จิสด้า-อุตุฯ-กรมชลฯ ร่วมไขข้อข้องใจ เหตุ “สกลฯ” ท่วมหนัก

จากสถานการณ์น้ำท่วมหนักในพื้นที่หลายจังหวัดที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะในจังหวัดสกลนคร ที่ประชาชนในพื้นที่ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยเจอน้ำท่วมหนักขนาดนี้มาก่อน

หลายคนต่างแสดงความเห็นกันไปตามข้อมูลพื้นฐานของตัวเอง แต่จริงๆ แล้วเป็นเพราะเหตุใดกันแน่ ลองไปฟังผู้ที่เกี่ยวข้องในการติดตามและพยากรณ์สภาพอากาศ รวมทั้งผู้ที่ดูแลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำของประเทศว่าเป็นเพราะอะไร

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ให้ข้อมูลเป็นภาพกว้างๆ ก่อนว่า จากการติดตามสถานการณ์อุทกภัยจากภาพถ่ายดาวเทียมเรดาร์ที่เป็นความร่วมมือกันของหลายประเทศ สามารถประเมินความเสียหายเบื้องต้นว่ามีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ถึง 3 ล้านไร่ โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคใต้ตามลำดับ

จากการติดตามข้อมูลยังไม่สามารถระบุแยกเป็นประเภทความเสียหายได้ ต้องใช้เวลา 1-2 วันถึงจะประเมินตัวเลขความเสียหายต่างๆ ได้ โดยแบ่งเป็นประเภทต่างๆ เช่น พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เศรษฐกิจ เส้นทางคมนาคมขนส่ง และพื้นที่ทำการเกษตร แต่คาดว่าจากอุทกภัยครั้งนี้ พื้นที่นาข้าวจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด

Advertisement

“ถึงแม้ว่าสถานการณ์ขณะนี้จะเริ่มคลี่คลายในหลายๆ พื้นที่ แต่ยังมีความกังวลว่าพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ ที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เศรษฐกิจจะยังได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำที่อาจทำได้ไม่รวดเร็วนัก จึงมีข้อเสนอแนะว่าในพื้นที่จะต้องบูรณาการนำเครื่องมือที่มีศักยภาพในการระบายน้ำ เช่น เครื่องสูบน้ำแรงดันสูงมาช่วยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ จะช่วยให้ความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจลดลงได้” ดร.อานนท์แนะนำ

ที่ประชาชนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ สะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า เกิดมายังไม่เคยเห็นอุทกภัยใหญ่เท่านี้มาก่อนนั้น ขออธิบายว่าจากการติดตามปริมาณน้ำฝนในพื้นที่พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

จากข้อมูลสำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ช่วงเวลาที่มีปริมาณน้ำฝนเกิดขึ้นมากที่สุดคือ 250.8 มิลลิเมตร (มม.) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2560 บันทึกได้ที่ อ.พังโคน จ.สกลนคร ปริมาณฝนไม่ได้มากจนทำลายสถิติ แต่ต้องยอมรับว่าพื้นที่ดังกล่าวมีพื้นที่ป่าลดลง ทำให้ศักยภาพในการรองรับน้ำลดลงไปด้วย

Advertisement

“ขณะเดียวกัน พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ก็ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เมืองตามกาลเวลา ส่งผลต่อการระบายน้ำในพื้นที่ จึงทำให้เห็นความเสียหายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ดร.อานนท์อธิบาย

ทั้งนี้ แบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ) ของสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (สสนก.) อธิบายปรากฏการณ์ฝนตกหนัก ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งตามปกติแล้วน้อยครั้งที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเกิดฝนตกหนักและมีน้ำท่วมในช่วงเวลานี้ เพราะปกติแล้วจะเกิดช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงกันยายน

แต่สาเหตุที่เกิดฝนตกหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเวลานี้ เป็นเพราะพายุเซินกา ก่อตัวขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยวันที่ 23 กรกฎาคม พายุเข้าพื้นที่ภาคเหนือ กระทั่งวันที่ 24 กรกฎาคมเกิดการก่อตัวของพายุดีเปรสชั่นเนสาท ที่บริเวณภาคตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ จึงทำให้พายุเซินกาถูกเหนี่ยวนำ และเปลี่ยนทิศทางต่ำลงมาเข้าสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแทน

อีกทั้งวันที่ 26 กรกฎาคม เกิดพายุอีกลูก คือพายุโซนร้อน “ไห่ถาง” ที่ก่อตัวบริเวณทะเลจีนใต้ ด้านตะวันตกของประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้พายุเซินกาที่เคลื่อนตัวมาปกคลุมพื้นที่ จ.มหาสารคาม ถูกเหนี่ยวนำให้วกกลับ แล้วเคลื่อนที่ขึ้นไปยัง จ.สกลนครแทน ทำให้เกิดฝนตกหนักในวันที่ 27-29 กรกฎาคม และอ่อนกำลังลงในวันที่ 30 กรกฎาคม บริเวณรอยต่อของประเทศลาว กับ จ.หนองคาย

