นักรณรงค์สุขภาวะของคนข้ามเพศ เผย ‘แปลงเพศไม่ใช่เพราะสวยงาม’ แต่เป็นเรื่องจิตใจ ขอ สปสช. ให้ความชัดเจน

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ณชเล บุญญาภิสมภาร นักรณรงค์สุขภาวะของคนข้ามเพศ กล่าวถึงกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือ บัตรทอง ให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมการผ่าตัดแปลงเพศหากมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ สามารถเบิกจ่ายได้ โดยจะมีการออกแพคเกจเร็วๆ นี้ ว่า “รู้สึกว่าเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน” เพราะเท่าที่ติดตามข่าวการให้สัมภาษณ์ของ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. บอกว่ามีเคสที่เคยเบิกจ่าย 1 ราย ก็รู้สึกว่าทั้งที่ทำได้แต่ยังไม่มีใครทำ มองว่าอาจจะยังไม่มีระบบรองรับ หรือไม่ชัดเจนเรื่องนโยบายสู่ผู้ปฏิบัติงาน อีกเรื่องที่ค่อนข้างกังวล คือ การเสนอข่าวบอกเป็นสิทธิสำหรับคนหลากหลายทางเพศ จริงๆ อยากให้มองลึกกว่านั้น จริงๆ อยากให้ระบุชัดเจนว่า เป็นกลุ่มคนข้ามเพศ เพราะกลุ่มคนหลากหลายทางเพศนั้นไม่ได้ต้องการที่จะแปลงเพศทั้งหมด ตนทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สิ่งที่สื่อสารผ่านสังคมตลอด คือ สุขภาพสุขภาวะเกี่ยวกับการข้ามเพศมีความจำเป็นและเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนข้ามเพศ

“เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การมีสิทธิตรงนี้ ไม่ใช่สิทธิพิเศษ ไม่ใช่เพื่อความสวยงาม อย่างการผ่าตัดแปลงเพศ การใช้ฮอร์โมน ก็จำเป็นเพราะส่งผลต่อคนคนหนึ่งที่ร่างกายไม่ตรงกับเพศสำนึก เป็นการช่วยให้เข้าใกล้ร่างกายที่ตนรู้สึกพึงพอใจ ก็จะส่งผลให้คนนั้นมีสุขภาวะที่ดี เรื่องกาย จิตใจ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างและสังคม เป็นการให้คนคนหนึ่งมีสุขภาวะที่ไปไกลกว่าเรื่องสุขภาพกาย” ณชเลกล่าว

ณชเลกล่าวว่า นิยามที่ใช้เรื่องการผ่าตัดแปลงเพศคือ การผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศ (Gender-affirming care) เรื่องที่กังวลคือ การข้ามเพศเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ไม่ใช่การทำครั้งเดียวแล้วจบ แต่สิทธิประโยชน์จะมีความครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน มีขอบเขตอย่างไร อย่างบางคนอยากทำแค่หน้าอกอย่างเดียว บางคนอยากทำหน้าอก อยากแปลงเพศ ฯลฯ จึงอยากให้ออกแบบชุดบริการหรือแพคเกจที่มีความครอบคลุม อย่างต่างประเทศการผ่าตัดยืนยันเพศจะครอบคลุมทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดเท้า ออกแบบให้ครอบคลุมถึงคนคนหนึ่งที่มีสุขภาวะที่ดี ซึ่งเรื่องนี้หลายคนจะไม่ค่อยเข้าใจ คิดว่าเป็นเรื่องสวยงามถึงไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเราสามารถเปลี่ยนให้คนทั่วไปเห็นความสำคัญว่า ไม่ใช่เรื่องความสวยงาม แต่เป็นเรื่องของคนคนหนึ่งที่จะมีสุขภาวะที่ดีได้จริงๆ

เมื่อถามถึงผลกระทบจากการที่เพศสภาพไม่ตรงกับจิตใจก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพกายสุขภาพจิตหรือการใช้ชีวิตอย่างไร ณชเลกล่าวว่า อยากยกตัวอย่างในเรื่องของการใช้ฮอร์โมน ตรงนี้ถูกผลักเป็นภาระให้ผู้ใช้ฮอร์โมนต้องมาศึกษาหาข้อมูล ถามรุ่นพี่ที่ใช้เป็นการถามปากต่อปาก แล้วไปซื้อยาเองที่เภสัชกร ไม่มีตัวระบบบริการที่ชัดเจน แล้วก็มีความกังวลที่จะเดินเข้าไปหาผู้ให้บริการตาม รพ. ก็ถูกตั้งคำถามในเชิงของความไม่เข้าใจ ทำไมถึงอยากเทกฮอร์โมนจะทำให้เป็นมะเร็ง หรือจะไม่ฉีดยาให้ จึงรู้สึกว่า ถ้า สปสช.มีนโยบายชัดเจน จัดชุดบริการที่ครอบคลุม จะทำให้ผู้จัดบริการ หมอ พยาบาล เรียนรู้เพิ่มทักษะตัวเอง ปรับทัศนคติการรับบริการที่มีความเป็นมิตรหรือเป็นบวก คนกลุ่มข้ามเพศก็จะกล้าเข้ารับบริการที่จะปลอดภัยและมีคุณภาพ รวมถึงผู้ที่มาใช้บริการในกลุ่มหลากหลายทางเพศอื่นๆ ก็จะเกิดผลประโยชน์ร่วมกัน

