ชาวบ้านในหมู่บ้านอิงกมลแห่ประกาศขายบ้านหนีปัญหากลิ่นเหม็นจากกองขยะ

รายงานข่าวจากจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ว่าปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าขยะหาดใหญ่ และกองภูเขาขยะ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง กับชุมชนโดยรอบกองขยะ ทั้งกลิ่นเหม็น ควันดำ รวมถึงเสียงดัง ทำให้หมู่บ้านดัง 2 แห่งคือหมู่บ้านอิงกมลและหมู่บ้านเออบาน่า ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จากการสำรวจภายในหมู่บ้านอิงกมล ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าขยะไม่มากนักพบว่าบ้านเรือนหลายหลังติดประกาศให้เช่า หลายหลังติดประกาศขาย โดยเฉพาะในช่วงท้ายของหมู่บ้าน ที่อยู่ใกล้กับกองภูเขาขยะ

นางยุพดี ณรงค์กูล กรรมการหมู่บ้านอิงกมลบอกว่า สภาพภายในหมู่บ้านนั้น มีความร่มรื่น มีสระว่ายน้ำ จุดเล่นกีฬา แต่จะมีกลิ่นเหม็นขยะอยู่ตลอดเวลา ทำให้ชาวบ้านกว่า 1,000 คน ที่อาศัยอยู่ภายในหมู่บ้านแห่งนี้ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องและทนไม่ได้จนต้องประกาศขายบ้าน แต่แม้จะขายในราคาถูก ก็ไม่มีผู้ใดสนใจมาซื้อ จึงต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาทั้งในเรื่องกลิ่นเหม็นจากภูเขาขยะ รวมถึงปัญหาด้านมลพิษจากโรงไฟฟ้าขยะหาดใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับขยะได้ โดยไม่ต้องแบกรับภาระปัญหา ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

นายรุ่งโรจน์ และสุบ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา ระบุว่า จากการหารือร่วมกันหลายฝ่ายนั้นพบว่าปัญหาความเดือดร้อนที่ส่งผลกระทบมากที่สุด คือ ปัญหากลิ่นเหม็นของขยะ มาจาก 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณสถานที่ทิ้งขยะเดิม และลานเก็บขยะของโรงไฟฟ้าขยะ โดยภูเขาขยะมีบันทึกข้อตกลงการบริหารจัดการร่วมกัน 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 ประกอบด้วย เทศบาลนครหาดใหญ่, เทศบาลเมืองควนลัง และบริษัท จีเดค จำกัด แต่การบริหารจัดการไม่ได้เป็นไปตามข้อตกลงข้างต้น โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนการดำเนินการ แต่ขยะในบริเวณลานทิ้งของโรงงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการสร้างหลังคาครอบโรงเรือน พร้อมติดตั้งระบบการกำจัดกลิ่น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2560

ในส่วนของปัญหาเขม่าเถ้าฟุ้งกระจาย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อช่วงเวลา 00.30 น. ของวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัม จีเดค จำกัด ได้มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาไว้แล้ว โดยการล็อกประตูปิดเปิดถุงกรองฝุ่น, ปัญหาน้ำเสีย ทน.หาดใหญ่ ได้ตั้งงบประมาณในการดำเนินการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียไว้ ซึ่งน้ำเสียจะมีในกรณีฝนตกและชะล้างขยะลงมาจากภูเขาขยะ สำหรับโรงงานมีการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียไว้แล้ว ในเรื่องของการตรวจวัดค่าสารปนเปื้อนจากปากปล่อง จะทำการตรวจสอบ จำนวน 4 ครั้ง (เฉลี่ย 3 เดือน/ครั้ง) โดยใน 2 ครั้ง จะให้ สนง.ทสจ.สข.ประสานไปยังกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรฯ เข้ามาดำเนินการตรวจวัดค่า และจะนำผลการตรวจวัดมาแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image