ผู้แทนองค์การอนามัยโลกชื่นชม ไทยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ

วันที่ 26 สิงหาคม 2560 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ. ได้จัดสัมมนาวิชาการแนวทางการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ณ ห้องประชุม 202 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 60 คน จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอากาศร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5

นายจตุพร กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน หรือ PM 10 เป็นปัญหาหลักในหลายพื้นที่ คพ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา PM 10 อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันปัญหา PM 10 ในภาพรวมของประเทศมีแนวโน้มลดลง ต่อมาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) มีรายงานการศึกษาถึงผลกระทบต่อสุขภาพ และหลายภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศเห็นพ้องกันจำเป็นจะต้องมีการดำเนินงานจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ระยะแรก คพ. ได้มีการกำหนดมาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศทั่วไป ตั้งแต่ปี 2553 เพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินสถานการณ์ของปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับติดตามตรวจสอบ PM 2.5 ตั้งแต่ปี 2554 และมีการขยายการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัด PM 2.5 อย่างต่อเนื่องโดยจะให้ครอบคลุมทุกสถานีในปี 2563 พร้อมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการกำกับดูแล ควบคุมการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดการปรับปรุงมาตรฐาน การระบายมลพิษจากยานพาหนะอุตสาหกรรม และจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่ง รวมถึงการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาโดยการปรับปรุงมาตรฐาน มาตรการเพื่อควบคุมการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ทั้งภาคคมนาคมและอุตสาหกรรม รวมถึงการเสริมสร้างองค์ความรู้ การสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับต่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับสากล

รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอากาศ กล่าวว่า PM 2.5 มีแหล่งกำเนิดมาจากการขนส่ง อุตสาหกรรม การเกษตร ซึ่งจะต้องควบคุมที่แหล่งกำเนิด การปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษจากยานพาหนะให้เข้มงวดขึ้น ตามมาตรฐานยูโร 5 และ 6 ที่จะสามารถช่วยลดการระบายมลพิษได้อย่างมาก สำหรับการกำหนดมาตรการก็ต้องมีการประเมินน้ำหนักระหว่างการประเมินผลต้นทุนผลประโยชน์และประสิทธิผล

Advertisement

นายจารุพงศ์ เพ็งเกลี้ยง ผู้แทนสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง โดยมีการติดตามตรวจสอบสถานการณ์คุณภาพอากาศรวมทั้ง PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการการควบคุมปัญหา PM 2.5 เช่น การใช้มาตรการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นเครื่องมือในการควบคุมฝุ่นละออง เป็นต้น กทม. มีการทำแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี และร่วมกับ คพ. จัดทำแผนปฏิบัติการจัดการมลพิษทางอากาศและเสียงใน กทม. และปริมณฑล พ.ศ. 2560 – 2564 ในการจัดการปัญหาข้างต้นด้วย

ดร.ลีอีวู เวดราสโก ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ชื่นชมการทำงานของประเทศไทยในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้สถานการณ์คุณภาพอากาศของประเทศไทยดีขึ้นเป็นลำดับอย่างชัดเจนและหวังว่าจะมีความร่วมมือกับ คพ. ในด้านอื่นๆ ต่อไปด้วย นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีข้อเสนอแนะในการควบคุมและแก้ไขปัญหาที่แหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ และเพิ่มการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันทั้งด้านนโยบายและวิชาการ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image