‘สมุย’ ความร่วมมือของพื้นที่ สู่ทางออกแมงกะพรุนกล่อง อันตรายของนักท่องเที่ยว

คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ เป็นอีกกลไกการทำงานเพื่อชุมชนในระดับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเสริมป้องกันโรค การจัดการสิ่งแวดล้อม หรือการดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ โดยการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้จะมาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงภาคเอกชนในพื้นที่นั้นๆ มาหารือร่วมกันว่า มีปัญหาอะไรและจะร่วมกันแก้ไขอย่างไรบ้าง

แน่นอนว่า คณะกรรมการชุดนี้จะมีคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ในการบูรณาการงบประมาณในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ตรงจุดและเหมาะสม เพื่อลดปัญหาการใช้งบประมาณซ้ำซ้อน แต่ใช้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด

น่าสนใจว่า มีพื้นที่ใดบ้างที่มีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม…

ล่าสุด นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามการทำงานด้านสาธารณสุข ที่โรงพยาบาลเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยนพ.ธีระศักดิ์ วิริยานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะสมุย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ได้ให้ข้อมูลการทำงานร่วมกันของคนในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาด้านต่างๆ รวมทั้งในแง่ของการให้บริการและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคก็ยังมีเครือข่ายบริการสุขภาพคลินิกหมอครอบครัวอีกด้วย เพื่อดูแลประชากรบนเกาะสมุยทั้งหมด ซึ่งแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ครัสเตอร์ที่ 1 จะดูแลประชากรจำนวน 31,718 คน แบ่งทีมหมอครอบครัวออกไปดูแล 3 ทีม ขณะที่ครัสเตอร์ที่ 2 ดูแลประชากร 28,711 คน แบ่งทีมหมอครอบครัวออกเป็น 3 ทีมเช่นกัน ทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค รักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ และงานคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น

Advertisement

แต่ที่น่าสนใจและเห็นผลชัดเจนคือ การทำงานผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ มีการหารือถึงประเด็นสำคัญของเกาะสมุย ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติจำนวนมากนิยมมาเล่นน้ำ ดำน้ำ ปัญหาคือ บริเวณฝั่งอ่าวไทยอย่างเกาะสมุย กลับพบการระบาดของแมงกะพรุนกล่อง ซึ่งพบว่าผู้ที่ถูกแมงกะพรุนกล่องจนบาดเจ็บและเสียชีวิตยังคงมีอยู่ โดยตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบันมีผู้เสียชีวิต 7 คน โดยล่าสุดคือ ปี 2557-2558 เสียชีวิต 3 คน พบที่เกาะพะงัน 2 คน และสมุยอีก 1 คน

นางกฤษณา พรหมเกาะ อุปนายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย หนึ่งในกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ บอกว่า จากปัญหานี้ ผู้ประกอบการในเกาะสมุย โรงพยาบาลผู้เกี่ยวข้องมีการมาประชุมกันว่าจะทำอย่างไร เพื่อหยุดปัญหาดังกล่าว และป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตอีก เพราะจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวได้ ทางมีการหารือร่วมกัน และจัดอบรมวิธีการช่วยผู้ที่ถูกแมงกะพรุนกล่อง โดยทำป้ายเตือน มีเสาน้ำส้มสายชู หากพบใครบาดเจ็บจากแมงกะพรุนให้รีบราดน้ำส้มสายชูบนแผลเพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 30 วินาที จากนั้นนำส่งโรงพยาบาลทันที

Advertisement

“สิ่งสำคัญห้ามขัดถูบริเวณผิวหนังที่ถูกแมงกะพรุนเกาะเด็ดขาด และไม่ให้ขัดถูด้วยทรายหรืออะไรทั้งสิ้นเพื่อไม่ให้เกิดการสั่นสะเทือน เพราะหากไปถูกแมงะกะพรุนจะปล่อยพิษทันที และห้ามนำน้ำจืดมาราดห้ามประคบน้ำแข็ง ให้ใช้ได้แค่น้ำส้มสายชู หากพบเยอะจนหมดสติเราจะมีทีมเจ้าหน้าที่ตามหาดคอยดูแลช่วยเหลือตลอด ทั้งนี้ การที่ให้ใช้น้ำส้มสายชู เพราะตัวแมงกะพรุนมีสีขาว และเราแทบไม่รู้เลยว่าเป็นแมงกะพรุนอะไร จึงต้องให้ใช้น้ำส้มสายชูราด เพื่อให้มันหลุดออกไปเอง” นางกฤษณา กล่าว

