ปลัดแรงงาน เผย ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท “ทุกจังหวัด” แต่เฉพาะกิจการขนาดใหญ่ก่อน ลั่น ต้องดูสายป่านนายจ้าง จ่ายไหวหรือไม่ นัดถกบอร์ดใหญ่ 16 ก.ย.นี้
เมื่อวันที่ 6 กันยายน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 (บอร์ดค่าจ้าง) เปิดเผยว่า ตามที่บอร์ดค่าจ้างจะต้องมีการประชุมในทุกเดือนนั้น แต่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่าน ไม่มีการประชุมเนื่องจากอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ยังส่งตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัดมาไม่ครบ ทำให้ต้องเลื่อนการประชุมออกมา ล่าสุด ในเดือนกันยายนนี้อนุจังหวัดฯ ได้ส่งตัวเลขเข้ามาครบแล้ว จึงมีกำหนดการประชุมประจำเดือนออกมาแล้ว โดยในวันที่ 9 กันยายน จะมีการประชุมของคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง เพื่อนำตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำในทุกจังหวัดมาพิจารณาในรายละเอียด ว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในภาพรวมของประเทศ ควรจะขึ้นเท่าไหร่ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้สำรวจประเภทกิจการที่ให้ค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 400 บาทต่อวัน มาเพื่อพิจารณาประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในกิจการประเภทดังกล่าวก่อน แต่ก็ต้องดูมติของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ก่อน ส่วนบอร์ดค่าจ้างชุดใหญ่จะมีการประชุมกันในวันที่ 16 กันยายน
เมื่อถามว่าในการประชุมของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ จะมีการกำหนดสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำเลยหรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า ยัง แต่จริง ๆ สูตรไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะการคิดคำนวณสูตรเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากเราต้องพิจารณาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้า ภาวการณ์จ้างงาน ไปจนถึงความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างด้วย ฉะนั้น จะเอาสูตรมาพิจารณาอย่างเดียวไม่ได้ อย่าไปมองว่าสูตรเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง
ถามต่อว่าในนโยบายการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน จะเป็นไปในลักษณะใด นายไพโรจน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน แต่หลักการคืออาจจะต้องประกาศเป็นรายประเภทกิจการก่อน เช่น กิจการขนาดใหญ่ ไซซ์ L ที่มีลูกจ้างมากกว่า 200 คนขึ้นไป ส่วนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือธุรกิจ SME ก็อาจต้องเอาไว้ทีหลัง หรือธุรกิจขนาดเล็กไซซ์ S หรือไซซ์ M อาจเอาไว้ก่อน ซึ่งข้อสำคัญคือต้องดูถึงความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างด้วย
เมื่อถามย้ำว่าจะเป็นการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่ไม่ใช่ทุกประเภทกิจการใช่หรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า ใช่ เพราะต้องดูประเภทกิจการ เป็นไปไม่ได้ที่จะขึ้นทุกประเภทกิจการ โดยเฉพาะ SME ที่ผู้ประกอบการจะเดือดร้อนแน่ ๆ เราถึงต้องดูความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างเป็นสำคัญ
“ต้องดูสายป่านนายจ้างที่สามารถจ่ายให้ลูกจ้างได้ พร้อมกับดูองค์ประกอบหลายอย่างด้วย” นายไพโรจน์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “พิพัฒน์” จ้างงานด่วน 400 คน เร่งเคลียร์ดินโคลนในบ้านให้ชาวเชียงรายใน 5 วัน
- ปลัดฯไพโรจน์ อำลา ขรก.แรงงาน ฝากภารกิจคนใหม่ ขับเคลื่อน ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’
- เครือข่ายแรงงาน แถลงหนุนค่าจ้างขั้นต่ำ 400 ทั้งประเทศ พร้อมกำหนดเป็นอัตราแรกเข้า
- 10 องค์กรเอกชนสงขลา ‘ค้าน’ ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 หวั่นค่าครองชีพพุ่ง แนะรอให้ศก.กระเตื้องก่อน