เครือข่ายชนเผ่าฯทำหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ยุติแก้ กม.บัตรทอง ชงแก้ใหม่ให้สิทธิคนไร้สถานะ

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนงานด้านชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 37 องค์กร ร่วมกับเครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง​ขอให้ยุติกระบวนการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่าได้ศึกษากฎหมายดังกล่าว พบว่าร่างกฎหมายที่ได้รับการแก้ไขขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข ในการลดความเหลื่อมล้ำด้านบริการสาธารณสุข แนวโน้มเปิดโอกาสให้มีการร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการ หรือในแต่ละครั้งในการใช้บริการ ขาดความครอบคลุมถึงบุคคลที่เป็นคนไทยรอพิสูจน์สถานะ คนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจ ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่มีความสมดุลในคณะกรรมการแก้ไขกฎหมาย ประชาชนไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ที่สำคัญไม่มีคำตอบว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของกฎหมายให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพราะหลักการและเหตุผลของการแก้กฎหมายไม่ชัดเจนว่าจะเกิดประโยชน์อย่างไรกับประชาชน แต่เจาะจงว่าจะแก้มาตราไหนอย่างไรบ้าง พร้อมขอเสนอให้การแก้ไขกฎหมายยึดหลักการดังต่อไปนี้

แฟ้มภาพ

1.การแก้ไขกฎหมายควรยึดหลักการ แก้แล้วประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรเป็นที่ตั้ง เช่น ควรมีการแก้ไขมาตรา 9 มาตรา 10 เพื่อรับรองสิทธิประชาชนด้านบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานเดียวสำหรับทุกคนและมีคุณภาพยอมรับว่าสิทธิด้านสุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนเป็นมนุษย์ควรได้รับเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่ภายใต้กองทุนใด ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายสมทบด้านสุขภาพและให้นำเงินสมทบส่วนสุขภาพของผู้ประกันตนไปเพิ่มในสัดส่วนของบำนาญชราภาพเพื่อที่จะทำให้ผู้ประกันตนมีความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิตมากขึ้น รวมถึงครอบคลุมกลุ่มคนไทย (บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ คนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจด้วย)

แฟ้มภาพ

2.ยกเลิกการเก็บการร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการ หรือในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ เพราะการแก้ไขไม่ได้ยกเลิกการร่วมจ่าย ประชาชนมีโอกาสร่วมจ่ายเมื่อมีการไปใช้บริการ เนื่องจากการแก้ไขมีการเพิ่มเติมสัดส่วนกรรมการจากสถานพยาบาลที่มีแนวโน้มเห็นด้วยกับการร่วมจ่าย และการแยกแยะคนจนผ่านระบบขึ้นทะเบียนคนจน ซึ่งการเก็บเงิน ณ จุดบริการ ทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงบริการ หลายมาตรฐาน ความขัดแย้ง แต่รัฐบาลควรมีแนวทางในการเก็บเงินก่อนป่วยในรูปแบบภาษี หรือสนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบุหรี่และแอลกอฮอล์ น้ำตาล หรือภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น กำไรในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Capital Gain) เพราะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นของทุกคน คนชั้นกลางก็มีสิทธิล้มละลายได้ถ้าต้องจ่ายค่ารักษาบริการสุขภาพราคาแพงด้วยตนเอง

3.ให้ใช้ข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ในการแก้กฎหมาย (Evidence Based) เช่น ควรแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้ สปสช. สามารถจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง โดยในปัจจุบัน สปสช.จัดซื้อยารวมสำหรับโครงการพิเศษเพียงร้อยละ 4.9 ของการจัดซื้อยา ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณในรอบ 10 ปีได้เกือบ 50,000 ล้านบาท เพราะหากไม่แก้กฎหมายให้สามารถจัดซื้อได้ รัฐบาลจะนำเงินปีละ 5,000 ล้านบาทมาจากไหน ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ หรือนี่คือหลุมพรางให้เกิดการร่วมจ่ายของประชาชนในส่วนค่ายาเมื่อไปโรงพยาบาล

Advertisement

4.การแก้กฎหมาย ควรสนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมต่อการกระจายบุคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยการไม่ควรมีการแยกเงินเดือนและค่าตอบแทนของบุคลากรข้าราชการสาธารณสุขออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เพราะจะส่งผลเกิดปัญหาการกระจุกตัวของบุคลากรในเขตเมืองหรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่เกิดขึ้น ยังส่งผลกระทบทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ไม่สามารถจัดจ้างลูกจ้างพนักงานเพิ่มเติมได้ จะเห็นว่ายิ่งจะทำให้เกิดปัญหาการกระจายบุคลากรที่ไม่เป็นธรรมต่อหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลต่อไปไม่สิ้นสุด

5.การจัดสมดุล โครงสร้างการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การแก้ไขกระทำโดยเพิ่มสัดส่วนผู้ประกอบวิชาชีพมากขึ้นทั้งสองคณะ ทั้งที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรเพิ่มสัดส่วนผู้รับบริการให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดความสมดุล และตัดสัดส่วนกรรมการหน่วยงานรัฐที่มีความเกี่ยวข้องน้อย ส่วนคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข ควรมีสัดส่วนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน มาตรา 50 (5) ตัดคณะกรรมการด้านวิชาชีพที่ซ้ำซ้อนกัน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งสองคณะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มสมดุลของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการจำกัดปริมาณคณะกรรมการในจำนวนที่เหมาะสมครบองค์ประกอบตามแนวทางมาตรา 77 รัฐธรรมนูญปี 2560

“ท้ายที่สุดนี้ ขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยุติกระบวนการที่เหลือทั้งหมด และเริ่มกระบวนการทำความเข้าใจเนื้อหาในการแก้ไข รับฟังความคิดเห็นที่กว้างขวาง และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างสมดุล”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image