เปิดผลชันสูตร เสือโคร่ง 116M ตายที่บุรีรัมย์ ติดเชื้อในร่างกายเพียบ กระสุนปริศนาฝังอยู่ 3 นัด

เปิดผลชันสูตร เสือโคร่ง PDT-116M ตายที่บุรีรัมย์ ติดเชื้อในร่างกายเพียบ อวัยวะภายในเสียหายหลายแห่ง กระสุนปริศนาฝังอยู่ 3 นัด ส่งพิสูจน์เอาผิดตามกฎหมาย

จากกรณีที่ชาวบ้านพบ เสือโคร่ง บริเวณฝายปูน ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งติดกับป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ จนชาวบ้านบริเวณนั้นต่างหวาดผวา เกรงว่าจะได้รับอันตราย เพราะเสือโคร่งตัวดังกล่าวเข้าไปกัดวัวชาวบ้านจนได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนจะเข้าไปแจ้งหน่วยรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อ.โนนดินแดง ต่อมามีการเปิดเผยว่าเสือโคร่งตัวดังกล่าวคือ PDT-116M เพศผู้ ซึ่งเป็นเสือที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอยต่อของปางสีดา ทับลาน ดงใหญ่ ตาพระยา กระทั่งได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่า พบเสือโคร่ง PDT-116M นอนหายใจรวยริน ไร้เรี่ยวแรง ร่างกายมีสภาพผอมโซ และตายในเวลาต่อมา

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม นายสมส่วน รักสัตย์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้สรุปรายงานกรณีดังกล่าวว่า คณะเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่จ.บุรีรัมย์ สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และทีมสัตวแพทย์ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) ได้ร่วมติดตามตรวจสอบกรณีพบเสือโคร่งบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ ด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านคลองหิน ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง โดยมีรายละเอียดการดำเนินการ ดังนี้

คณะเจ้าหน้าที่ได้ติดตามเสือโคร่งบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ ด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านคลองหิน ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 โดยเสือโคร่งตัวดังกล่าวเป็นเสือโคร่งที่อาศัยหากินในพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ รหัส PDT-116M เพศผู้ ตัวเต็มวัย มีพฤติกรรมเคลื่อนที่ช้า และวนเวียนอยู่ที่เดิม มีความผิดปกติในการดำรงชีวิต

ADVERTISMENT

จนเมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 พบเสือโคร่งนอนนิ่งอยู่บริเวณพิกัด UTM (WGS84) 255865E 1573446N ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ มีอาการอ่อนแรง หายใจติดขัด และได้ตายลงในเวลา 10.22 น.

คณะเจ้าหน้าที่จึงได้เข้าตรวจสอบซากเสือโคร่ง พบว่านอนตายในท่าตะแคงซ้าย ไม่มีบาดแผลสดใหม่ตามร่างกายแต่อย่างใด มีบาดแผลเก่าตลอดร่างกาย และมีปรสิตทั่วร่างกาย โดยคณะเจ้าหน้าที่มีความเห็นร่วมกันว่า เสือโคร่งตัวดังกล่าวอาจตายเนื่องจากโรคบางอย่าง หรือความผิดปกติบางอย่าง หากทิ้งซากไว้ในป่าอาจจะทำให้สัตว์ป่าติดเชื้อได้

เนื่องจากยังไม่สามารถระบุสาเหตุการตายได้ ประกอบกับบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้ชุมชน หากประชาชนเข้าไปเจอซากเสือโคร่งอาจกระทำผิดกฎหมายบางอย่างได้ เนื่องจากเป็นซากสัตว์ป่าที่มีความต้องการของตลาดมืด จึงได้เคลื่อนย้ายซากเสือโคร่งออกมาที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ เพื่อทำการตรวจสอบและชันสูตรหาสาเหตุการตาย

ผลการชันสูตรโดยสัตวแพทย์ พบว่า สภาพซากปกติ มีความสดใหม่ สภาพร่างกายภายนอกพบความผิดปกติ ได้แก่ มีคะแนนความสมบูรณ์ของร่างกาย (Body condition score) เท่ากับ 1/5 (ผอมมาก) มีรอยถลอกขนาดเล็กตามร่างกาย พบรอยโรคบนผิวหนังลักษณะขนร่วงเป็นรูปวงกลม ลูกตาซ้ายพบฝ้าขาวบางส่วน

