สัตวแพทย์ประเมินอาการรายชั่วโมง “อธิบดีอุทยานฯ” ให้เคลื่อนย้ายช้างได้ตามความเห็นหมอ(คลิป)

จากกรณีช้างป่าเพศผู้ถูกน้ำป่าพัดมาอยู่ที่บริเวณคลองชมพู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา ล่าสุดความคืบหน้าการช่วยช้างป่าตัวดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) และนายสัตวแพทย์จากสถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง และเจ้าหน้าที่ส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นจนช้างป่าตัวดังกล่าวสามารถขึ้นจากน้ำได้แล้ว โดยทีมสัตวแพทย์ได้ให้น้ำเกลือและฉีดยาบำรุงตลอดเวลา เพื่อให้ช้างอาการดีขึ้น

วันที่ 18 ตุลาคม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้แสดงความเป็นห่วงและติดตามการให้ความช่วยเหลือช้างอยู่ตลอด พร้อมทั้งสั่งการให้เคลื่อนย้ายได้ตามความเห็นของสัตวแพทย์ ซึ่งทีมสัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติฯและศูนย์อนุรักษ์ฯช้าง-ลำปาง อยู่ในพื้นที่และประเมินสุขภาพช้างว่าขณะนี้สามารถเคลื่อนย้ายไปที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปางได้ และกำลังอยู่ในขั้นตอนเคลื่อนย้ายฯ คงต้องใช้เวลาซักระยะ เนื่องจากช้างตัวใหญ่ประกอบกับสภาพพื้นที่ต้องถูกปรับเพื่อการดำเนินการ ซึ่งในการดำเนินการเคลื่อนย้ายจะต้องคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของช้างตัวดังกล่าวด้วย

Advertisement

นายสัตวแพทย์(นสพ.)ทวีโภค อังควานิช สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลช้าง ศูนย์คชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง ให้สัมภาษณ์ ว่า ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ และชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันนำช้างขึ้นมาจากน้ำ โดยลากไปไว้ที่ริมตลิ่ง สัตวแพทย์ให้ยาลดปวด ลดอักเสบ และใช้เชือกยึดโยงเพื่อให้ช้างพยายามยืน เพราะหากปล่อยให้นอนนานตะแคงนานๆอาจจะมีปัญหาเรื่องระบบหายใจ และระบบหมุนเวียนโลหิต จึงต้องใช้เชือกยึดพะยุงให้ช้างยืนขึ้น ที่น่าเป็นห่วงคือ ช้างไม่ยอมใช้ขาหลังเลย เข้าใจว่า เพราะความเจ็บปวดมาก

“ตอนนี้ เรายังบอกไม่ได้ว่าช้างเป็นอะไร เพราะในพื้นที่ยังไม่มีเครื่องมือตรวจ แต่ประเมินตามอาการ น่าจะขาหัก ข้อสะโพกอาจจะหลุด และระบบประสาทอาจจะมีปัญหา ทั้งนี้ไม่รู้ว่า ตอนนี้อยู่ในน้ำโดนอะไรมาบ้าง การจะทำอะไรเวลานี้ หมอต้องประเมินสถานการณ์กันชั่วโมงต่อชั่วโมง ส่วนเรื่องการนำช้างไปรักษาที่โรงพยาบาลช้าง จ.ลำปางนั้น ก็ต้องรอประเมินกันชั่วโมง ต่อชั่วโมง ทางคณะสัตวแพทย์ต้องประเมินอาการและตัดสินใจร่วมกันอีกที เพราะนอกจากช้างเจ็บหนักแล้ว ยังมีความเครียดมากด้วย เพราะไม่คุ้นกับการเห็นคนเยอะๆ และเนื่องจากเวลานี้เราใช้เชือกพะยุงให้ช้างยืน การเข้าไปใกล้ๆเพื่อฉีดยา หรือให้อาหารค่อนข้างลำบาก เพราะแม้ช้างจะเจ็บ แต่สามารถอาละวาดทำร้ายคนที่เข้าใกล้ได้ตลอดเวลา จึงต้องระวังในส่วนนี้ด้วย ที่สำคัญระยะทางจากจุดนี้ไปโรงพยาบาลช้าง จ.ลำปางโดยรถสิบล้อนั้น อาจจะต้องใช้เวลา 6-7 ชั่วโมง และต้องวางยาสลบ ดังนั้นคณะสัตวแพทย์ต้องหารือกันเรื่องนี้อีกที”นสพ.ทวีโภค กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image