อย่างไรก็ตาม แมงกะพรุนกล่องจะทำให้เกิดอาการ 3 อย่าง ได้แก่ 1.มีบาดแผลบริเวณที่ตามตำแหน่งที่โดนเหมือนไฟไหม้ทันทีทีถูกเข็มผิด 2.ทำให้ระบบประสาทไม่ทำงานหากว่ายน้ำก็จะจมน้ำเสียชีวิต 3.หากโดนในปริมาณมากๆภายใน 2-10 นาที จะเสียชีวิต เพราะหัวใจจะหยุดเต้นจากที่จังหวะการเต้นของหัวใจจะบีบและคายก็จะมีแต่การบีบตัวอย่างเดียว หลายครั้งต้องช่วยปั๊มหัวใจกันในที่เกิดเหตุ โดยปี 2559 ที่หาดมีการปั๊มหัวใจจนมีผู้รอดชีวิต 2 ราย โดยรอบเกาะมักพบคนถูกพิษแมงกะพรุน แต่ว่าไม่รุนแรงมากเกือบ 100 ราย แต่ที่บาดเจ็บสาหัสต้องนอนโรงพยาบาล มี 3 ราย ซึ่งทุกกรณีรอดหมด

นางกฤษณา พรหมเกาะ

นางกฤษณา กล่าวอีกว่า ในปี2558 ที่มีการเสียชีวิตเนื่องจากมีการออกไปว่ายน้ำในตอนกลางคืน เมื่อเกิดเหตุไม่มีใครเห็นกว่าจะได้รับการช่วยเหลือก็เสียชีวิตแล้ว ดังนั้นห้ามออกไปว่ายน้ำตอนกลางคืนเนื่องจากทีมช่วยเหลือจะมีเฉพาะช่วงกลางวันเท่านั้น นอกจากนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ได้มีการขึงตาข่ายป้องกันแมงกะพรุนเข้ามาในพื้นที่เล่นน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจว่า นอกจากความช่วยเหลือแล้วยังมีโซนที่ปลอดภัย โดยนักท่องเที่ยวสามารถลงไปว่ายน้ำในบริเวณที่มีตาข่ายกั้นเอาไว้

สำหรับการวางตาข่ายนั้น จะมีการตรวจตาข่ายทุก 3-5 วัน เพื่อดูว่าตาข่ายมีการขาด หรือมีร่องรอยเปิดหรือไม่ เพราะหากมีแมงกะพรุนก็อาจหลุดรอดเข้ามาได้ ซึ่งการทำงานจุดนี้ได้รับความร่วมมือจากกรมทรัพยากรชายฝั่งและผู้ประกอบการที่จะทำการติดตาข่ายให้ และทุก15 วันต้องนำอวนมาลากในตาข่าย เพื่อดักจับแมงกะพรุนที่อาจหลุดเข้ามา โดยตาข่ายจะมีความกว้าง 320 เมตร และติดตาข่ายเฉพาะช่วง 4 เดือนเท่านั้น เพราะเป็นช่วงที่มีการระบาดของแมงกะพรุน หลังจากนั้นไม่ต้องติด เนื่องจากช่วงเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่คลื่นแรงและเมื่อแมงกะพรุนถูกคลื่นซัด จะทำให้ตัวแตกเหมือนวุ้น

สำหรับแมงกะพรุนที่พบในอ่าวไทยจะมีทั้งแมงกะพรุนหลายสาย กะพรุนสายเดียว และแมงกะพรุนกล่อง กะพรุนไฟ โดย สมุยจะมีทีมกู้ภัยทางน้ำโดยมีนายอำเภอเป็นประธานพอเกิดเหตุก็จะไปทำการตรวจหาด และหากมีการรายงานว่าพบกะพรุนจำนวนมากนายอำเภอก็จะต้องไปทำการปิดหาด 1 วัน เพื่อความปลอดภัย โดยที่พบผู้บาดเยอะมากสุดประมาณ 30 รายต่อวัน ปี 2559 อย่างไรก็ตาม ได้มีการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวเล่นน้ำในตาข่ายที่ขึงไว้ และมีน้ำส้มสายชูไว้บริเวณหาด ซึ่งนักท่องเที่ยวเริ่มมีความเชื่อมั่นและขอบคุณที่ผู้ประกอบการมีการบริการอย่างจริงใจ

เป็นเพียงตัวอย่างในการทำงานร่วมกันของพื้นที่ที่ร่วมแรงร่วมใจ ทั้งรัฐและเอกชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image