‘มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม‘ เสนอทุกร้านค้าสัตว์เลี้ยงต้องมี ‘ถังดับเพลิง‘ รณรงค์รับเลี้ยงแทนซื้อสัตว์
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่โรงแรมแคนทารี เฮ้าส์ รามคำแหง กรุงเทพมหานคร สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) และองค์กรเครือข่าย จัดเสวนาบูรณาการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนและสัตว์ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา ลิงลพบุรีและกรณีเหตุเพลิงไหม้ ตลาดขายสัตว์เลี้ยงศรีสมรัตน์ จตุจักร กรุงเทพมหานคร
บรรยากาศเวลา 13.00 น. เริ่มการประชุมกรณีเหตุเพลิงไหม้ ตลาดขายสัตว์เลี้ยงศรีสมรัตน์ จตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยมีการเชิญผู้แทนจาก ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อรับมอบจดหมาย และมีการแถลงขอแสดงความเสียใจต่อสัตว์กว่า 5,000 ชีวิตสูญเสียจากเหตุถูกไฟคลอกเสียชีวิตในครั้งนี้ พร้อมร่วมแสดงความห่วงใยกับผู้ประกอบการทุกรายที่ได้รับผลกระทบ และแสดงจุดยืนร่วมกันในการต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์และการพัฒนาการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น โดยที่ประชุมได้ร่วมเสนอทางออกร่วมกัน ประกอบด้วย
1. จัดให้มีเครือข่ายเฝ้าระวังติดตาม ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์เพลิงไหม้ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยผลการตรวจสอบต่อสาธารณะโดยด่วน และติดตามการดำเนินการพัฒนาปรับปรุง อาคารสถานที่ขายสัตว์เลี้ยง ให้มีมาตรฐาน รวมทั้ง มีมาตรการแผนระงับเหตุป้องกันอัคคีภัยและด้านความปลอดภัยอื่นๆ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมด
2. สนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ในการจัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติมาตรฐาน ตามข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร เรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ 2561 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการขออนุญาตเปิดร้านประกอบกิจการค้าสัตว์ หรือ กิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยง
3. สนับสนุนการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ด้านนิติวิทยาศาสตร์ กรณีสัตว์ประสบภัยพิบัติ อัคคีภัย แก่หน่วยงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เวลาเข้าไประงับเหตุ
4. จัดอบรมให้ความรู้ การช่วยเหลือฉุกเฉิน กรณีสัตว์ประสบภัยพิบัติ อัคคีภัย
5. ร่วมเป็นเครือข่าย สนับสนุนเฝ้าระวัง ติดตามบังคับใช้ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557
6. ขอให้กรมปศุสัตว์ มีการศึกษาข้อดีและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการขอใบอนุญาตของสถานเพาะพันธุ์สุนัขแมวและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เพื่อออกข้อกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องมีการขอใบขออนุญาตสถานเพาะพันธุ์เพื่อจะได้ กำหนดการเริ่มต้นหรือการเพิกถอน มาตรการการลงโทษ การสิ้นสุดของใบอนุญาตได้นั้น ซึ่งจะเป็นผลดีในระยะยาวของการกำกับ ติดตามดูแล ซึ่งจะเป็นการช่วยพัฒนาสถานประกอบการให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล ลดปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ และที่สำคัญลดปัญหาการทิ้งสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรที่ต้นทางได้ระดับหนึ่งอีกด้วย
