กพร.เผยผลงานปี 60 ทะลุเป้า ทดสอบและพัฒนาแรงงานรวมกว่า 4 ล้านคน

เมื่อวันที่ 28 กันยายน นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการตั้งเป้าหมายการดำเนินงานภายใต้การนำของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อสร้างกำลังคนของประเทศให้เป็น Productive Manpower ในระยะ 5 ปีแรก (2560-2564) ให้เป็นกำลังคนที่มีประสิทธิภาพ แรงงานมีมาตรฐานและมุ่งเน้นขจัดอุปสรรคต่างๆ ด้านแรงงานให้หมดสิ้นไป และหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง สอดรับกับแผนพัฒนาเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 “วัยแรงงานมีความรู้และทักษะเป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดย กพร. มีผลการดำเนินงานประจำปี 2560 ที่โดดเด่นในหลายด้าน ภายใต้สโลแกน “สร้างเครือข่าย ใช้พื้นที่ วิถีประชารัฐ ขจัดคอร์รับชัน” ซึ่งใน ปี 2560 กำหนดให้เป็นปีแห่งการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ Thailand 4.0 สามารถพัฒนาคนกว่า 4 ล้านคน

ระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา กพร.ได้ดำเนินการตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยพัฒนาทักษะให้กำลังแรงงานไปแล้วจำนวน 4,160,122 คน ดำเนินการเองจำนวน 199,979 คน ส่งเสริมสถานประกอบกิจการดำเนินการจำนวน 3,960,143 คน ค่าใช้จ่ายที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 1,931,274,194.54 บาท การส่งเสริมอีกด้านสำหรับผู้ประกอบการ SMEs 180 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ช่วยลดการสูญเสียกว่า 337 ล้านบาท และพัฒนาแรงงานในสถานประกอบกิจการเหล่านี้ได้อีกกว่า 451 ล้าน นอกจากนี้ยังมีผลงานที่โดดเด่นอีกหลายเรื่อง อาทิ การดำเนินงานโครงการ “แรงงานติดดาว” เป็นโครงการเพื่อกระตุ้นจูงใจให้คนทำงานทุกคนเข้าสู่กระบวนการทดสอบมาตรฐานฝีมือเเรงงานแห่งชาติ และได้รับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ซึ่งปัจจุบันประกาศไปแล้ว 67 สาขา ผู้ผ่านการทดสอบฯ ทุกคนจะมีการติดดาวเป็นสัญลักษณ์ว่าได้ผ่านการทดสอบที่ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งได้จดลิขสิทธิ์ดาวเงิน 6 แฉกเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ มีเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมเป็นศูนย์ทดสอบฯ กว่า 400 แห่งทั่วประเทศ และดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแล้วจำนวน 74,469 คน โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Testing System) มาใช้ในการทดสอบภาคทฤษฎี เพื่อสร้างความมั่นใจและมีความโปร่งใสในการปฏิบัติงานด้านดังกล่าว พร้อมปรับแก้ไขหลักเกณฑ์ให้นักศึกษาอาชีวะ ระดับ ปวช.ปีสุดท้าย ซึ่งอายุไม่ถึง 18 ปี ให้สามารถเข้าสู่กระบวนการทดสอบมาตรฐานฯ ได้ รวมถึงมีผลงานการประเมินความรู้ ความสามารถ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคารแล้วจำนวน 73,804 คน

นายธีรพล กล่าวต่อว่า เพื่อให้การพัฒนาฝีมือแรงงานมีประสิทธิภาพ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในปี 60 จึงยกระดับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนำร่อง 12 แห่งทั่วประเทศ เป็นสถาบันเทคโนโลยีชั้นสูง ตามจุดเน้นของแต่ละพื้นที่ จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะด้าน อาทิ AHRDA เป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ ด้านยานยนต์/ชิ้นส่วน, จั้งตั้งศูนย์ฝึกอบรม MARA (Manufacturing automation and robot academy) ขึ้น พัฒนาทักษะ Multi-skill ให้กับแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการ และในอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร พลาสติก แม่พิมพ์ เป็นต้น โดยดำเนินการพัฒนาแรงงานในด้านเทคโนโลยีชั้นสูงแล้วจำนวน 20,133 คน จากเป้าหมาย 19,864 คน

