าทุกช่วงวัยเป็นได้หมด แต่ต้องดูความเสี่ยงว่ากลุ่มไหนมากที่สุดก็ต้องคำนวณตามหลักการลงทุน ความคุ้มค่าด้วย ทั้งนี้ สปส.ให้ความสำคัญผู้ประกันตน แต่ขณะเดียวกันเงินที่มีอยู่จะทำอย่างไรให้คุ้มค่าด้วย อย่างการตรวจสุขภาพที่กำหนดอายุ 15 ปีขึ้นไป เพราะกฎหมายประกันสังคมกำหนดให้ดูแลผู้ทำงานอายุ 15 ปีขึ้นไป ส่วนที่ สปสช.ของบประมาณในการดูแลสุขภาพประชาชนทุกคน ทั้งการให้ความรู้สุขภาพต่างๆ ทางประกันสังคมก็พยายามไม่ให้ซ้ำซ้อน

อย่างไรก็ตามสำหรับความพร้อมของโรงพยาบาลคู่สัญญา สปส.ได้ส่งหนังสือกำชับโรงพยาบาลทั้งหมดแล้ว หากผู้ประกันตนเข้ารับบริการแล้วไม่ได้รับความสะดวกให้แจ้งสายด่วน 1506

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image