‘ยางิ’ จ่อเข้าเวียดนาม 7-8 ก.ย. ไทยเสี่ยงในพื้นที่ ปราจีนบุรี ตราด นราธิวาส
เมื่อวันที่ 6 กันยายน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำประจำวันที่ 6 กันยายน 2567 นั้น 1.คาดการณ์ปริมาณฝน ช่วงวันที่ 7-11 กันยายน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคตะวันออก และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก
สำหรับพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” (YAGI) ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 7-8 กันยายน 2567 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน และพายุดีเปรสชั่นตามลำดับ
นายสุรสีห์กล่าวว่า 2.อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา และแม่จาง จังหวัดลำปาง อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่ง สทนช. ได้มีการแนะนำให้มีการพร่องน้ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำในเดือนกันยายน และตุลาคม โดยให้พิจารณาไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนพื้นที่ท้ายน้ำ
นายสุรสีห์กล่าวต่อว่า 3.คาดการณ์สถานการณ์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
3.1 สถานการณ์น้ำแม่น้ำยม ปัจจุบันสถานการณ์แม่น้ำยมอยู่ในสภาวะปกติเกือบทั้งหมดยกเว้นบริเวณสถานี Y.16 ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก สถานการณ์ปัจจุบัน ระดับน้ำ 8.48 ม. (สูงกว่าระดับตลิ่ง 1.18 ม.) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สถานี Y.64 อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันมีระดับน้ำ 7.50 ม. (สูงกว่าตลิ่ง 1.10 ม.) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และลดลงเข้าสู่ตลิ่งวันที่ 10-11 กันยายน
3.2 สถานการณ์แม่น้ำน่าน ปัจจุบันสถานการณ์แม่น้ำน่านอยู่ในสภาวะปกติไม่มีปัญหาน้ำล้นตลิ่ง และคาดการณ์ล่วงหน้า 7 วัน พบว่าปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นไม่ทำให้ปริมาณน้ำเกิดปัญหาอุทกภัย
3.3 สถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ความจุลำน้ำ 3,660 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 1,496 ลบ.ม./วินาที (ร้อยละ 41 ของความจุลำน้ำ) คาดว่าในช่วง 7 วันข้างหน้าจะมีปริมาณน้ำจะอยู่ในช่วง 1,462-1,490 ลบ.ม./วินาที ร้อยละ 40-41 ของความจุลำน้ำและคาดการณ์ว่าจะระบายน้ำด้วยอัตรา 1,498 ลบ.ม./วินาที และจะเพิ่มเป็นแบบขั้นบันไดไม่เกิน 1,700 ลบ.ม./วินาที เพื่อเตรียมรับน้ำหลากที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์หน้า และสถานี C.29A ศูนย์ศิลปชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความจุลำน้ำ 3,500 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 1,550 ลบ.ม./วินาที (ร้อยละ 60 ของความจุลำน้ำ)
3.4 สถานการณ์แม่น้ำชี ปัจจุบันสถานการณ์แม่น้ำชีอยู่ในสภาวะปกติไม่มีปัญหาน้ำล้นตลิ่ง และคาดการณ์ล่วงหน้า 7 วัน พบว่าปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นไม่ทำให้ปริมาณน้ำเกิดปัญหาอุทกภัย
3.5 สถานการณ์แม่น้ำมูล ปัจจุบันสถานการณ์แม่น้ำมูลอยู่ในสภาวะปกติไม่มีปัญหาน้ำล้นตลิ่ง และคาดการณ์ล่วงหน้า 7 วัน พบว่าปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นไม่ทำให้ปริมาณน้ำเกิดปัญหาอุทกภัย
3.6 สถานการณ์แม่น้ำโขง ปัจจุบันสถานการณ์แม่น้ำโขงภายในประเทศและแม่น้ำโขงสายหลักอยู่ในสภาวะปกติไม่มีปัญหาน้ำล้นตลิ่ง และคาดการณ์ล่วงหน้า 7 วัน พบว่าปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นไม่ทำให้ปริมาณน้ำเกิดปัญหาอุทกภัย แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ลุ่มต่ำตามลำน้ำสาขา เช่น ลำน้ำเลย ต.เชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย คลองหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ลำน้ำก่ำ ลำน้ำอูน และแม่น้ำสงคราม อ.เมืองนครพนม และศรีสงคราม จ.นครพนม ห้วยปากแซง ต.พะลาน อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีปริมาณฝนตกในพื้นที่จำนวนมาก และการระบายลงสู่แม่น้ำโขงเป็นไปได้ช้า
นายสุรสีห์กล่าวว่า 4.สถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบัน พบในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.ขุนตาล และพญาเม็งราย) จ.สุโขทัย (อ.สวรรคโลก ศรีสำโรง คีรีมาศ และกงไกรลาศ) จ.พิษณุโลก (อ.เมืองฯ บางระกำ บางกระทุ่ม ชาติตระการ และพรหมพิราม) จ.นครสวรรค์ (อ.ชุมแสง) จ.อ่างทอง (อ.โพธิ์ทอง วิเศษชัยชาญ แสวงหา และป่าโมก) และ จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.พระนครศรีอยุธยา เสนา บางบาล ผักไห่ บางไทร และบางปะอิน)
5.การช่วยเหลือนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคเหนือ โดยได้สนับสนุนถุงยังชีพรวมแล้วกว่า 10,000 ชุด แจกจ่ายให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้น และเตรียมพร้อมรับมือสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่
6.ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 13/2567 ลงวันที่ 1 กันยายน 2567 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 3-9 กันยายน 2567 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ดังนี้
6.1 พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสตูล
6.2 เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80
6.3 เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำยม แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำตราด แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
“ส่วนการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน สทนช. ประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยง จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ปราจีนบุรี (อ.ประจันตคาม) จ.ตราด (อ.เมืองตราด และบ่อไร่) และ จ.นราธิวาส (อ.สุไหงปาดี และสุไหงโก-ลก) ซึ่ง สทนช. ได้ประสานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว” นายสุรสีห์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ยามาฮ่า เดินหน้าต่อเนื่องในโครงการยามาฮ่าร่วมใจ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
- กมธ.กฎหมาย-มั่งคง ซักเดือด 2 จำเลย คดีตากใบ อยู่ตปท. รุมบี้ตร. ประสานอินเตอร์โพล ส่งตัวกลับ
- “สเปิร์มไม่เคลื่อนที่” สาเหตุหลักของภาวะมีบุตรยากในชาย
- น้ำท่วม กระทบท่องเที่ยวแม่แตง เสียหายนับ 100 ล. เร่งทำแผนขอเยียวยา รบ. พร้อมจับมือททท.ฟื้นฟู