ADVERTISMENT

ถามต่อว่าสิทธิประโยชน์ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ รพ.รัฐ ซึ่งมีคิวผ่าตัดหรือรับบริการเยอะและนานมาก สุดท้ายก็จะกลับไปรับบริการเสียเงินเองที่ รพ.เอกชนหรือไม่ ณชเลกล่าวว่า ตนมองว่าสเต็ปแรกคือการมีชุดบริการที่ชัดเจน และสเต็ปต่อไปคือการขยายบริการ ซึ่งไทยเรามีแพทย์เก่ง ใครๆ ก็มาเพื่อผ่าตัดยืนยันเพศ ซึ่งตนมองว่าหากนโยบายเป็นจริง แน่นอนว่าภาครัฐมีการรอคิว ส่วนภาคเอกชนอาจจะไม่มีคิว หมอทำได้เลย จึงมองว่าสิทธิประโยชน์ตรงนี้ก็เป็นออปชั่นหรือทางเลือก การมีชุดบริการของ สปสช. ทำให้คนรายได้ต่ำ ไม่เคยคิดฝันว่าจะแปลงเพศได้ ที่ต้องออกเงินเองทุกบาททุกสตางค์ แต่รัฐช่วยครอบคลุมให้ดูแลเรื่องสุขภาพ มีสุขภาวะดีขึ้น ก็จะมีทางเลือกไปต่อคิวขอรับบริการตรงนี้ รวมถึงเกิดความกระเตื้องในการปรับหรือเพิ่มทักษะการให้บริการมากขึ้น จาากที่การผ่าตัดแปลงเพศทำได้แค่กระจุกตัวในเมืองใหญ่ๆ เช่น กทม. ก็จะกระตุ้นให้เกิดการขยายบริการเพิ่มมากขึ้นด้วย

“จริงๆ การมีชุดบริการถือเป็นเรื่องที่ดี คนมีทางเลือกมากขึ้น อย่างที่ผ่านมาจะไม่มีทางเลือก กะเทยจะไปแปลงเพศก็ต้องเก็บเงินทั้งชีวิตเพื่อแปลงเพศ เพื่อให้รู้สึกว่าตนเองสมบูรณ์พร้อม ไม่เหมือนที่คนอื่นสามารถจะไปซื้อบ้านซื้อรถพัฒนาตนเอง การที่มีชุดบริการก็จะทำให้คนเข้าถึงมากขึ้น แม้จะรอคิว ก็เป็นทางเลือก และมองว่าจะเกิดราคามาตรฐาน เพราะรัฐโอบอุ้มออกแบบ ราคาก็ถูกกว่าเอกชน ที่ผ่านมาไม่มีราคามาตรฐาน มีเงินมากก็เลือกไปหาหมอคนนั้นคนนี้ 1-3 แสนบาท เราไม่รู้เลยราคาและคุณภาพเป็นอย่างไร แต่เมื่อภาครัฐเข้ามาบอกชุดบริการมาตรฐาน ก็จะเกิดการปรับตัว ท้ายที่สุดคือเกิดทางเลือกให้คนคนหนึ่ง” ณชเลกล่าว

ADVERTISMENT

ณชเลกล่าวอีกว่า กรมีสิทธิประโยชน์ทำให้เกิดการดูแลอย่างต่อเนื่องด้วย อย่างที่เคยพูดคุยกับรุ่นพี่ที่แปลงเพศอายุ 40 ปีขึ้นไป จะพบว่า พวกเขาไม่เคยหาหมออีกเลย หลังแปลงเพศเสร็จก็จบ เพราะไม่รู้จะไปตรวจอะไรอย่างไรบ้าง เพราะไม่เคยมีชุดบริการมาก่อน ส่วนใหญ่มาแปลงที่ กทม. เสร็จกลับต่างจังหวัดและไม่เคยไปตรวจเลย แต่ถ้านโยบายเกิดขึ้นจริง เมื่อมีชุดบริการก็จะเกิด Health Literacy คนก็จะรอบรู้มากขึ้น และเข้าสู่ระบบบริการ คนเคยแปลงเพศรู้ว่าต้องไปหาหมอ มีบริการตรงนี้เข้าไปได้ คนรู้จักดูแลตนเองมากขึ้น จากที่ผ่านมาไม่รู้

ถามว่าต้องฝาก สปสช.พิจารณาเรื่องใดหรือไม่ ณชเลกล่าวว่า การทำงานเพื่อออกแบบชุดบริการตรงนี้ หลายครั้งทำงานกับแค่หมอ ผู้ให้บริการ แต่คนที่เป็นผู้รับบริการไม่เคยมีส่วนร่วมในการออกแบบไม่ว่าจะนโยบายไหนก็ตาม ควรให้คนที่เป็นผู้รับผลประโยชน์หลัก หรือมีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ร่วมออกแบบ รับฟังความคิดเห็น จะทำให้นโยบายไม่ได้ถูกคิดแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถ้า สปสช.ดำเนินการเรื่องนี้ ควรมีกลไกรับฟังเสียงในชุมชนคนข้ามเพศ กลุ่มหลากหลายทางเพศ มาคิดออกแบบนโยบายตรงนี้ด้วย เพื่อเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ให้และรับบริการ

ถามว่าจะเข้าไปพบปะหารือกับทาง สปสช.ด้วยหรือไม่ ณชเลกล่าวว่า ตนทำงานร่วมกับรองเลขาธิการ สปสช. ซึ่งมีกลไกฝ่ายส่งเสริมความร่วมมือภาคประชาชนก็เข้าไปทำงานร่วม ซึ่งเราเพิ่งไปคุยเรื่องยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกันกับ สปสช.ในประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ปีหน้าจะมีนโยบายเกิดขึ้นมาจริง แต่ไม่ได้หมายความว่างานเราเสร็จ ต้องมีการเดินหน้าต่อ ในการติดตามว่ามีอุปสรรคข้อติดขัดในการดำเนินการหรือไม่อย่างไร คงต้องทำงานต่อไปเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image