ปฎิบัติการค้นหาความหมาย “พื้นที่สาธารณะ” และ “การออกแบบ” เพื่อคนทุก”ชนชั้น”

หากใครได้ผ่านไปใช้บริการ หัวลำโพง ซึ่งเป็นสถานที่ๆเราแทบทุกคนคุ้นชินกันดี  ในบริเวณโถงใหญ่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็จะเห็นการจัดวางพื้นที่นั่ง มีทั้งเสื่อ มีทั้งการจัดเก้าอี้นั่ง ที่ไม่ใช่การนั่งเรียงกันแบบเดิม

หากเงยมองขึ้นไปยังชั้นสองและสังเกตให้ดี จะเห็นนักศึกษากลุ่มหนึ่ง กำลังเก็บภาพ เก็บข้อมูลอะไรบางอย่าง เพื่อศึกษาเรื่อง”พื้นที่สาธารณะ” ว่าที่จริงแล้วมันเป็นอย่างไร มีความหมายอย่างไร และพื้นที่ดังกล่าวมีปฎิสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างไร เพื่อที่จะตอบโจทย์การออกแบบและการพัฒนา ที่ครอบคลุม และเข้าใจคนอย่างหลากหลายมากที่สุด

โครงการนี้เป็นโครงการที่สนับสนุน โดยกรรมาธิการสถาปนิกชุมชน สมาคมสถาปนิกสยามฯ โดยมีนักศึกษาจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และสถาปนิกรุ่นใหม่จากหลากหลายสถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยขอนแก่น) ร่วมกับนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อ ค้นหาและตั้งคาถามกับความเป็นสาธารณะ ของพื้นที่สาธารณะ โดยใช้โถงพักรอบริเวณสถานีรถไฟหัวลาโพงเป็นพื้นที่ศึกษาและทดลอง design intervention ภายใต้การแนะนาอย่างเข้มข้นจากทีมพี่เลี้ยง บริษัทสถาปนิกรุ่นใหม่ไฟแรง ได้แก่ Integrated Field (IF) และ CloudFloor ร่วมด้วยทีมงานสถาปนิกชุมชนรุ่นใหม่ Young CAN: Community Act Network

31
สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เราเข้าไปคุยเรื่องนี้กับ อาจารย์สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าให้ฟังว่าโครงการนี้ใช้สถานิกและนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ กว่า20 คน รวมกับ นิสิตคณะรัฐศาสตร์อีกว่า10 คน เป็นโครงการเกิดขึ้นจากการคุยกันว่า สถาปนิกที่ลงมือออกแบบชิ้นงานต่างๆ จริงๆแล้วเป็นงานที่รับใช้คนส่วนน้อยมาก

Advertisement

“หมายความว่า คนที่จบการศึกษาส่วนใหญ่ ก็จะเข้าทำงานกับคนที่มีเงินจ้าง และเป็นคนส่วนน้อยของสังคม ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะสถาปนิกไม่ใช่นายทุน จะไปโทษสถาปนิกก็ไม่ได้ เราจึงมีแนวคิดอยากจะชวนสถาปนิกอาจจะสละเวลาซัก10% ของที่ทำงานในการช่วยกันออกแบบและเรียนรู้การผลิตชิ้นงานหรือการทำงานเพื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมดูบ้าง เราเชื่อว่าสถาปนิกทุกคนอยากทำงานเพื่อสังคมอยู่แล้ว แต่อาจหาช่องทางได้ยาก โครงการนี้จึงเป็นพื้นที่ให้สถาปนิกที่สนใจการคิดค้นเพื่อสังคมได้มีพื้นที่ทดลองและเรียนรู้และใช้วิชาชีพให้เป็นประโยชน์กับสาธารณะ”อาจารย์สุพิชชา กล่าว

อาจารย์สถาปัตยกรรมศาสตร์ท่านนี้อธิบายเพิ่มเติมถึงเหตุที่ต้องมีนิสิตรัฐศาสตร์มาร่วมพูดคุยกันด้วยว่า

