จับตา ‘โรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่’ สู่ความหวังป้องกันโรคในปี 2563

ผ่านพ้นมรสุมมากมาย… ในที่สุด “โรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก” ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ก็ใกล้ความจริง..

หลังจากใช้เวลานานเป็น 10 ปี หากนับตั้งแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 1,411.7 ล้านบาท ในปี 2550 และเริ่มสัญญาว่าจ้างเมื่อปี 2553 โดยมีกำหนดแล้วเสร็จราวปี 2555 แต่สุดท้ายก็ติดปัญหาการบริหารสัญญา การเปลี่ยนแบบ ปัญหาฐานรากที่ป้องกันน้ำท่วมบริเวณโรงงาน ฯลฯ กลายเป็นข่าวโด่งดังในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และต้องหยุดชะงักไประหว่างปี 2554-2555 เรียกได้ว่าล่าช้าจากกำหนดการเดิมถึง 5 ปีด้วยกัน
กระทั่งคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ในยุคพล.อ.ศุภกร สงวนชาติศรไกร ประธานบอร์ด อภ. และนพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ อภ.พร้อมด้วยกรรมการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเดินหน้าเรื่องนี้อีกครั้ง แม้โดยรวมแล้วจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมรวมทั้งหมดใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ล่าสุดมีความคืบหน้าไปมาก

เห็นได้จากเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 คณะผู้บริหารอภ.เปิดให้สื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงงานผลิตวัคซีนฯ เพื่อให้เห็นถึงความคืบหน้า โดยขณะนี้โครงสร้างอาคารต่างๆ ของโรงงานแล้วเสร็จ และติดตั้งระบบสนับสนุนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการสอบคุณภาพระบบต่างๆ ของกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ส่วนเทคนิคการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย อยู่ระหว่างการศึกษาทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 3 ซึ่งกระบวนการทุกอย่างจะแล้วเสร็จในปี 2562 และคาดว่าจะเริ่มผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของประเทศไทยได้เองในปี 2563

 

Advertisement


นพ.นพพรให้ข้อมูลว่า นับเป็นความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีโรงงานผลิตวัคซีนขึ้น เพื่อความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาต้องนำเข้าวัคซีนชนิดนี้ ทั้งที่โรคไข้หวัดใหญ่กลายเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไปแล้ว ส่วนโรคไข้หวัดนกขณะนี้ไทยยังไม่พบโรค หลังจากควบคุมได้เมื่อหลายปีที่ผ่านมา แต่สิ่งสำคัญหากเกิดปัญหาการระบาดทั่วโลก เราจะไม่สามารถนำเข้าวัคซีนได้ เพราะประเทศต่างๆ ก็ต้องเก็บวัคซีนไว้ใช้กับประชาชนของตนเอง ดังนั้น หากเราสามารถพึ่งพาตัวเองสามารถผลิตวัคซีนได้เองย่อมต้องดีกว่า
โรงงานวัคซีนฯจะผลิตได้ทั้งชนิดเชื้อเป็นและเชื้อตาย โดยในสถานการณ์ปกติจะใช้ผลิตวัคซีนชนิดเชื้อตายตามฤดูกาล โดยวัคซีนชนิดเชื้อตายมีความปลอดภัยสูงและใช้ในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข และหากในสถานการณ์ระบาด โรงงานก็ยังสามารถปรับใช้ผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันเลียนแบบการได้รับเชื้อตามธรรมชาติ และเป็นวัคซีนที่ให้ผลผลิตสูงในระยะเวลาสั้น เหมาะกับการใช้เพื่อรองรับการระบาดใหญ่ที่ต้องผลิตอย่างรวดเร็ว
ส่วนเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ อภ.ได้เลือกใช้ไข่ไก่ฟัก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในระดับสากลให้การยอมรับอย่างกว้างขวางในด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ที่สำคัญเทคโนโลยีนี้ทาง อภ. ระบุว่า ยังคงทันสมัยไปอีกกว่า 10 ปี จึงไม่ต้องกังวลว่าจะล้าหลัง


สำหรับกระบวนการผลิตวัคซีนนั้น เริ่มตั้งแต่ไข่ไก่ ซึ่งต้องเป็นไข่ไก่ที่ปลอดเชื้อพอสำหรับการนำมาขยายเชื้อไวรัส โดยต้องมาจากแม่ไก่เลี้ยงในระบบปิด เพื่อให้ออกไข่ที่ปลอดเชื้อจริงๆ ซึ่งปัจจุบันบริษัท ไทย เอสพีเอฟ จำกัด เป็นบริษัทแห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผลิตไข่ปลอดเชื้อในการผลิตวัคซีน และส่งให้กับทาง อภ.

