ปลัดฯ แรงงาน แจงปม ‘ดีเอสไอ’ กล่าวหาอดีต รมต.-ขรก.เอี่ยวหักหัวคิวคนทำงานที่ฟินแลนด์ ยันไม่จริง จ่อฟ้องทำให้เสียหาย
จากกรณีที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นำโดยกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะพนักงานอัยการที่อัยการสูงสุดมอบหมายให้ร่วมสอบสวน มีมติร่วมกันให้กล่าวหา “อดีตข้าราชการฝ่ายการเมืองระดับรัฐมนตรี 2 คน และผู้บริหารระดับสูง กระทรวงแรงงาน อีก 2 คน” รวมทั้งหมด 4 คน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 เนื่องจากพบหลักฐานโยงหักค่าหัวคิวขบวนการส่งแรงงานไทยไปประเทศฟินแลนด์ เสียหาย 36 ล้านบาท
ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มกราคม นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว “มติชน” ว่า ในประเด็นของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มีความเกี่ยวข้องกับแรงงานที่ไปทำงาน ชื่อว่า “ทุเรียน” โดยไปทำงานที่ประเทศฟินแลนด์ แล้วถูกจับกุมเนื่องจากพบว่ามีการค้ามนุษย์ ซึ่งผู้ที่ถูกจับกุมนั้น ได้ให้การกับตำรวจฟินแลนด์ว่า กรณีดังกล่าวมีการจ่ายค่าหัวคิวแรงงาน ซึ่งในส่วนนี้นั้น กระทรวงแรงงานขอยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ในกระทรวงฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้
“เราไม่รู้เลยว่า เขาเอาเงินไปจ่ายกับใคร เป็นการอ้างลอยๆ แต่เมื่อเป็นข่าวออกมาแล้ว ทำให้กระทรวงฯ เสียหาย เป็นการตั้งข้อกล่าวหาโดยที่ยังไม่มีรายละเอียด ซึ่งตามกระบวนการแล้ว ทางดีเอสไอจะต้องส่งเรื่องให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อนที่จะมีการตั้งข้อกล่าวหา” นายไพโรจน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงที่มาที่ไปของการมีกรณีเรียกเก็บค่าหัวคิวดังกล่าว นายไพโรจน์ กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากทางฟินแลนด์ระบุว่า มีกลุ่มนายหน้าหรือผู้จัดหางานให้คนไทยไปทำงานในฟินแลนด์ เรียกเก็บค่าใช้จ่ายแรงงาน แล้วบอกว่าเป็นค่าหัวคิว เพื่อนำส่งให้กับข้าราชการการเมืองของกระทรวง 2 คน ดังนั้น ทางฝ่ายข้าราชการประจำก็จะไม่รู้เรื่องนี้อยู่แล้ว และสามารถยืนยันได้ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
เมื่อถามต่อไปว่า หากข้อกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง ทางกระทรวงฯ จะดำเนินการอย่างไรต่อหรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า เราจะต้องไปฟ้องกับผู้ที่ตั้งข้อกล่าวหาเรา ซึ่งในส่วนนี้ก็จะเป็นนิติบุคคลที่นำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งกับทางดีเอสไอ
เมื่อถามอีกว่า ได้พบเจอกับนิติบุคคลรายดังกล่าวแล้วหรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า ตนรู้ว่าเป็นคนไหน เนื่องจากได้รับการปล่อยตัวจากตำรวจประเทศฟินแลนด์แล้ว ซึ่งเขาได้กล่าวหาว่า มีการเรียกเก็บเงินผ่านโบรกเกอร์ จึงทำให้คิดไปว่า มีการนำเงินส่วนนั้นมาให้กับอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) หรือ ผู้บริหารฝ่ายการเมือง ต้องได้รับเงินนั้น แต่ก็ไม่มีหลักฐานมายืนยันได้
เมื่อถามว่า หากมีการไปเก็บเงินกับแรงงานจริง แต่เงินส่วนนั้นไม่ถูกส่งมาถึงกระทรวง จะเท่ากับเป็นการเอาไปแอบอ้างเพื่อหาผลประโยชน์หรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า เราจะต้องไปหาว่าเขาจ่ายเงินนั้นกับใคร แล้วมีการนำเงินส่งไปให้ใครอีก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
– ดีเอสไอ แจ้งข้อกล่าวหา ‘อดีตรมต.-ขรก.แรงงาน’ หักหัวคิวส่งคนไทยไปฟินแลนด์ 36 ล้าน