‘หมออุดม’ หนุนแก้กม.บัตรทอง เผยรพ.ขาดทุนจริง แม้แต่ศิริราช วอนทุกฝ่ายหันหน้าคุยกัน

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน  ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตคณบดีศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ….หรือกฎหมายบัตรทอง ว่า ในฐานะที่ตนเคยผ่านการบริหารโรงพยาบาลมา ยืนยันว่าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง เป็นโครงการที่ดีมาก และเป็นสิ่งที่จำเป็น ตอบโจทย์ประเทศ ดังนั้นโครงการนี้ เป็นสิ่งที่คนไทยทั้งประเทศและรัฐบาลต้องสนับสนุนต่อไป เพียงแต่การดำเนินการที่ผ่านมาจะมีส่วนที่ต้องมีการปรับปรุง เพราะโครงการนี้เกิดขึ้นมา 15 ปีแล้ว โดยสิ่งหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึงคือเรื่องของความยั่งยืน และหลายโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)มีปัญหา เรื่องการขาดสภาพคล่อง แม้แต่โรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ก็มีปัญหานี้ อย่างรพ.ศิริราช มีการขาดทุนปีละเป็นร้อยล้าน บางปี 300 ล้านบาท  แต่สิ่งที่รพ.ศิริราชโชคดีคือมีผู้มาบริจาคผ่านมูลนิธิฯ  ดังนั้นเพื่อความยั่งยืนตนเห็นว่าอะไรที่คิดว่าเป็นปัญหาก็ควรมีการปรับปรุงได้

“ผมมองว่าเรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องหันหน้ามาพูดคุยกันถึงประเด็นต่างๆ  ทั้งรัฐที่ให้งบประมาณกับกระทรวงฯ  และภาคประชาชน ต้องมาหารือร่วมกัน เนื่องจากบางอย่าง ก็ควรจะต้องปรับแก้ไข  อย่างเรื่องที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหา คือ ที่ผ่านมามีการรวมเงินเดือนบุคลากรไว้ในงบเหมาจ่าย  ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์  ควรแยกออกมาดีกว่า อย่างไรก็ตาม ผมว่าทุกฝ่ายน่าจะนั่งคุยกันเอาปัญหามาพูดคุยจริงๆ ไม่งั้นก็ไม่รู้เรื่องเสียที ซึ่งผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไร ไม่ได้อยู่ฝ่ายไหน แต่มองจากคนที่เห็นเท่านั้น” ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีโรงพยาบาลมองว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กำหนดแนวทางการรักษาต่างๆ โดยจำกัดวงเงิน  ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับแนวทางการรักษา ณ ปัจจุบันที่มีการพัฒนามากขึ้นหรือไม่ ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า  เป็นการตั้งเกณฑ์ที่วิจิตรเกินไป  ซึ่งเข้าใจว่า สปสช. มีจุดประสงค์ดี แต่จริงๆ ต้องให้ฝ่ายผู้ให้บริการมาร่วมพูดคุยด้วย เพราะจริงๆแล้วผู้ให้บริการก็อยากให้บริการอย่างดีที่สุด ดังนั้น เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาหากพูดคุยกันด้วยดี และเข้าใจกัน เพราะเรื่องหลายเรื่องมีมิติที่แตกต่าง ก็ต้องเข้าใจในหลายมิติ

“การขาดทุนของโรงพยาบาลต่างๆก็เป็นปัญหาใหญ่จริงๆ โดยจะเห็นได้ชัดเช่นกรณีที่รัฐบาลต้องให้เงิน  5,000 ล้านบาท นี่คือ ปัญหาจริงๆ ซึ่งการพูดคุยกันจะช่วยแก้ปัญหาได้ไม่ใช่มองแค่ฝ่ายเดียว ต้องมองภาพรวมด้วย  ซึ่งเท่าที่ผมดูการแก้ พ.ร.บ.ไม่ได้ทำให้สิทธิประโยชน์ลดลงเลยเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่สิ่งที่แก้จะแก้เรื่องกระบวนการจัดการบางเรื่อง ซึ่งตนเห็นว่าหากเราเอาคนไข้เป็นที่ตั้ง และอยากให้โครงการนี้ยั่งยืนยั่งยืน และโครงการนี้ทำชื่อเสียงให้กับประเทศมาก ดังนั้นเราต้องทำให้ดีขึ้น และเป็นประโยชน์กับประชาชนจริงๆ” อธิการบดีฯกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image