อุทยานวิทยาศาสตร์ เปิดตัว 3 นวัตกรรม ประกาศศักดา ‘นี่ไง ไทยแลนด์ 4.0’

 

เมื่อรัฐบาลประกาศตัวอยู่ตลอดเวลาว่า ประเทศไทยจะก้าวเข้าไปสู่ความเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” คือ การเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยได้มีโอกาสกลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งแน่นอน เมื่อมีคำว่านวัตกรรมแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเนื้องานนี้โดยตรงก็คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)

โดยนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการ วท. บอกว่า การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นกุญแจสำคัญที่จะสามารถนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้ประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว วท.จะทำหน้าที่หลัก เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเกิดความตื่นตัวต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในระดับประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ตั้ง “อุทยานวิทยาศาสตร์” ในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นฐานสำหรับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ทั้งด้านกำลังคน การวิจัยพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ไปสู่ระดับท้องถิ่น

นางอรรชกาบอกว่า เวลานี้อุทยานวิทยาศาสตร์มีงานที่ประสบความสำเร็จพร้อมนำมาใช้มากมาย

Advertisement

มี 3 ชิ้นงานที่พร้อมประกาศศักดา พิสูจน์ความสำเร็จเรื่องการพัฒนานวัตกรรมของคนไทย

Advertisement

โครงการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน เพื่อการเกษตรสมรรถนะสูง ซึ่งเป็นความร่วมมือกับบริษัท ไลลา เอวิเอชั่น จำกัด โดย นายมนตรี ธนะสิงห์ เจ้าของบริษัท และนักวิจัยที่ได้พัฒนาโดรนมาใช้งานด้านการเกษตร โดยอาศัยการออกแบบทางวิศวกรรมของโครงสร้างลำตัวเครื่อง ให้สามารถพ่นของเหลวไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าแมลง ปุ๋ย หรือสารเคมีทางการเกษตร โดยแบกน้ำหนักได้สูงสุดถึง 20 กก. ทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าคนถึง 40 เท่า สามารถทำงานได้ถึง 15-20 ไร่/ชม. นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการควบคุมตำแหน่งความสูงที่ถูกต้องแม่นยำในการฉีดพ่น ช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสหรือลดผลกระทบจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ลดต้นทุนให้เกษตรกร ประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน

“เวลานี้ได้ผลิตขึ้นมา 4 ขนาด คือ ขนาดที่สามารถบรรจุสารเคมีและปุ๋ยขนาด 5, 10, 15 และ 20 ลิตร ซึ่งขนาดใหญ่สุดเป็นขนาดเดียวกันกับที่เกษตรกรชาวญี่ปุ่นใช้ ราคาตัวละ 5 ล้านบาท แต่เราสามารถทำได้ในราคาตัวละ 5 แสนบาทเท่านั้น ขณะนี้ได้ทำขนาดเล็กคือตัวละ 3 ลิตรเพิ่มขึ้นมาสำหรับเกษตรกรที่มีเนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ ราคาต้นทุนในขณะที่ยังไม่แพร่หลายไม่เกิน 75,000 บาท สามารถทำงานได้งานมากกว่าคนถึง 40 เท่า คือ ทำงานได้ 15-20 ไร่/ชม.แบบต่อเนื่อง ที่ผ่านมาขายและอบรมการใช้ให้เกษตรกรไทยไปแล้ว 10 ตัว และกำลังจะทำสัญญาผลิตให้ประเทศญี่ปุ่น เพราะเมื่อครั้งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯไปออกบูธที่ประเทศญี่ปุ่นได้รับความสนใจจากนักธุรกิจญี่ปุ่นมาก เพราะในประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกันแต่เราสามารถผลิตได้ในราคาถูกกว่าถึง 10 เท่า” นายมนตรีกล่าว

ระบบควบคุมโรงเรือนอัจฉริยะผ่านสมาร์ทโฟน หรือ Smart think เป็นโครงการพัฒนาร่วมกับบริษัท สมาร์ทธิงค์คอนโทรล (Smart Think Control) จำกัด ของเยาวชนรุ่นใหม่ อย่าง นายพีรดนย์ ไชยมี และ น.ส.วิยะดา เทียมขุนทด ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมสำหรับควบคุมโรงเรือนและสวนการเกษตรอัจฉริยะ มีความสามารถในการควบคุมและตัดสินใจในการสั่งงานแบบอัตโนมัติแทนมนุษย์ หรือให้ผู้ใช้งานสามารถสั่งงานจากทางไกลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต นอกจากนี้ ภายในโรงเรือนและสวนยังจะมีเซ็นเซอร์ที่คอยทํางานตรวจสอบค่าต่างๆ เช่น ความเป็นกรด-ด่าง วัดค่าปุ๋ย อุณหภูมิเพื่อนำข้อมูลกลับมาคำนวณและสั่งการทำงานตามระบบที่ตั้งไว้ให้ทำงานได้ตามความต้องการ รวมถึงมีระบบวางแผนการปลูก วางแผนการตลาด ผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนจากค่าปุ๋ย ค่าน้ำ รวมถึงเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตและการตลาดได้อย่างสอดคล้องไปพร้อมๆ กัน

และงานที่ 3 “หุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม สัญชาติไทย” เป็นความร่วมมือกับ บริษัท RST ROBOTICS จำกัด โดย นายอรัญ อนุพรรณสว่าง กรรมการผู้จัดการบริษัท และผู้พัฒนาหุ่นยนต์แขนกล จนสามารถยกระดับไปสู่การผลิตโดยการใช้องค์ความรู้ เครื่องมืออุปกรณ์ และแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ พร้อมทั้งการนำเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล, วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และวิศวกรรมซอฟต์แวร์มาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับสมรรถนะของหุ่นยนต์ให้มีความสามารถเทียบเท่ากับหุ่นยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ แต่มีราคาไม่แพง พร้อมกันนี้ยังมีฟังก์ชั่นการใช้งานเป็นภาษาไทย ใช้งานง่าย ซึ่งตอบโจทย์แก่ผู้ประกอบการไทยได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบันมีหุ่นยนต์แขนกล 3 ประเภท คือ 1.หุ่นยนต์แขนกลประเภท Welding (เชื่อม) 2.หุ่นยนต์แขนกลประเภท Pallet (ยกวาง) และ 3.หุ่นยนต์แขนกลประเภท Painting (พ่นสี) ซึ่งถือเป็นการพัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูงในการช่วยเหลือแรงงานมนุษย์

ทั้ง 3 โครงการ เป็นตัวอย่างแห่งความก้าวหน้าที่สำคัญของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เห็นชัดถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำพาประเทศชาติให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

เป็นความหมายโดยตรงของการเข้าสู่ ไทยแลนด์ 4.0

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image