นักวิชาการผังเมือง มธ. แนะหามาตรการผังเมืองรับมือน้ำท่วมกรุง ย้ำการขุดลอกคลอง-จัดการขยะไม่เพียงพอ ชี้อุโมงค์ยักษ์ช่วยได้แค่กรุงเทพฯชั้นใน

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า น้ำท่วมขังที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เกิดจากปัญหา 3 ส่วนที่ต้องแก้ไข ได้แก่ 1.ขยะอุดตันตามท่อระบายน้ำ 2.ขยะที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3.ช่องโหว่ในการบังคับใช้ของกฎหมายผังเมือง พร้อมแนะนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หามาตรการในการป้องกันน้ำฝนที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมที่รุนแรงกว่าปี 2554 เพราะมาตรการทางผังเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอต่อการรับมือน้ำท่วมในอนาคต พร้อมมองว่าอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้นในกรุงเทพฯชั้นใน แต่ควรหามาตรการในการป้องกันให้กรุงเทพฯชั้นนอกและปริมณฑลร่วมกันด้วย เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเพียง 1-2 เมตร และไม่ได้รับเพียงน้ำฝนอย่างเดียวแต่รับน้ำจากน้ำทะเลหนุนและน้ำหลากด้วย

ผศ.ดร.วิจิตรบุษบาอธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากปัจจัยภายใน ซึ่งมีสาเหตุหลักจากดินที่ทรุดตัวต่อเนื่อง โดยบางพื้นที่สูงถึงปีละ 30 มิลลิเมตร และการขยายตัวของผังเมืองไปสู่พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ส่งผลให้เมื่อมีปัจจัยภายนอกอย่างฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้จึงเกิดการขังของน้ำและระบายไม่ทันประกอบกับการเกิดน้ำทะเลหนุนจึงทำให้การระบายเป็นไปอย่างช้าๆ แม้ระบบการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครเมื่อเทียบกับเมืองอื่นในประเทศแล้วจะดีกว่าก็ตาม

ทั้งนี้ ภาครัฐต้องเร่งแก้ไขปัญหา 3 ส่วนได้แก่

1.แก้ไขปัญหาขยะที่อุดตันตามท่อระบายน้ำ โดยการเร่งนำขยะออกจากจุดที่เสี่ยงต่อการกีดขวางทางน้ำไหล

Advertisement

2.สำรวจปัญหาที่อาจเกิดจากก่อสร้างตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ รวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานใต้ดิน เช่น ท่อที่อาจจะยังไม่มีการสำรวจข้อมูลล่าสุดให้ชัดเจนว่าท่อพื้นที่ใดมีความสูงหรือต่างกันอย่างไรบ้าง จนทำให้กรมทางหลวงต้องออกมาเตือนให้ประชาชนได้ระมัดระวังและรับมือโดยมีจำนวน 20 จุดที่เป็นพื้นที่เสียงน้ำท่วมขังซึ่งเรียกว่าเป็นจุดอ่อนไหว ทั้งถนนวิภาวดี งามวงศ์วาน หรือแจ้งวัฒนะ ซึ่งการแก้ปัญหานี้อาจจะไม่ใช้เรื่องง่ายนักเพราะพื้นที่กรุงเทพฯมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเพียง 1-2 เมตรเท่านั้น

3.ตรวจสอบช่องโหว่ของกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผังเมือง จากที่มีข้อถกเถียงว่าสาเหตุของการเกิดน้ำท่วมขังมาจากการจัดการผังเมืองที่ไม่ถูกและควรจัดการผังเมืองใหม่นั้น ในความเป็นจริงแล้วส่วนของนโยบายผังเมืองก็มีการกำหนดพื้นที่ที่ไม่ควรมีการตั้งถิ่นฐานหรือสิ่งปลูกสร้างหนาแน่นอยู่แล้ว แต่ปัญหาจะอยู่ในการบังคับใช้ผังเมือง ที่เกี่ยวข้องกับผู้ปฏิบัติหลายหน่วยงาน และกฎหมายผังเมืองในปัจจุบันก็ไม่อาจจะควบคุมการปลูกสร้างได้ทั้งหมด ทำให้เกิดช่องโหว่และยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรในการบังคับใช้กฎหมายจึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา อาทิ การสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำอาณาเขตซึ่งกีดขวางทางระบายน้ำ ส่งผลให้การระบายทำได้ยาก

นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิจิตรบุษบา ยังกล่าวถึงการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯได้ในระดับหนึ่งแต่ก็เป็นเพียงกรุงเทพชั้นในเท่านั้น ซึ่งต้องหามาตรการอื่นมาเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับกรุงเทพฯชั้นนอกและปริมณฑล เพราะปัญหาน้ำท่วมขังจะไม่หยุดเพียงเท่านี้ แต่จากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศหรือ Climate Change อาจจะส่งผลให้ฝนตกในปริมาณที่มากขึ้นและเกินขีดความสามารถของการระบายน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันและอาจเกิดน้ำท่วมซึ่งจะมีความรุนแรงมากกว่าปี 2554 ด้วยซ้ำ เพราะพื้นที่กรุงเทพฯไม่ได้รับเพียงน้ำฝนอย่างเดียว แต่ยังต้องรับน้ำทะเลหนุนและน้ำหลากด้วย

Advertisement

“แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการออกมาตรการเพื่อป้องกันแล้วขณะนี้ เช่น การขุดลอกคูคลอง การจัดการขยะที่อุดตันตามท่อระบายน้ำ แต่มองว่ายังไม่เพียงพอต่อการรับมือน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ควรจัดหาให้มีมาตรการทางผังเมืองที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อรับมือกับน้ำท่วมในอนาคต” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิจิตรบุษบากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image