“ หากคุยกันเฉพาะสถาปนิก ก็เห็นว่ามันเป็นปัญหาว่าที่สุดแล้วก็เป็นการคุยกันเรื่องการออกแบบอย่างเดียว ควรจะมีการพูดเรื่องเนื้อหาอย่างจริงจังด้วย เลยนึกถึงเด็กรัฐศาสตร์ขึ้นมา เพราะเรื่องพื้นที่สาธารณะ ที่จริงแล้วเป็นเรื่องของอำนาจล้วนๆ ว่าพื้นที่สาธารณะคืออะไร และใครมีสิทธิ์ในพื้นที่สาธารณะนี้ จึงไปชวน ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มาร่วมกันคิดและตั้งคำถามกับความเป็นสาธารณะ เพราะนักรัฐศาสตร์เขาเรียนกัน4ปี เพื่อพูดถึงเรื่องสิทธิและอำนาจ ซึ่งมีลักษณะเชิงนโยบายแต่เขาไม่เก่งเรื่องการออกแบบ ขณะที่นักศึกษาสถาปัตย์จะไม่ใช่นักตั้งคำถามกับโจทย์ที่ได้ แต่จะเก่งเรื่องการผลิตและออกแบบ แต่มีปัญหาว่าอาจไม่ตอบโจทย์ของสังคม การนำคนช่างคิดกับคนช่างทำมารวมตัวกันจึงเป็นที่มาของโครงการนี้”

Advertisement

 

47

 

อาจารย์สุพิชชา เล่าอีกว่า จากการพูดคุยพบว่า พื้นที่สาธารณะคือพื้นที่ของการปฎิสัมพันธ์ของคน ที่สามารถแสดงตัวตน และแสดงความต้องการของตนเองได้ หลักคิดในการออกแบบในพื้นที่หัวลำโพงก็คืออยากให้มีการออกแบบเพื่อให้คนที่หลากหลายเข้ามาใช้ได้มากขึ้น จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของเด็กๆก็จะพบว่าในส่วนคนต่างจังหวัดจำนวนมาก ก็จะวางกระเป๋าและนอนรอรถไฟบ้าง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่คนกรุงเห็นแล้วตกใจ แต่ต้องเข้าใจว่ามันเป็นวัฒนธรรมของเขา เราจึงตั้งคำถามว่า การนั่งกับพื้น หรือนอนกับพื้นดังกล่าว มันไม่ดีอย่างไร ซึ่งทางกลุ่มมองว่าเป็นความแตกต่างที่สนุกดี

ขณะที่คนกรุงฯเอง ก็จะมาใช้บริการร้านค้า ธนาคารในนี้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนไร้บ้านอีกด้วย ซึ่ง เด็กๆก็มองคนไร้บ้านในครั้งแรก เหมือนกับที่คนทั่วไปมอง แต่เมื่อมานั่งคิดอีกที ก็จะเข้าใจว่าเหตุที่คนไร้บ้านต้องมาอยู่ที่หัวลำโพง เพราะเขาคิดแล้วว่านี่คือพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุด การแก้ปัญหาจึงต้องเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย การจะทำอะไรก็ต้องถามผู้รับ

อาจารย์สุพิชชา กล่าวถึงเป้าหมายโครงการต่อโดยสรุปว่า สิ่งที่ผู้เข้าร่วมการศึกษาในครั้งนี้น่าจะได้ คือการตระหนักว่าการทำอะไรเพื่อสาธารณะมันยาก โดยเฉพาะการออกแบบ ซึ่งผู้ที่ออกแบบต้องคิดว่ามันยาก เพราะมันมีคนที่หลากหลาย ไม่ใช่คนที่มารอรถไฟอย่างรวดเร็ว แต่ต้องรอขบวนที่บางครั้งก็เลื่อนเวลาไปหลายชั่วโมง ก็ควรจะต้องมีพื้นที่ให้คนทุกชนชั้นได้พักผ่อนหรือมีการปฎิสัมพันธ์กันมากกว่านี้ การทดลองครั้งนี้ ในวันแรกที่เราใช้เสื่อ ไม่ได้หมายความว่า เสื่อคือความถูกต้อง แต่ต้องการทอลองความเป็นไปได้ของทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่แค่เก้าอี้ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีรูปแบบเพิ่มเติมที่สร้างสรรค์ขึ้นได้

30
ศิรณัฐ สุนันทารอด สถาปนิกจาก บริษัท Shma Soen

ด้านนายศิรณัฐ สุนันทารอด สถาปนิกจาก บริษัท Shma Soen เปิดเผยว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นการจัดครั้งที่ 3 ที่ต้องการสร้างพื้นที่สาธารณะให้รับใช้สังคม โดยเหตุที่เลือกหัวลำโพงเป็นพื้นที่ทดลอง เพราะที่นี่เป็นพื้นที่การปะทะกันของคนจากต่างจังหวัดและคนกรุงเทพฯ

“ทุกคนเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้ควรจะสามารถสร้างความบันเทิงใจ มันควรมีปฎิสัมพันธ์ของคนได้มากกว่านี้ ซึ่งปัญหาพื้นที่สาธารณะของไทยคือการขาดความหลากหลายและไม่รองรับคนทุกกลุ่ม หากต้องการนั่งรอและคุยกับเพื่อนอย่างมีความสุข ก็จะต้องมีเงินเพื่อจ่ายให้ร้านกาแฟ เพราะหากไม่เสียเงิน ก็ต้องต้องนั่งหันหน้าไปทางเดียว นั่งเรียงกัน คุยกันก็ลำบาก แต่หากคุณเลือกที่จะจ่ายเงินจึงจะสามารถนั่งล้อมวงพูดคุยกันได้ พื้นที่สาธารณะของไทยส่วนใหญ่จึงเป็นของเอกชนเสียมาก หากใครจะเข้าไปใช้ก็จะต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเสมอ” นายศิรณัฐ กล่าว

สถาปนิกท่านนี้ เล่าอีกว่า ในการทดลองเรียนรู้ ในครั้งแรกเราได้ใช้เสื่อมาปู เพื่อเฝ้าดูปฎิกิริยา ตอบสนองของผู้คน ว่าจะมีผลตอบรับอย่างไร คนในพื้นที่กล้าเข้ามาใช้พื้นที่จริงไหม พื้นที่หัวลำโพงโดยเฉพาะตรงห้องโถง มีศักยภาพความเป็นพื้นที่สาธารณะจริงไหม และโดยเฉพาะการดูเรื่องชนชั้นในสังคม รวมถึงคนในเมืองที่มีการใช้พื้นที่ทับซ้อนกันอยู่ หลังจากนั้นก็จะมีการแทรกแซงรูปแบบการจัดพื้นที่เข้าไปมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นการนำเก้าอี้มาตั้ง หรือการจัดเก้าอี้เป็นรูปแบบกลุ่ม หรือเป็นรูปแบบ Bean Bag

“นับถึงปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีคนจำนวนมากมานั่งในเสื่อที่เราเตรียมไว้ นั่นหมายความว่า ความหลากหลายซึ่งเราตั้งสมมุติฐานไว้มันเป็นจริง ”นายศิรณัฐ กล่าว

นายศิรณัฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า คิดว่าผลงานนี้ได้ผลสรุปที่ว่า ความจริงแล้วการออกแบบใดๆควรรองรับคนทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น โดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขในการเข้ามาใช้งาน ภาครัฐหากจะผลิตนโยบายอะไรก็ควรศึกษาผู้คนหลายกลุ่ม หลายชนชั้นเสียก่อน เพราะปัญหาสำคัญอันหนึ่งคือที่ผ่านมารัฐไม่มักวิเคราะห์ผู้คน เวลาจะผลิตนโยบายใดๆก็ตาม

32
คณิน มัณฑนะชาติ สถาปนิกจาก จาก IF

เช่นเดียวกับ นายคณิน มัณฑนะชาติ สถาปนิกจาก จาก IF เล่าประสบการณ์ครั้งนี้ว่า โครงการนี้น่าสนใจเพราะเป็นโครงการเพื่อสาธารณะ โดยสิ่งที่ทำขึ้นไม่ใช่การพยายามสร้างหรือผลิตชิ้นงานให้สังคม แต่โครงนี้เป็นการทดลองเพื่อศึกษาดูปฎิสัมพันธ์ทางอำนาจที่เกิดขึ้น รวมถึงการสร้างนิสัยให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีความใส่ใจและตระหนักในเชิงจิตสำนึกว่าหากจะออกแบบอะไร ต้องทำให้เหมาะสม สามารถใช้ความรู้ในการพัฒนาเมืองได้จริงและตรงกับปัญหา

“ยอมรับว่าตัวโครงการไม่ได้ช่วยพัฒนาเมืองอย่างตรงไปตรงมาเป็นรูปธรรม แต่โครงการนี้จะทำให้เด็กที่ร่วมโครงการมีความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้การใช้พื้นที่สาธารณะ เชื่อว่าหากเด็กรุ่นใหม่เติบโตขึ้นก็จะนำความรู้และความเข้าใจนี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้”นายคณิน กล่าว

