ชัชชาติ ขอคิดละเอียดต่อสัมปทานBTS ปี 2572 ย้ำมีหนี้ที่ต้องจ่ายอีก 4 หมื่นล้าน

‘ชัชชาติ’ ขอคิดละเอียดต่อสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่จะหมดในปี 2572 ย้ำมีหนี้ที่ต้องจ่ายอีก 4 หมื่นลบ.

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8/2567 เปิดเผยถึงแนวทางการชำระหนี้ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

นายชัชชาติกล่าวว่า ยอมรับคำสั่งศาล โดยจะเร่งการประชุมใหญ่เพื่อหาข้อสรุประหว่าง กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) โดยจะมีการวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลโดยละเอียด ซึ่งมีบางจุดที่เป็นประเด็นจากศาล ต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบตามที่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมาและหาแนวทางในการปฏิบัติ

นายชัชชาติกล่าวว่า ในส่วนความผิดคือการหยุดชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ในช่วงประมาณปี 2562 เพราะมีคำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติต่อสัญญาสัมปทานไปจนถึงปี 2603 โดยรวมค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่างๆไว้ในสัญญาสัมปทาน แต่ ครม.ยังไม่มีการออกมติมา ทำให้ทางบีทีเอสฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ให้ กทม.ชำระเงิน ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1 และ 2

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครอง  ระบุว่า กทม.ไม่ต้องรอมติ ครม. โดยให้จ่ายเงินตามภาระที่เกิดขึ้น รวมถึงระบุดอกเบี้ยมาด้วย ซึ่งก็ทำให้ กทม.มีภาระและความกดดันเพิ่มมากขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1 จำนวน 2,000 ล้านบาท ส่วนต่อขยาย 2 จำนวน 6,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 8,000 ล้านบาท แต่ค่าโดยสารที่เก็บได้ เป็นจำนวน 2,000 ล้านบาท ทำให้ต้องใช้เงินงบประมาณมาจ่ายส่วนต่างในการเดินรถ จำนวน 6,000 ล้านบาท

นายชัชชาติกล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่ กทม.ได้รับปีละ 90,000 ล้านบาท เมื่อต้องหักไปจ่ายหนี้ 6,000 ล้านบาท รวมทั้งมูลหนี้ที่เหลือรวมแล้วเกือบ 40,000 ล้านบาท ก็จะเป็นภาระของคนกรุงเทพฯ ทุกคน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 140 วัน และจะพยายามให้การดำเนินการทั้งหมดเสร็จสิ้นภายใน 180 วัน ตามคำสั่งศาล แต่ต้องไปดูคำสั่งศาลให้ถี่ถ้วน เพราะข้อมูลบางตัวอาจจะไม่เป็นปัจจุบัน

“กทม.จะพยายามใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด เพราะเงินที่นำมาใช้เป็นเงินของประชาชน และจะหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวว่าจะมีวิธีใดที่จะช่วยแบ่งเบาภาระตรงนี้ได้ และการต่อ สัญญาสัมปทานที่จะหมดในปี 2572 จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ละเอียดต่อไปอีกที” นายชัชชาติกล่าว