บังคับใช้แล้ว ‘พระราชกำหนดแรงงานต่างด้าว’ โทษหนักเอาผิด’นายจ้าง’ ปรับสูงสุด 8 แสน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีการแชร์กันในโลกออนไลน์ กรณีประกาศกฎหมายของแรงงานต่างด้าว หรือ พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเนื้อหาสาระสำคัญหากพบแรงงานต่างด้าวเข้ามาผิดกฏหมายจะได้รับโทษหนัก โดยเฉพาะนายจ้าง ซึ่งทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลฯ ว่า หากกรณีแรงงานต่างด้าวที่ต้องทำงานจำเป็นและเร่งด่วน แต่ไม่แจ้งนายทะเบียน ซึ่งไม่มีเจตนาจะทำอย่างไร เนื่องจากโทษหนักจับปรับถึง 8 แสนบาท

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จุดประสงค์ของการออกเป็นพระราชกำหนดฯ ก็เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้มีความทันสมัย และให้เป็นสากลมากขึ้น เนื่องจาช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมากฎหมายต่างๆก็มีการปรับปรุงแก้ไข ทั้งกฎหมายค้ามนุษย์ หรือแรงงานเด็กต่ำกว่า 15 ปี ก็มีการเพิ่มโทษถึง 4 แสนบาท อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่ากฎหมายนี้ไม่ได้จ้องเอาผิดทั้งหมด และทางกรมจัดหางานได้มีการประชาสัมพันธ์ แจ้งต่อนายจ้างก่อนที่จะประกาศใช้กฎหมายมาแล้วกว่า 2 เดือน อย่างไรก็ตาม สำหรับโทษที่กังวลว่ามีโทษหนักถึง 8 แสนบาทนั้น ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทางศาลเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งไม่ใช่ว่าจะผิดแค่กฎหมายเดียว แต่อาจรวมถึงผิดกฎหมายอื่นๆด้วย อย่างค้ามนุษย์ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพ.ร.ก.ดังกล่าวได้ประกาศในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป ซึ่ง พ.ร.ก.ฉบับนี้ เป็นการรวมกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. การทำงนของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และ พ.ร.ก. การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 โดยมีการปรับปรุงกฎหมายให้บทบัญญัติครอบคลุมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวทั้งระบบ โดยเน้นการให้ความคุ้มครอง อำนวยความสะดวกให้กับทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าว รวมถึงมีการเพิ่มโทษนายจ้างที่กระทำผิดกฎหมาย พร้อมดึงประชาคนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ทั้งนี้ สาระสำคัญ คือ การเพิ่มโทษให้มีอัตราที่สูงขึ้น โดยเฉพาะโทษปรับ “นายจ้าง” จากเดิมหากกระทำผิดเกี่ยวกับการจ้างงานแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะทำผิดต่อแรงงานต่างด้าวกี่คนจะรับรวมเป็นกรณีเดียว แต่ พ.ร.ก.ฉบับนี้ จะปรับนายจ้างแยกตามจำนวนแรงงานต่างด้าวรายคน ทำให้โทษสูงขึ้น เช่น นายจ้างที่จ้างต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำหรือรับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือรับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หรือนายจ้างให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 400,000 บาท ต่อต่างด้าว 1 คน เป็นต้น

ส่วนโทษของแรงงานต่างด้าวก็มีเพิ่มขึ้น เช่น คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คนต่างด้าวที่ทำงานจำเป็นและเร่งด่วนแต่ไม่แจ้งนายทะเบียน มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท คนต่างด้าวทำงานแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

Advertisement

สำหรับการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์นั้น พบว่า หากนายจ้างหรือผู้ใดยึดใบอนุญาตทำงานหรือเอกสารสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 600,000-1,000,000 บาท ต่อคนต่างด้าว 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดประกอบธุรกิจนำคนต่างด้าวมาทำงาน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการจัดหางาน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังเพิ่มกลไกการร้องทุกข์และเข้าถึงช่องทางการร้องทุกข์สำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับความเสียหายจากการที่นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงาน ไม่ปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบที่กฎหมายกำหนด

อนึ่ง งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำในประเทศไทย ตาม พ.ร.ก.กำหนดในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 มีทั้งสิ้น 39 งาน ประกอบด้วย 1. งานกรรมกร 2. งานกสิกรรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญ งานเฉพาะสาขา หรืองานงานควบคุมดูแลฟาร์ม 3. งานก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานก่อสร้างอื่น 4. งานแกะสลักไม้ 5. งานขับขี่ยานยนต์ หรืองานขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกล ยกเว้นงานขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ 6. งานขายของหน้าร้าน 7. งานขายทอดตลาด 8. งานควบคุม ตรวจสอบหรือให้บริการบัญชี ยกเว้น งานตรวจสอบภายในชั่วคราว 9. งานเจียระไน หรือขัดเพชรหรือพลอย 10. งานตัดผม งานดัดผม หรืองานเสริมสวย

11.งานทอผ้าด้วยมือ 12. งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ปอ ฟาง หรือเยื่อไม้ไผ่ 13. งานทำกระดาษสาด้วยมือ 14. งานทำเครื่องเขิน 15. งานทำเครื่องดนตรีไทย 16. งานทำเครื่องถม 17. งานทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก 18. งานทำเครื่องลงหิน 19. งานทำตุ๊กตาไทย 20. งานทำที่นอนผ้าห่มนวม 21. งานทำบาตร 22. งานทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ 23. งานทำพระพุทธรูป 24. งานทำมีด 25. งานทำร่มด้วยกระดาษหรือผ้า 26. งานทำรองเท้า 27. งานทำหมวก 28. งานนายหน้า หรืองานตัวแทน ยกเว้น งานนายหน้าหรืองานตัวแทนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ

Advertisement

29.งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการ ทดสอบ ควบคุมการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ ทั้งนี้ไม่รวมที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ 30. งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบเขียนแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้างหรือให้คำแนะนำ 31. งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 32. งานปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา 33. งานมวนบุหรี่ด้วยมือ 34. งานมัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยว 35. งานเร่ขายสินค้า 36. งานเรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ 37. งานสาวและบิดเกลียวไหมด้วยมือ 38. งานเสมียนพนักงานหรืองานเลขานุการ 39. งานให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี อย่างไรก็ตาม มติ ครม. ได้ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชาทำงานได้ 2 อาชีพ คือ งานกรรมกร และงานบ้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image