ในตอนหนึ่ง นางสาวสุชัญญา แสงสว่าง ผู้แทนมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนได้ลงพื้นที่และได้เห็นหลายๆอย่าง และอยากจะเสนอ กทม. เรื่องไฟไหม้ที่จตุจักร
“ดิฉันเดินรอบจตุจักร ตอนไฟไหม้และตอนไม่ไหม้ ไม่มีระบบการป้องกันอัคคีภัย ที่สำคัญที่สุดคือทุกร้านควรมีถังดับเพลิง ควรจะบังคับหรือใช้มาตราการ ซึ่งจะช่วยได้มาก” น.ส.สุชัญญากล่าว
น.ส.สุชัญญากล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 สัตว์ที่โดนไฟไหม้ ไม่มีหน่วยงานที่เข้าไปช่วย ด้วยประสบการณ์ที่ตนเคยลงพื้นที่บ่อนไก่
“มีสัตว์บาดเจ็บ กู้ภัยก็นำสัตว์ไปวางที่ฟุตปาธในตอนที่ไม่รู้จะเอาสัตว์ไปวางไว้ที่ไหน ดิฉันขอเสนอความคิดเห็น กทม. ควรมีหน่วยกู้ภัยคนและสัตว์ “ นางสาวสุชัญญากล่าว
นางสาวสุชัญญาชี้ว่า สถานที่รองรับสัตว์ควรมีมาตรการขึ้นทะเบียน การหมั่นตรวจสอบ ข้อนี้สำคัญมาก เนื่องจากตนไปเห็นที่พักพิงหลายๆ ที่
“มันคือสถานที่ย้ายสัตว์ไปตาย สภาพสัตว์ก็ไม่ได้รับการดูแล อยากให้ กทม. ได้ทำสถานที่รองรับสัตว์เหล่านี้เพิ่ม อีกเรื่องเราต้องรณรงค์ให้ประชาชนไปรับสัตว์มาเลี้ยงแทนการซื้อสัตว์ อยากให้หลายๆ หน่วยงาน อยากให้เป็นภาพรวมภาพให้หลายๆหน่วยงาย อยากให้ผู้มีชื่อเสียงรณรงค์ให้เป็นระดับประเทศ ให้รับเลี้ยงสัตว์มากกว่าการซื้อสัตว์มาเลี้ยง” น.ส.สุชัญญากล่าว
ในตอนหนึ่ง น.ส.กฤตธีรา อินพรวิจิตร หรือ เข็มตีสิบ กล่าวว่า ตนเข้ามาทำภาคประชาชน ตอนไฟไหม้ครั้งแรกช่วงเช้า ได้เขียนจดหมายไปหา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เสนอรัฐบาลต้องมีถังดับเพลิง โดยเสนอไปในนามภาคประชาชน
“เราเฟลกับขบวนการทั้งหมด เวลาที่เราต้องการความช่วยเหลือ ไม่มีใครทำ เราทำตลอดระยะเวลา 10 ปี ใช้ทุนตัวเอง เห็นมาตลอดที่จตุจักร ต่อให้ต้องควบคุมดูแลค้าค่าย ในฐานะคนปกติที่เดิน การค้าขายมันร้อน ต้องไปเดินเดือนเมษายน เชื่อว่าหลายคนไม่ได้ไปสำรวจจริงๆ ว่าเดือนเมษายนที่จตุจักรว่าเขาเก็บหมากันอย่างไร แล้วช่วยหมามาหลายตัวมาก 2 วันตาย แล้วคนขายก็ไม่มีใบประกอบ ทุกคนรู้ ประชาชนรู้ แต่ภาครัฐไม่รู้ เราไม่เข้าใจ”
“ที่มาวันนี้ เพราะอยากเข้ามาฟังว่ามีหน่วยงานใดที่จะสามารถซัพพอร์ตเราได้ ประเด็นคือเราจะไม่ต้องการให้มีการค้าขายสัตว์ตรงนั้นอีก เราไม่ต้องการให้เก็บสัตว์ตอนกลางคืน เรามองสัตว์เป็นหลัก” น.ส.กฤตธีรากล่าว
น.ส.กฤตธีรากล่าวต่อว่า ถ้าเป็นไปได้ถ้าจะต้องจัดที่ขายสัตว์ ช่วยทำให้เหมือนสมัย พ.ศ. 2525 เอาสัตว์มาขาย เอานกมาใส่กรงขาย ตอนเย็นคุณเอากลับไป ต้องมีฟาร์ม ไม่ใช่เพาะขายเองที่บ้าน
“ถ้าเกิดต้องการความช่วยเหลือหรือต้องการภาคประชาชนช่วยเป็นกระบอกเสียง บอกเลย เรายินดี เราไม่อยากให้เรื่องนี้เงียบขายไป” น.สกฤตธีรากล่าวทิ้งท้าย
ด้าน น.ส.ชัญญา ผาสุงพงษ์ กรรมการสมาคมสงเคราะห์สัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ทางสมาคมไม่ได้แค่เสนอเรื่องร้านค้าสัตว์เลี้ยง แต่ยังผลักดันการแก้ปัญหาเรื่อง ‘คาเฟ่แมว’ เมื่อปี 62 ที่ภาคเหนือ และให้กรมปศุสัตว์สำรวจประเด็นที่ว่า เป็นเรื่องธุรกิจของกิน และก็มีแมวอยู่ในนั้น แต่ปรากฏว่ามีกรณีการดูแลสัตว์ที่ไม่ตรงกับสวัสดิภาพอย่างถูกต้องซึ่งทางสมาคมฯ ก็ไปรู้ในตอนนั้นว่ามีข้อกำหนดกิจการอันตรายเกี่ยวกับสุขภาพในธุรกิจที่มีสัตว์ อยู่ด้วย