นายจิรวัฒน์ เกิดพาณิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เอสพีเอฟ จำกัด บอกว่า เดิมทีการผลิตวัคซีนต่างๆ ที่ต้องใช้ “ไข่ไก่” ในการผลิตนั้น จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ต้องใช้เวลาในการขนส่งนาน 2-7 วันกว่าจะนำมาผลิตวัคซีน ซึ่งระยะเวลาที่มากขึ้นจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ไข่มากขึ้น จึงเป็นที่มาของการผลิตไข่ปลอดเชื้อเพื่อการผลิตวัคซีนในประเทศ โดยสถานที่ตั้งของโรงเรือนเลี้ยงไก่และผลิตไข่ปลอดเชื้ออยู่ใน ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก ซึ่งระยะทางจากฟาร์มไก่สู่โรงงานวัคซีนอยู่ห่างกัน 72 กิโลเมตร ตามมาตรฐานต้องไม่ควรเกิน 120 กิโลเมตร เพื่อการขนส่งไม่เกิน 2 ชั่วโมง และพื้นที่ต้องไม่มีความเสี่ยงเรื่องปัญหาน้ำท่วม และพื้นที่ไม่มีความเสี่ยงเรื่องปัญหาน้ำท่วม ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่มาทางอากาศ และห่างไกลจากฟาร์มสัตว์ปีก โรงฆ่าสัตว์ และชุมชน

Advertisement

ส่วนสาเหตุที่ไข่ไก่เปลือกสีขาว เพราะได้มาจากพ่อแม่พันธุ์ไก่ที่พัฒนาสายพันธุ์เป็นพิเศษตามมาตรฐานสหรัฐอเมริกาและยุโรปและมีสถานะปลอดเชื้อไม่น้อยกว่า 3 รุ่น ทำให้ไข่ไก่มีเปลือกสีขาว ซึ่งในขั้นตอนการส่องไฟเพื่อตรวจสอบคุณภาพและความสมบูรณ์ของไข่ไก่จะเห็นได้ชัดเจน หากเป็นเปลือกสีน้ำตาลจะเห็นไม่ชัด

สำหรับการเลี้ยงไก่จะอยู่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพสูงสุด มีการควบคุมสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนให้อยู่ในสภาวะปลอดเชื้อตลอดระยะเวลาในการเลี้ยง ส่วนบุคลากรเลี้ยงดูไก่ ต้องผ่านขั้นตอนการอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย 2 ครั้ง ก่อนเข้าพื้นที่เลี้ยงไก่ มีชุดปฏิบัติงานเตรียมพร้อมอยู่ภายใน ซึ่งจะซักและอบแห้งอยู่ภายใน ไม่มีการนำออกมาภายนอก และการเลี้ยงไก่จะไม่มีการให้ยารักษาโรคหรือวัคซีนใดๆ เพื่อให้ไก่ปลอดเชื้อและได้ไข่ไก่ที่ปลอดเชื้อเฉพาะจริงๆ ทั้งนี้ รอบของการเลี้ยงไก่ปลอดเชื้อเฉพาะใช้เวลา 63 สัปดาห์ แบ่งเป็นช่วงฟักไข่ 3 สัปดาห์ ช่วงก่อนให้ผลผลิตคือลูกไก่จนถึงแม่ไก่ ช่วงให้ผลผลิต โดยแม่ไก่ที่ให้ไข่ที่มีความสมบูรณ์และคุณภาพพร้อมผลิตวัคซีนคือ แม่ไก่อายุ 24 – 55 สัปดาห์