ส่วนปลายของฟันเขี้ยวทั้งสี่ซี่มีลักษณะทู่ พบเห็บจำนวนมากเกาะตามร่างกาย มีคราบอุจจาระเหลวสีน้ำตาลดำไหลออกมาจากทวารหนัก พบน้ำลายไหลออกมาจากปาก บริเวณเหงือกพบแผลหลุมขนาดเล็กและการอักเสบของเหงือกบางตำแหน่ง พบคราบขี้ตาแห้งสีเขียวอ่อนที่ตาซ้าย

อวัยวะภายในพบความผิดปกติ ได้แก่ หัวใจมีสีแดงเข้ม พบเนื้อตายสีขาวบริเวณหัวใจบางส่วน มีเนื้อเยื่อลักษณะเป็นเมือกสีเหลืองใสบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจส่วนบน พบจุดสีขาวบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างมีความหนาตัว พบเลือดออกในปอด พบตุ่มกลมนูนในปอด พบตัวพยาธิไชในเนื้อปอด

ประเมินสภาพเนื้อปอดมีความเสียหายกินพื้นที่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อปอดทั้งหมด ตับมีสีแดงเข้มบางบริเวณ ม้ามมีผนังสีขาวหนาตัวมากกว่าปกติ ไตมีขนาดใหญ่ เนื้อเยื่อหุ้มไตมีลักษณะเหนียวและยึดติดกับไตแน่น เนื้อไตมีสีแดงมากกว่าปกติ

พบจุดเลือดออกกระจายทั่วเนื้อไต ไม่พบอาหารในกระเพาะอาหาร ผนังด้านในกระเพาะอาหารพบการอักเสบเป็นสีแดงเล็กน้อย พบเลือดออกในกระเพาะอาหาร พบของเหลวปนเมือกสีน้ำตาลแดงในกระเพาะอาหาร พบลิ่มเลือดในลำไส้เล็ก

ผนังด้านในลำไส้เล็กมีลักษณะหนาตัวมากกว่าปกติและพบจุดเลือดออก พบลิ่มเลือดในลำไส้ใหญ่ พบพยาธิเกาะอยู่ที่ผนังด้านในลำไส้จำนวนมาก พบอุจจาระลักษณะเป็นเนื้อข้นสีน้ำตาลแดงในลำไส้ใหญ่ส่วนท้าย ต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกายขยายขนาดใหญ่ ผนังด้านในหลอดลมมีสีแดงเล็กน้อย ปัสสาวะมีสีเหลืองขุ่น ผนังด้านในกระเพาะปัสสาวะมีลักษณะขุ่นและหนาตัวมากกว่าปกติ

พบ ลูกกระสุน ลักษณะทรงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 9 มิลลิเมตร จำนวน 3 ลูก ฝังอยู่ในชั้นใต้ผิวหนังบริเวณหลังคอ จำนวน 2 ลูก และบริเวณอก จำนวน 1 ลูก บาดแผลบริเวณผิวหนังตำแหน่งที่พบลูกกระสุนหายดีแล้ว

สันนิษฐานสาเหตุการตายว่า เสือโคร่งตัวดังกล่าวตายจากภาวะการติดเชื้อในร่างกายหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่ พยาธิในปอด พยาธิภายในทางเดินอาหาร เห็บกินเลือด อีกทั้งฟันเขี้ยวที่ใช้ล่าเหยื่อทู่ทำให้ล่าเหยื่อได้ยากขึ้น ทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร ประกอบกับมีอวัยวะภายในที่สำคัญหลายอย่างเสียหายไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จึงทำให้เสือโคร่งมีร่างกายอ่อนแอและตายลง

คณะเจ้าหน้าที่จึงเก็บตัวอย่างเลือด น้ำปัสสาวะ น้ำเมือกในกระเพาะอาหาร อุจจาระ สมอง หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไต กระเพาะอาหาร ลำไส้ ต่อมน้ำเหลือง พยาธิที่พบในปอด พยาธิที่พบในลำไส้ ส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติของร่างกาย และเก็บตัวอย่างเลือด กล้ามเนื้อ และผิวหนังติดเส้นขน ส่งตรวจที่ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อทำข้อมูลรหัสพันธุกรรมเสือโคร่งที่พบในกุล่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

โดยมอบหมายให้ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าดำเนินการส่งตัวอย่างที่เก็บไปยังห้องปฏิบัติการ และมอบหมายให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่รับซากเสือโคร่ง พร้อมลูกกระสุน จำนวน 3 ลูก ไปพิจารณาสืบสวน พร้อมดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป