“พิพัฒน์” ลุยตรวจด่านพรมแดนไทย-เมียนมา เร่งแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวลอบเข้าทำงาน
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ ด่านพรมแดนถาวรบ้านริมเมย สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 1 อ.แม่สอด จ.ตาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญช่วย หอมยามเย็น รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมการตรวจเยี่ยมด่านพรมแดนถาวรบ้านริมเมย
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จากผลการดำเนินการอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาล (มาตรา64) ตนมีความห่วงใยในประเด็นบัตรผ่านแดนที่มี 2 ประเภท คือ บัตรผ่านแดน และ บัตรผ่านแดนชั่วคราว โดยจะได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาพื้นที่ชายแดนมีวัตถุประสงค์ เยี่ยมญาติ การท่องเที่ยว ราชการ ธุรกิจ กีฬา การทำงานแบบไปกลับหรือแบบฤดูกาล ซึ่งผมขอให้แต่ละบริษัทผู้ประกอบการ มีความรัดกุมเรื่องการจ้างงานประเภทอาชีพต้องห้ามที่สงวนไว้สำหรับคนไทย รวมถึงจะต้องเข้มงวดเรื่องการตรวจ 6 โรคต้องห้าม ได้แก่ โรคซิฟิลิส วัณโรค สุราเรื้อรัง สารเสพติด เท้าช้าง และโรคเรื้อน พร้อมทั้งต้องมีหลักประกันคุ้มครองด้านสุขภาพให้ครอบคลุม
“เรื่องของการค้าชายแดนนั้นมีความสำคัญมากเปรียบเหมือนส่วนหนึ่งของเส้นเลือดสายด้านเศรษฐกิจประเทศไทย จึงต้องเตรียมพร้อมด้านแรงงาน ทุกกลุ่มอย่าเท่าเทียม” พิพัฒน์ กล่าวด้าน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับคนต่างด้าว ตามมาตรา 64 หรือ คนสัญชาติเมียนมา และกัมพูชา ที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยใช้บัตรผ่านแดน (Border Pass) เพื่อเข้ามาทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนของประเทศไทยภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา หรือกัมพูชา โดยสามารถขออนุญาตทำงานได้คราวละ 3 เดือน และสามารถทำงานในประเภทงาน กรรมกร และรับใช้ในบ้าน เท่านั้น โดยเป็นคนต่างด้าวประมาณ 5,100 คน และมีผลการดำเนินงานขอรับใบอนุญาตทำงาน ปีงบประมาณ 65 จำนวน 16,014 ครั้ง ปี 66 จำนวน 11,863 ครั้ง และปี 67 จำนวน 17,266 ครั้ง ซึ่งประเภทกิจการจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานมากที่สุด ได้แก่ กิจการผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป กิจการผลิตหรือจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และกิจการผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากดิน (เซรามิก) ตามลำดับ
สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว ที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694