กทม.ทุบจริง-รื้อจริง ‘โครงการดิเอทัส’ ประสานนครบาลตรึงกำลังห้ามใครเข้าออกแต่คนยังอยู่เต็มตึก

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าการดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด พร้อมติดตั้งป้ายระงับการใช้อาคารดิเอทัส ซอยร่วมฤดี เขตปทุมวัน ว่า ก่อนหน้านี้มีผู้ฟ้องร้องต่อผู้อำนวยการเขตปทุมวันและผู้ว่าฯกทม.ต่อศาลปกครองกลาง กรณีปล่อยให้บริษัทเอกชนก่อสร้างโรงแรมและที่พักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ ความสูงเกิน 23 เมตร (ม.) โดยไม่ชอบด้วยกระทรวงฉบับที่ 33 ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดว่าการก่อสร้างอาคารขนาดความสูงดังกล่าวจะทำไม่ได้ ในพื้นที่ที่มีเขตถนนซอยกว้างน้อยกว่า 10 ม. หลังจากนั้นเจ้าของอาคารได้ฟ้องแย้ง เพื่อรักษาสิทธิ์และขออุทธรณ์ต่อคำสั่งดังกล่าว ต่อมาศาลอุทธรณ์ไม่รับคำร้อง เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้กทม.และสำนักงานเขตปทุมวันดำเนินการรื้อถอนอาคารทั้งหมด เป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาเมื่อปี 2557 เนื่องจากเพิ่งทราบเรื่องเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา เพราะต้องเดินทางไปแถลงต่อศาลในวันที่ 7 พฤศจิกายน จึงสั่งการทันทีให้สำนักงานเขตมาติดตั้งป้ายห้ามใช้อาคารทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ อาคารโรงแรมดิเอทัส และอาคารเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ดิเอทัส เรสซิเด็นท์

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ หากมีผู้เข้าใช้อาคารอีกถือว่าไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของกทม. จากนั้นเวลา 14.00 น.จะให้ทางสำนักเขตไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อสำนักงานสืบสวนสน.ลุมพินีให้ดำเนินคดีต่อเจ้าของอาคารและผู้ที่เข้ามาในอาคาร ตามกระบวนการของกฎหมาย ขณะนี้ทราบว่ายังมีผู้อาศัยอาจไม่ทราบถึงคำสั่ง จะให้ทางเจ้าของอาคารไปแจ้งต่อผู้พักอาศัยให้ย้ายออกทันที และกทม.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีถึงการตรึงกำลังเจ้าหน้าที่สำหรับห้ามเข้า-ออก ตัวอาคาร

เมื่อถามว่า หากทางเจ้าของอาคารไม่ยอมรื้อถอนอาคารจะดำเนินการอย่างไรต่อไป พล.ต.อัศวิน กล่าวว่า กทม.ได้แจ้งต่อเจ้าของอาคารมาเป็นระยะเวลา 1 ปี แต่ทางเจ้าของอาคารไม่ยอมรื้ออาคาร เบื้องต้นสั่งทางสำนักการโยธาให้คำนวณราคาเพราะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเข้าดำเนินการเอง โดยจัดตั้งงบประมาณ ทั้งสิ้นเกือบ 200 ล้านบาท แบ่งเป็นตัวโรงแรม 102 ล้านบาทและอพาร์ทเม้นท์ 96 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างส่งเรื่องอนุมัติมายังสำนักการคลังเพื่อให้ผู้ว่าฯกทม.อนุมัติงบประมาณต่อไป โดยในส่วนค่าเสียหายที่กทม.ได้รื้อถอนอาคารจะนำมาฟ้องร้องค่าเสียหายต่อเจ้าของอาคาร สำหรับขั้นตอนการดำเนินจะเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายภายใน 60 วันหรือประมาณ 3 เดือนคาดจะหาผู้รับจ้างได้ โดยคาดว่าเรื่องจะถึงตนในวันที่ 6 พฤศจิกายนหลังจากนั้นภายใน 60 วันหรือช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มรื้อถอนอาคาร หลังจากได้ผู้รับจ้าง ทั้งนี้ ตนได้พูดคุยกับเจ้าของอาคารโดยระบุว่า จะขอรักษาสิทธิ์โดยจะขอยื่นอุทธรณ์อีกครั้ง เนื่องจากมีหลักฐานใหม่ หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของศาลว่าจะตัดสิินอย่างไร แต่ขณะนี้กทม.ได้รับคำสั่งจากศาลปกครองสูงสุดให้กทม.ดำเนินการตามคำสั่งคือให้รื้อถอนอาคารและปิดใช้อาคาร หากฝ่าฝืนจะไปแจ้งความพร้อมดำนินการปรับวันละไม่เกิน 30,000 บาท

Advertisement

“ขณะนั้นตนยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. เรื่องนี้เกิดก่อนที่ผมจะมาเป็นผู้ว่าฯกทม. แต่ผมก็ต้องเข้ามาดำเนินกาต่อ พร้อมเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือและสั่งการให้กองประชาสัมพันธ์จัดทำป้ายไวนิลมาติดตั้งทันที” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

เมื่อถามว่าผู้ว่าฯกทม.ยืนยันหรือไม่ว่าอาคารจะได้รับการรื้อถอนแน่นอน พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กทม.ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ศาลตัดสินแล้วว่าให้รื้อถอนอาคาร กทม.ก็ต้องปฎิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ เมื่อกระบวนการยุติธรรมได้ชี้ชัดว่าอย่างไรก็ต้องปฎิบัติไปตามนั้น ซึ่งตนไม่ได้รู้จักใครทั้งนั้นก็ว่าไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกฎหมายของอาคารว่ามีหลักฐานใหม่จากกรมที่ดินอยู่ระหว่างการร้องขอความเป็นธรรมจากศาล นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งก็ให้ทางเจ้าของอาคารปฎิบัติ แต่กทม.ก็ต้องปฎิบัติตามหน้าที่ตามคำสั่งศาล ยกเว้นศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยระหว่างนี้กทม.ก็ไม่ต้องรอคำสั่งอื่น ก็เดินหน้ารื้อถอนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด

Advertisement

ด้านนายภิญโญ สวัสดิ์สิทธิ์ ที่ปรึกษาผู้บริหารโครงการดิเอทัส กล่าวว่า กรณีนี้มีการต่อสู้ในชั้นศาลมาเป็นเวลา 1-2 ปีแล้ว และยังยืนยันว่าอาคารดังกล่าวได้ขออนุญาต และมีเอกสารการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากนี้ ทีมกฎหมายจะนำพยานหลักฐานที่หาได้เพิ่มเติม ไปชี้แจงในชั้นศาลต่อไป ระหว่างนี้ โครงการฯยินดีที่จะจ่ายค่าปรับให้แก่กทม. เนื่องจากยังมีผู้พักอาศัยในอาคารนี้อยู่ โดยมีจำนวนเกินกว่าครึ่งอาคาร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image