“เท่าที่ทราบ กรุงเทพฯ ก็มีนโยบายให้คาเฟ่แมวไปขอใบอนุญาตนานแล้ว แต่ผู้ประกอบการไม่รู้ และภาครัฐเองก็ไม่ได้ประชาสัมพันธ์เท่าที่ควร ตอนนั้นปี 62 ได้ข้อมูลจาก กทม.ว่า คาเฟ่แมวขอใบอนุญาตอย่างถูกต้องเพียง 10 ร้านค้าเท่านั้น และปัจจุบันทั่วกรุงเทพฯ มีร้านค้าสัตว์เลี้ยงกว่า 2,000 แห่ง แต่ขออนุญาตจริงๆ แค่ 30 แห่ง ซึ่งน้อยมาก“ น.ส.ชัญญากล่าว
น.ส.ชัญญากล่าวต่อว่า ทางสมาคมฯ เห็นว่าควรต้องมีการจดทะเบียนร้านค้าสัตว์อย่างถูกต้อง ซึ่งกทม. ก็มีบทบาทตรงนี้ คาเฟ่แมว ร้านค้าสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงแหล่งเพาะสัตว์ บ้านพักพิงสัตว์ทั้งหลาย ถ้ามีการจดทะเบียนหรือขออนุญาตอย่างถูกต้องได้จะดีมาก
โดยจะให้เขตทำหน้าที่ในการแจ้งว่า ในพื้นที่มีร้านค้าสัตว์หรือคาเฟ่แมวหรือไม่ แล้วก็ไปขออนุญาตให้ถูกต้อง หาก กทม.มีเรื่องของข้อบัญญัติกิจการอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งกรมปศุสัตว์ก็มีอยู่ด้วย และขอให้เขตประชาสัมพันธ์ ให้ร้านค้าสัตว์เลี้ยง หรือฟาร์มเพาะรวมถึงที่พักพิงสัตว์ ไปแจ้งผ่านทางเขตเพื่อขอใบอนุญาตนั้น และให้สำนักงานสัตวแพทย์ ร่วมกรมปศุสัตว์และกรมอุทยานช่วยกันตรวจสอบ และยังมีอีกหลายที่และตามตรอกซอกซอยที่ยังไม่ถูกต้อง
รวมถึงบ้านพักสัตว์ที่อยู่เป็นร้อยตัวและยังไม่ได้รับการตรวจสอบ และสุขภาพสัตว์อ่อนแอ หากว่ามีการทำให้ถูกต้องในวาระเดียวกันในเหตุการณ์นี้ ก็จะสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ในกรุงเทพฯ นำร่อง และนำไปสู่ต่างจังหวัด
”ถ้าไม่มีการขออนุญาตที่ถูกต้อง ก็ไม่มีสิทธิจะค้าขายได้ และถ้าเปิดได้ แต่ตรวจสอบสุขภาพสัตว์แล้วไม่ได้มาตรฐาน มีการทารุณกรรมสัตว์ ก็ต้องมีกฎหมายคุ้มครอง และตอนนี้ก็มีกฎหมายด้านสาธารณสุขกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
เท่าที่ทราบ ในสัปดาห์นี้ ท่านผู้ว่าฯ จะมีการกำหนดกฎในการแก้ไขปัญหานี้ขึ้นมา ต้องการให้มีภาคีเครือข่ายมาช่วยกำหนดทิศทางเพื่อที่จะหาทางออก นี่ก็เป็นหมุดหมายที่สำคัญ และเป็นตัวช่วยที่จะผลักดันให้กทม. หาทางออกทิศทางได้ อาจจะทำงานง่ายขึ้น และนำเสนอการตั้งต้นที่จะหาทางออกร่วมกัน“ น.ส.ชัญญากล่าว
น.ส.ชัญญากล่าวต่อว่า Exotic pet มีสัตว์หลากหลาย สิ่งที่น่ากลัวคือ สปีชีส์ ถ้าเอาไปทิ้งทำให้ระบบนิเวศจะเสียหายมาก หมาแมวอย่างเดียวไม่ได้ ธุรกิจของสัตว์สัตว์เลี้ยงไปไกลมากแล้ว สินค้าเลี้ยงก้าวไประดับเอเชียแล้ว เรื่องสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) เป็นเรื่องใหญ่ในการปฏิบัติ กทม. เป็นเมืองหลวงไทย ถ้าเมืองหลวงไทยขยับ ลาวก็ขยับ เวียดนามก็ขยับ กัมพูชาก็ขยับ และไทยเรามีกฎหมายป้องกันทารุณกรรมสัตว์ปี 2557 ตอนนี้ 10 ปีแล้ว
“ถ้าเราผลักดันตรงนี้ จะเป็นหมุดหมายที่ดีในการป้องกันสัตว์ หากมีทิศทางออกมาแล้ว จะเสนอต่อท่านผู้ว่าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ผลักดันตรงนี้ เนื่องจากท่านต้องการคนช่วยคิด หรือหาขอบข่ายวิถีให้เกิดแผนปฏิบัติตาม” น.ส.ชัญญา กล่าว
- อ่านข่าว : สัตวแพทย์ดัง มึนข้อเสนอ เอา ‘อาหารหมา’ มาให้ลิง เตือนต้องมองไกล แนะททท.ปรับตลาดเที่ยวลพบุรีใหม่
- เปิดสภาพตลาดปลาจตุจักรหลังถูกไฟวอด เจอสัตว์ยังมีชีวิตอื้อ ชัชชาติลุยตรวจ
- เผาวอดศูนย์รวมสัตว์เลี้ยง-ปลาสวยงาม ตลาดปลาจตุจักร เสียหาย 118 ร้าน สัตว์ตายนับ 1,000 ตัว
- องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เสียใจไฟไหม้จตุจักร เรียกร้อง 2 ข้อ คุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์