ตะลึงฝูงวาฬเพชฌฆาตเล็ก 6 ตัว เกยตื้น หาดกุ้ง ภูเก็ต เศร้า รากต้นโกงกางพันคอตาย 1 ตัว

ตะลึงฝูงวาฬเพชฌฆาต เล็ก 6 ตัว เกยตื้น หาดกุ้ง ภูเก็ต เศร้า รากต้นโกงกางพันคอตาย 1 ตัว

วันที่ 3 สิงหาคม ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ว่าได้รับแจ้งเหตุจากเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) ว่าได้พบฝูงวาฬเพชรฆาตเล็ก หรือ Pygmy Killer whale จำนวน 6 ตัว เกยตื้นบริเวณป่าชายเลนพื้นที่อ่าวกุ้ง ต. ป่าคลอก อ. ถลาง จ. ภูเก็ต เครือข่าย อสทล. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทช.จึงได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ พบวาฬฝูงดังกล่าวอยู่ในสภาพที่แข็งแรง สามารถว่ายน้ำเอง จำนวน 3 ตัว ส่วนอีก 2 ตัว สภาพร่างกายค่อนข้างอ่อนแรง มี 1 ตัวที่หัวไปติดกับรากของต้นโกงกาง ทำให้เกิดภาวะช็อก จนขาดอากาศหายใจตาย เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบเบื้องต้น พบเพียงบาดแผลภายนอก

ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทช. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าฝูงวาฬเพชฌฆาตเล็กดังกล่าวพลัดหลงเข้ามาในพื้นที่ป่าโกงกางขณะว่ายน้ำหาอาหาร ทั้งนี้เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ให้การรักษาพยาบาล พร้อมช่วยเหลือโดยเคลื่อนย้ายฝูงวาฬเพชฌฆาตเล็ก เข้าไปยังบริเวณร่องน้ำลึกที่เกาะยาวใหญ่ ซึ่งใช้วิธีการเคลื่อนย้ายด้วยเรือของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และเรือประมงชาวบ้าน และจะลาดตระเวนเฝ้าระวัง ป้องกันภัย พร้อมให้การช่วยเหลือหากมีตัวหนึ่งตัวใดแสดงอาการผิดปกติ ซึ่งจากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่าในประเทศไทยมีการพบเห็นวาฬเพชฌฆาตครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 โดยพบที่ฝั่งอ่าวไทย1 ครั้งและฝั่งอันดามัน2ครั้ง

Advertisement

 

ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่มีวาฬเพชรฆาตดำขึ้นมาเกยตื้นเช่นนี้ สาเหตุหลักๆคาดว่า จะว่ายน้ำหลงมาในร่องน้ำตื้น และพื้นที่บริเวณอ่าวพังงานั้นเป็นพื้นที่ที่เมื่อน้ำลงแล้วจะแห้งไปไกล ทำให้วาฬทั้งหมดเกยตื้น

Advertisement

“ชาวบ้านไปเจอตอนประมาณตี 3 แล้วแจ้งมาทางเรา น่าเสียดายว่า ตัวหนึ่งถูกรากของต้นโกงกางพันคอ และทำให้สำลักน้ำตายไป อีก 5 ตัว ปลอดภัยดี และได้ให้เจ้าหน้าที่นำตัวไปส่งบริเวณร่องน้ำลึก ที่จะสามารถทำให้ว่ายน้ำออกไปได้ แต่คงต้องเฝ้าระวังอีกพักหนึ่ง เพราะพวกมันอาจจะหาอาหารเพลินและหลงทางเข้ามาอีก”ดร.ก้องเกียรติ กล่าว

เมื่อถามว่า การเข้ามาเกยตื้นของฝูงวาฬเพชรฆาตเล็กครั้งนี้ สื่อถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอะไรหรือไม่ ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า เป็นความผิดปกติ ของการนำทางของฝูง ที่นำทางผิดพลาดจนเข้ามาอยู่ในพื้นที่น้ำตื้นกระทั่งต้องเกยตื้นพร้อมกัน ไม่เกี่ยวกับสัญญาณใดๆทางธรรมชาติ

“ปกติแล้ว เราไม่ค่อยพบ วาฬเพชรฆาตเล็กแบบนี้ เพราะพวกเขาอยู่ในทะเลลึกซึ่งที่พบนี้เป็นตัวผู้ 2 ตัว ตัวเมีย 4 ตัว ที่ตายไป 1 ตัวเป็นตัวผู้ ซึ่งเราก็จะเก็บเป็นตัวอย่างเอาไปศึกษาต่อไป”ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image