โดยไข่ที่ผลิตออกมาในแต่ละวันจะผ่านกระบวนการ ตรวจสอบคุณภาพ เริ่มจากชั่งน้ำหนักไข่ ล้างทำความสะอาด ส่องไฟคัดแยกไข่ที่ผิดปกติออก แล้วทำความสะอาดด้วยน้ำที่ผสมสารฆ่าเชื้อโรคที่อุณหภูมิน้ำ 100 องศาฟาเรนไฮต์ เป่าแห้ง และคัดแยกไข่ตามขนาดน้ำหนัก จากนั้นจะส่องไฟอีกครั้งเพื่อเช็กความสมบูรณ์ จึงนำไข่ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพไปเก็บรักษาในห้องที่ควบคุมอุณหภูมิ คือ 17-19 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ที่ 75-85% เพื่อรักษาสภาพตัวอ่อนภายในไข่ให้สมบูรณ์ที่สุด เก็บไม่เกิน 7 วันก่อนจัดส่ง ซึ่งการจัดส่งจะมีการฆ่าเชื้อด้วยการอบโอโซน และปรับอุณหภูมิให้อยู่ในช่วงที่ลูกค้าระบุ ก่อนลำเลียงเข้ารถห้องเย็น เส้นทางการเดินทางถูกวางแผนล่วงหน้า คำนึงถึงระยะทาง สภาพถนน และการจราจร เพื่อให้ไข่เกิดการกระทบกระเทือนน้อยที่สุด


ด้าน นายพิฑูรย์ เหล่าวิวัฒน์ ผอ.กองผลิตชีววัตถุ อภ. อธิบายว่า เมื่อไข่เดินทางจากฟาร์มมาถึงโรงงานจะทำการเข้าตู้อบฆ่าเชื้อก่อนประมาณ 5 ชั่วโมง เพราะระหว่างการขนส่งอาจเกิดการปนเปื้อนได้ จากนั้นเก็บรักษาไว้ 1 วัน จึงเข้าสู่กระบวนการฟักไข่ ซึ่งในโรงงานมีเครื่องฟักไข่ 9 เครื่อง ซึ่งการฟักไข่จะควบคุมอุณหภูมิที่ 37.5 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ที่ 65% และจะมีการพลิกไข่อัตโนมัติทุก 1 ชั่วโมง เหมือนกับการกกไข่จริงของแม่ไก่ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 11 วัน เพื่อให้ไข่อยู่ในระยะที่สามารถใช้ผลิตวัคซีนได้ โดยจะมีการส่องไฟเพื่อตรวจสอบว่า ตัวอ่อนในไข่ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เพราะต้องใช้ไข่ที่ยังมีตัวอ่อนอยู่ จากนั้นจึงส่งไข่ไปยังส่วนของการฉีดเชื้อเพื่อเพาะเลี้ยงให้เชื้อไวรัสภายในไข่ไก่ โดยโรงงานจะมีห้องเก็บเชื้อไวรัสเฉพาะ ซึ่งการผลิตก็จะนำเชื้อมาฉีดใส่ไข่ตามสายพันธุ์ที่ต้องการผลิตวัคซีน

เมื่อผ่านกระบวนการเสร็จสิ้นจะบรรจุลงขวด เข้าสู่ขั้นตอนการส่องผงต่างๆ เพราะผงขนาดเพียง 1 ไมครอน หากหลุดรอดไปแล้วฉีดเข้าร่างกาย ก็สามารถเข้าไปอุดตันเส้นเลือดในสมองให้เสียชีวิตได้ จากนั้นจะเข้าสู่การติดฉลากและบรรจุลงหีบห่อ โดยสามารถผลิตได้ 60 กล่องต่อนาที หรือ 18,000 ขวดต่อชั่วโมง โดย 1 ขวด จะอยู่ที่ประมาณ 2-4 โดส ส่วนการบรรจุแบบไซริงก์หรือเข็มฉีดยาจะอยู่ที่ 1 โดส โดยโรงงานวัคซีนฯ ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายตามฤดูกาล 3 สายพันธุ์ คือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 หรือสายพันธุ์ A ชนิด H1N1 สายพันธุ์ A ชนิด H3N2 และสายพันธุ์ B ซึ่งสามารถผลิตได้ปีละ 2 ล้านโดส และขยายกำลังการผลิตเมื่อเกิดการระบาดได้ถึง 10 ล้านโดส

นับวันรอความสำเร็จอีกราว 3 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image