ผู้ร่วมโครงการท่านนี้ เล่าเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเราพบว่านโยบายของรัฐในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะมีปัญหาเรื่องการขาดการบูรณาการ ขาดการศึกษาและทำความเข้าใจเชิงภาพรวมในระยะยาว ในมิติของรัฐ เวลามองปัญหาพื้นที่สาธารณะมีปัญหาคือไม่ได้มอง ผลออกมามันเลยไม่สำเร็จ คนไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้หากไม่มีเงิน พื้นที่สาธารณะกลับกลายเป็นห้างสรรพสินค้า ซึ่งคนจนๆเองเข้าไม่ถึง หรือไม่อยากเข้า เป็นต้น

“เมืองไทยยังมีปัญหาอีกเยอะ เพราะวิธีคิดเรื่องการออกแบบของไทย มักจะยกเอาวิธีคิดแบบตะวันตกเข้ามาใส่โดยไม่มีการศึกษาหรือวิจัยและพัฒนาให้มันเหมาะกับประเทศหรือวิถีชีวิตของคนไทยเรา”

36
สิริประภา สำราญเวทย์ นิสิตภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ขณะที่ น.ส.สิริประภา สำราญเวทย์ หรือแป้ง นิสิตภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯกล่าวว่า สนใจโครงการนี้เพราะเรียนวิชาเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง อาจารย์จะสอนว่าความเป็นเมืองที่เราคิดไว้อาจไม่ใช่เมืองอีกต่อไป เพราะปัจจุบันมันแทบจะแยกความเป็นเมืองกับชนบทไม่ได้แล้ว ทุกพื้นที่ มันมีความทับซ้อนทางอำนาจและวัฒนธรรมกันอยู่ ดังนั้นการออกนโยบายใดๆจะต้องมองหลายๆมุม และเข้าใจวิถีชีวิตของคนให้มากยิ่งขึ้น โครงการนี้นอกจากการเรียนรู้และทดลองเรื่องพื้นที่สาธารณะร่วมกัน ยังเป็นการสื่อให้สังคมเข้าใจว่า รัฐควรทำความเข้าใจความแตกต่างของมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งในการที่รัฐจะผลิตนโยบายต่างๆด้วย

นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาที่เข้าร่วมท่านนี้ กล่าวเพิ่มเติมถึงการเรียนรู้ที่ได้รับว่า

“โครงการนี้ทำให้เรารู้ว่า โครงสร้างการพัฒนาเมืองของประเทศเรามีปัญหา มันทำให้รู้ว่า การพัฒนาเมืองในประเทศเรา คนเล็กคนน้อยไม่ค่อยมีส่วนร่วม หรือแทบไม่เคยมีพื้นที่และความสำคัญในการพัฒนาเลย พื้นที่สาธารณะส่วนใหญ่ถูกพัฒนาโดยยึดประโยชน์ของชนชั้นกลางเป็นหลัก ขณะที่คนที่เป็นชนชั้นแรงงาน หรือชนชั้นกลางระดับล่างมีโอกาสเข้ามาใช้พื้นที่ดังกล่าวยาก”

35
พชร เจริญทรัพย์ นิสิตภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เช่นเดียวกับ นายพชร เจริญทรัพย์ นิสิตภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เห็นว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์ เพราะได้ใช้วิธีคิดทางรัฐศาสตร์ในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ เหมือนการนำเอาทฤษฎีมาทำให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งตนเองเรียนวิชาเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง วิชานี้สอนเราว่า เวลาเราจะพัฒนาหรือกำหนดนโยบายอะไร จะต้องไม่ลืมชีวิตผู้คน เช่นคนไร้บ้านเป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมานโยบายการพัฒนามักจะเลือกกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ และมีคนอีกกลุ่มไม่ได้ประโยชน์

พชร มองว่าโครงการดังกล่าวมีประโยชน์กับตนเองในเรื่องการเปิดมุมมอง และได้เข้ามาในบริบทสังคมซึ่งทำให้เราเห็นปัญหา โดยเฉพาะชีวิตของผู้คน โครงการนี้เชื่อว่าจะทำให้สถาปนิคได้ประโยชน์มาก ในแง่ที่ว่าหากจะทำอะไรก็ตาม ก็ควรคำนึงถึงคนทุกฝ่าย อย่างหัวลำโพงเอง ก็ไม่ได้มีแค่คนมารอรถไฟ แต่มันยังมีคนที่ไม่ได้รออยู่ด้วย

49

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image