รองผู้ว่าฯชี้ กทม.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำไว้ทุกระดับแล้ว ขอให้ประชาชนหายห่วง

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางปริมาณรวมสูงสุดที่สถานีสูบน้ำคลองมอญ เขตบางกอกน้อย 54 มิลลิเมตร (มม.) สถานีสูบน้ำปากคลองตลาด 46 มม. และสำนักงานเขตบางรัก 44.5 มม. ตามลำดับ สำหรับระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงสุดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคมอยู่ที่ประตูระบายน้ำปากคลองตลาดระดับสูงกว่า 1.85 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง (ท.รทก.) และสถานีสูบน้ำบางนาที่ระดับสูงกว่า 1.74 ม.รทก. ส่วนที่ได้รับแจ้งว่าบริเวณปากคลองตลาด และตามแนวริมแม่น้ำบริเวณแขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัดเกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งและส่งให้กระสอบทรายที่วางกั้นไว้ชำรุดบางส่วนนั้น เป็นสถานการณ์ปกติของช่วงน้ำขึ้นสูงสุด จะมีน้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งประมาณ 1-2 ชั่วโมงจากนั้นระดับน้ำจะกลับมาปกติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้นำกระสอบทรายซ่อมตามแนวคันกั้นน้ำแล้ว หากถามว่าปัจจุบันสถานการณ์น่าเป็นห่วงหรือไม่นั้น ต้องเรียนว่ายังคงอยู่ในระดับที่กทม.สามารถรับมือได้ ส่วนกรณีที่ประชาชนกังวลว่า น้ำที่เอ่อล้นบริเวณปากคลองตลาดจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่รอบสนามหลวงและโดยรอบพระบรมมหาราชวังหรือไม่นั้น กทม.ได้จัดเตรียมแผนป้องกันสูงสุดแล้ว ปัจจุบันปริมาณแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เฉลี่ยอยู่ที่ 2,882 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที (ลบ.ม.) โดยจุดรับน้ำดังกล่าวสามารถรองรับปริมาณน้ำได้ถึง 3,5000 ลบ.ม./วินาที

 

นายจักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์สถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ พบว่าระหว่างวันนี้จนถึงวันที่ 26 ตุลาคม จะมีความแปรปรวนของสภาพอากาศอาจทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองในพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากยังคงมีร่องกดอากาศต่ำที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูหนาว อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กทม.โดยสำนักระบายน้ำ ได้เตรียมความพร้อมโดยรอบพื้นที่พระราชพิธี ประกอบด้วย 1.ปรับปรุงท่อระบายน้ำ 2 จุด คือ ถนนสนามไชยและถนนพระพิพิธ 2.ปรับปรุงบ่อสูบน้ำหน้าวัดโพธิ์ พบว่าเป็นบริเวณแอ่งมักเกิดน้ำท่วมประจำ ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่องและเพิ่มกำลังสูบน้ำเป็น 1.13 ลบ.ม./วินาที 3.ปรับปรุงฝาบ่อพักท่อระบายน้ำ จำนวน 308 ฝา คือ บริเวณถนนสนามไชย 164 ฝา ถนนพระพิพิธ 38 ฝา ถนนกัลยาณไมตรี 40 ฝา ถนนราชดำเนินใน 52 ฝาและถนนท้ายวัง 14 ฝา

Advertisement

 

4.ป้องกันปัญหาน้ำท่วมจากน้ำเหนือไหลหลากและน้ำทะเลหนุน ได้แก่ เรียงกระสอบทรายป้องกันตามแนวช่องเปิด ทางขึ้นลงท่าเรือและตามแนวรั่วซึมอยู่ในระดับสูงกว่า 2.70 ม.รทก.จำนวน 11 จุดริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพระบรมมหาราชวังและสนามหลวง และช่วงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าถึงปากคลองตลาดยาว 2.5 กิโลเมตร (กม.) ต่อมาได้เรียงกระสอบทรายไว้ตามแนวจุดทางเข้าออกตามแนวถนนจันทร์และถนนมหาราช 14,000 ใบ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณโยรอบพระราชพิธี 61 เครื่อง ซึ่งมีกำลังสูบ 24.36 ลบ.ม./วินาที และ 5. ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำรอบพระบรมมหาราชวังและท้องสนามหลวง ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ความยาวมรวม 9,320 เมตร (ม.) คลอบคลุมพื้นที่ 16 ถนน ได้แก่ ถนนราชดำเนินใน ถนนสนามไชย ถนนท้ายวัง ถนนมหาราช ถนนหน้าพระธาตุ ถนนมหาราช ถนนพระจันทร์ ถนนกัลยาณไมตรี ถนนหลักเมือง ถนนหับเผย ถนนพิพิธ ถนนเจริญกรุงและถนนราชดำเนินกลาง

นายจักพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ ยังได้เดินทางไปตรวจท่าเรือมหาราชถึงปริมาณน้ำขึ้น-ลง ว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่สนามหลวงหรือไม่ พบมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเล็กน้อย แต่อยู่ในสถานการณ์ปกติของช่วงน้ำขึ้น ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่โดยรอบพระราชพิธี ซึ่งทางกทม.ขอยืนยันว่า ได้จัดเตรียมแผนรองรับสถานการณ์น้ำไว้ทุกระดับแล้ว ขอให้ประชาชนคลายความกังวล

เมื่อถามถึงการอำนวยความสะดวกประชาชนหลังประชาชนเดินทางมายังพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อปักหลักรอคิวเข้าตามบริเวณจุดคัดกรองต่างๆ นั้น นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า กทม.มีความพร้อมอำนวยความสะดวกประชาชนในทุกด้านแล้ว ทั้งห้องสุขาเคลื่อนที่ตามจุดคัดกรองและตู้สุขาตามบริเวณสำคัญ ซึ่งกทม.ได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้วประชาชนจะเดินทางมาจับจองพื้นที่ตั้งแต่ช่วงวันที่ 20 ตุลาคมเป็นไป ดังนั้น กทม.จึงดำเนินงานทุกอย่างไปตามแผน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image