ทั้งนี้ ในวันที่ 31 กรกฎาคม ทั้งพายุเนสาทและพายุไห่ถาง มีทิศทางเคลื่อนที่ไปยังประเทศไต้หวัน ก็เกิดการรวมตัวกัน โดยพายุไห่ถางดูดกลืนพลังงานของพายุเนสาท ทำให้พายุทั้ง 2 ลูกควบรวมกัน บริเวณทางตอนใต้ของประเทศจีน เรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ปรากฏการณ์ “ฟูจิวารา เอฟเฟ็กต์”

ปรากฏการณ์นี้ ไม่มีผลใดๆ กับประเทศไทย แต่จะส่งผลให้ประเทศไต้หวัน และประเทศจีนตอนใต้ มีฝนตกหนักมาก เพราะมีพายุเข้าไปถึง 2 ลูกในช่วงเวลาเดียวกัน

ด้าน วันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา แจกแจงถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคอีสานในขณะนี้ว่า ปริมาณน้ำฝนขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ลดลง แต่ยังคงมีฝนตกลงมาบ้างในปริมาณเล็กน้อย ซึ่งเป็นฝนที่ตกต้องตามฤดู ส่วนจะมีพายุฝนหรือฝนตกหนักอีกหรือไม่ ทางกรมอุตุฯกำลังอยู่ระหว่างการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ที่มีกระแสข่าวว่า จ.สกลนครน้ำท่วมหนัก เพียงเพราะมีฝนตกหนักลงมาแค่ 4 ชั่วโมงติดต่อกันนั้น ไม่เป็นความจริง ตามข้อเท็จจริงแล้ว จ.สกลนครเจอฝนที่ตกหนักลงมาอย่างต่อเนื่องก่อนเกิดอุทกภัยมา 2-3 วันแล้ว ประกอบกับพื้นที่บริเวณ จ.สกลนครเป็นพื้นที่รับน้ำที่ไหลลงมาจากเทือกเขาภูพาน

“รวมถึงเรื่องการระบายน้ำ ที่สกลนครสามารถระบายน้ำออกได้จุดเดียวเท่านั้นคือหนองหาร นอกจากนี้น้ำจากหนองหารที่ไหลสู่แม่น้ำสงครามและแม่น้ำโขง ต้องตัดผ่าน จ.นครพนม ส่งผลให้สกลนครจะไม่สามารถระบายน้ำออกไปได้หากนครพนมยังไม่สามารถระบายน้ำออกไปได้ก่อน ดังนั้น สกลนครจึงได้รับผลกระทบหนักที่สุด” อธิบดีวันชัยสรุปเหตุน้ำท่วมหนักที่ จ.สกลนคร

ขณะที่ ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน อธิบายเสริมว่า ที่น้ำท่วมหนักในสกลนครครั้งนี้ มีปัจจัยหลักมาจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เซินกา” จากข้อมูล ณ วันที่ 28 กรกฎาคม มีปริมาณฝนตกสะสมมากกว่า 245 มม.

รวมทั้งมีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กหลายแห่ง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ซึ่งมีความจุเก็บกักสูงสุด 2.66 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีปริมาณน้ำในอ่าง 3.05 ล้าน ลบ.ม. หรือ 127% ของความจุอ่าง ทำให้มีน้ำล้นทำนบดิน และกัดเซาะสันเขื่อนลึกประมาณ 4 เมตร ยาว 20 เมตร ส่งผลให้น้ำทะลักลงสู่ด้านท้าย ไปรวมกับปริมาณน้ำในลำน้ำธรรมชาติที่มีปริมาณมากอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ด้านท้ายอ่างและถนนบางส่วน

เส้นทางการไหลของน้ำในเขตเมืองสกลนคร เกือบทั้งหมดจะไหลไปรวมลงสู่หนองหาร และระบายออกทางลำน้ำก่ำเพียงลำน้ำเดียว ก่อนจะไหลไปลงแม่น้ำโขง

“แต่เนื่องจากลำน้ำก่ำมีปริมาณน้ำเต็มความจุของลำน้ำแล้ว ทำให้การระบายน้ำจากหนองหารไม่สามารถระบายได้อย่างสะดวก จึงทำให้เกิดการท่วมขัง” รองอธิบดีทองเปลวแจกแจงเหตุ

เป็นการไขข้อข้องใจจาก “จิสด้า-กรมอุตุฯ-กรมชลประทาน” ว่าเหตุไฉนน้ำจึงท่วมหนักในภาคอีสาน โดยเฉพาะที่สกลนคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image