Advertisement


ผลงานเด่นอีกด้านคือ การส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ เป็นการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการ ฝึกอบรมให้พนักงานของตนเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรมสามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีได้ร้อยละ 100 พร้อมเพิ่มช่องทางการรับรองหลักสูตรและค่าใช้จ่ายผ่านระบบ E-Service โดยไม่ต้องจัดส่งเป็นเอกสารอีกต่อไป นอกจากนั้นแล้วยังกำหนดมาตรการจูงใจ อาทิ การกู้ยืมจากเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อนำไปใช้ในการฝึกอบรม แบบไม่มีดอกเบี้ย การให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนอีกหลายกรณี เช่น ส่งพนักงานเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและจ่ายค่าจ้างตามอัตรามาตรฐานฝีมือ ให้เงินอุดหนุนรายละ 1,000 บาท ทั้งปีไม่เกิน 100,000 บาท , ส่งเสริมให้จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของตนเอง แล้วนำมาตรฐานดังกล่าวมาใช้ทดสอบลูกจ้าง สนับสนุนในสาขาระดับละ 10,000 บาท , และอุดหนุนแก่ผู้ประกอบกิจการเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการ มีสิทธิรับเงินอุดหนุนเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินปีละ 100,000 บาท เป็นต้น การดำเนินงานดังกล่าวทำให้ กพร.ได้รับรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประเภทการพัฒนาดีเด่น จากกระทรวงการคลัง

นายธีรพล กล่าวว่า การสร้างเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานจัดเป็นผลงานเด่นของปี 60 เช่นกัน กพร. มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 182 ฉบับ รวม 21 ครั้ง อีกทั้งได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย นอกจากนี้ยังส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการที่รับนักศึกษาเข้าฝึกงานตามโครงการทวิภาคี ได้รับสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีอีกด้วย
กพร.นำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้แรงงานทุกกลุ่ม ได้รับประโยชน์จากการดำเนินงาน ปี 60 ได้จัดทำสื่อการเรียนรู้ผ่านเว็ปไซด์ ในเมนู It’s your choice “คุณเลือกได้” เป็นการฝึกอาชีพผ่านออนไลน์ เพียงเข้า website ที่ www.dsd.go.th เท่านั้น มีให้เลือกถึง 13 สาขา 128 ชุด ประกอบด้วยสาขาด้านช่างฝีมือ ด้านภาษา และอาชีพอิสระ มีผู้เข้าศึกษาบทเรียนกว่า 300,000 ครั้ง

ด้านบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับงบประมาณพัฒนาทักษะให้กับแรงงานเพื่อนบ้าน (ลาว กัมพูชา เมียนมา) ดำเนินการฝึกทั้งสิ้น 1,085 คน นอกจากนี้ กพร. ยังมีการฝึกอาชีพให้กลุ่มพิเศษ การฝึกอาชีพตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การฝึกผู้ต้องขังที่ได้รับการอภัยโทษ และการฝึกอาชีพให้กับชนกลุ่มน้อยอีกด้วย อีกทั้งมีผลการปฏิบัติงานที่กพร. ได้ร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส มีวินัย ทำให้ได้รางวัลหน่วยงานที่มีกิจกรรม ส่งเสริมและพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชามีวินัย ลดความเสี่ยงการเกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ประเภทหน่วยงานที่รักษาวินัยดีขึ้น จากสำนักงาน ก.พ. โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มอบโล่เกียรติคุณดังกล่าว

Advertisement

กพร.ได้วางเป้าหมายการดำเนินงาน โดยจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาฝีมือแรงงาน ระยะ 20 ปี ให้สอดรับกับกรอบการพัฒนากำลังคนระยะ 20 ปีของรัฐบาล เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสู่เป้าหมายแรงงานไทยเป็น Brainpower ภายในปี 2579 ซึ่งปี 2561 มีเป้าหมายพัฒนากำลังแรงงานอีกกว่า 3.7 ล้านคนจากงบประมาณกว่า 2,300 ล้านบาท เน้นการเพิ่มศักยภาพแรงงานรองรับ Thailand 4.0 กว่า 9.8 หมื่นคน นายธีรพล กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image