ลูกจ้างมีเซ็ง! ปลัดแรงงานชี้เพิ่มค่าจ้างรายครอบครัวค่อนข้างยาก!!

หลังจากเครือข่ายแรงงานได้ออกมาเรียกร้องประเด็นต่างๆ ต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการขอเพิ่มค่าจ้างให้เป็นธรรม โดยไม่อิงการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แต่ต้องเพิ่มให้เพียงพอกับค่าครองชีพ ที่คนงาน 1 คนเลี้ยงครอบครัว 2 คน ประกอบกับข้อเรียกร้องอื่นๆ ทั้งการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ให้เป็นองค์กรอิสระ นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้พิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำประจำปี 2560 ใน 69 จังหวัดทั่วประเทศ มีผลไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 ดังนั้น ข้อเสนอให้ปรับค่าจ้างโดยกำหนดให้แรงงาน 1 คนต้องได้รับค่าแรงพอเลี้ยงดูครอบครัว 2 คนนั้น ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะเป็นอย่างไร แต่จะสูงถึง 600-900 บาทคงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งอีก 6 เดือนจะพิจารณาทบทวนเรื่องค่าแรง ซึ่งคณะกรรมการค่าแรงจังหวัดจะรวบรวมข้อมูลในแต่ละพื้นที่มาพิจารณาต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำที่พิจารณาไปแล้วนั้น คณะกรรมการค่าจ้างปรับเป็นอัตรา 305 บาทต่อวันใน 49 จังหวัด และ 308 บาทต่อวันใน 13 จังหวัด และ 310 บาทต่อวันใน 7 จังหวัด โดยมีเกณฑ์พิจารณาต่างๆ

ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สปส.พร้อมรับข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ โดยในเรื่องการปฏิรูปสปส.ให้เป็นองค์กรอิสระนั้น พื้นฐานจริงๆคือ ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุน ซึ่งสปส.ก็มีการดำเนินการ โดยการรับฟังความคิดเห็นกรณีการแยกหน่วยลงทุนออกไป ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย และขณะนี้กำลังร่างพ.ร.บ.กองทุนเพื่อการลงทุนของสำนักงานประกันสังคม และเพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นไปตามข้อเรียกร้องนั้น จากคณะกรรมการสปส. ซึ่งมีกรรมการจาก 3 ภาคส่วน คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ เรียกว่าไตรภาคี ก็จะทำหน้าที่สรรหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมาดำเนินการ อย่างการลงทุน ก็ต้องสรรหาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการลงทุน เป็นต้น และข้อมูลการลงทุนก็จะเปิดเผยต่อสาธารณะมากขึ้น โดยอาจเปิดเผยทุกไตรมาส

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีข้อเรียกร้องของผู้พิการในสิทธิประกันสังคมที่หลายคนไม่ต้องการย้ายสิทธิรักษาพยาบาลไปยังบัตรทองนั้น นพ.สุรเดช กล่าวว่า ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 58/2559 สั่ง ณ วันที่ 14 กันยายน 2559 ให้คนพิการ ที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมีสิทธิรับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้พิการที่ไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล หลายคนมีความต้องการอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนในสิทธิสปส.ตามเดิม และมีความต้องการเลือกว่าจะรักษาพยาบาลในสิทธิประกันสังคมหรือบัตรทองได้หรือไม่นั้น เรื่องนี้ได้ส่งเรื่องเพื่อสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาในวันที่ 4 พฤษภาคมนี้

Advertisement

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องเรื่องค่าแรงอย่างเป็นธรรมนั้น ทางคสรท.ขอย้ำว่าไม่ได้ระบุตัวเลขว่า ต้องจำนวนเท่าไหร่ เพียงแต่ใช้ตัวเลขตามหลักสากลว่า คนงาน 1 คนต้องเลี้ยงดูครอบครัว 2 คน ซึ่งจุดนี้คณะกรรมการค่าจ้าง ต้องเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม แต่หากพูดถึงจำนวนตัวเลขรายบุคคล ทาง คสรท.ก็ยังยืนยันที่ตัวเลขที่ 360 บาทต่อคนต่อวัน และต้องเท่ากันทั่วประเทศตามเดิม อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้เคยเสนอข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ดังนั้น จะรอเวลาอีกประมาณ 1-2 เดือน หากยังไม่มีความคืบหน้า ทางคสรท.อาจขอเข้าทวงถามต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท. กล่าวว่า ประเด็นที่ยังไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง คือ การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ไอแอลโอ(ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการ่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัว ซึ่งต้องไปด้วยกันทั้งหมด โดยฉบับที่ 87 จะเป็นเรื่องของการอนุญาตตั้งสหภาพแรงงาน เมื่อมีสหภาพแรงงานขึ้น ก็จะสามารถเจรจาต่อรองเพื่อสิทธิของแรงงานได้ เป็นไปตามฉบับที่ 98 นั่นเอง

นายประกอบ ปริมล เลขาธิการสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า นอกจากเรื่องค่าแรง ในส่วนของรัฐวิสาหกิจยังคงยืนยันตามเดิม คือ คัดค้านการแปรรูป และการปรับลดสิทธิสวัสดิการต่างๆ เนื่องจากหลายคนมักเข้าใจว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจได้สิทธิสวัสดิการมากมาย แต่ปัจจุบันสิทธิสวัสดิการที่มากคือ สิทธิข้าราชการ โดยรัฐวิสาหกิจถูกลดสิทธิลง ซึ่งปัจจุบันรัฐวิสาหกิจมีอยู่ประมาณ 50 แห่ง ก็มีความหวาดหวั่นในเรื่องนี้ และวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ ทางสมาพันธ์จะขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเกี่ยวกับเรื่องนี้

Advertisement

“เราสนับสนุนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ แต่เราไม่เห็นด้วยกับการแปรรูป และแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ นอกจากนี้ ขอให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจด้วย” นายประกอบกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image