บริษัทน้ำยักษ์ใหญ่เลิกใช้ แคปซีล ห่อปากขวดแล้ว ชี้ภัยร้ายสิ่งแวดล้อม ไทยผลิตปีละ 2.6 พันล้านชิ้น

วันที่ 1 พฤศจิกายน นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดี คพ. เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกน้ำดื่มประมาณ 4,400 ล้านขวดต่อปี มีสัดส่วนการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม(แคปซีล) ร้อยละ 60 หรือประมาณ 2,600 ล้านขวด ก่อให้เกิดขยะพลาสติก 2,600 ล้านชิ้นต่อปี (ประมาณ 60%) หรือคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 520 ตันต่อปี ความยาว 260,000 กิโลเมตร คิดเป็นความยาวรอบโลก 6.5 รอบ ซึ่ง คพ. ได้ตระหนักถึงปัญหาปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้น และ ปัญหาแคปซีลขวดน้ำดื่ม ซึ่งเป็นขยะที่มีขนาดเล็ก เบา จัดเก็บยาก และกระจัดกระจายปะปนในชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชน จึงดำเนินการขับเคลื่อนการเลิกใช้แคปซีลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ผลิต ภาครัฐ และเอกชน ทั้งการลงนามบันทึกความร่วมมือ และการประชาสัมพันธ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

 

นางสุณี กล่าวว่า ความคืบหน้าการเลิกใช้แคปซีลขวดน้ำดื่ม มีบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มบริษัทใหญ่ที่ไม่ใช้แคปซีลแล้ว ได้แก่ บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัดบริษัท เอ็ม วอเตอร์ จำกัด, บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด, บริษัท ซีโน-แปซิฟิก เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท ทิปโก้ เอฟแอนด์บี จำกัด, บริษัท ทีทีซี น้ำดื่มสยาม จำกัด, บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท ทิพย์วารินวัฒนา จำกัด สำหรับบริษัทและองค์กรที่ดำเนินการเลิกใช้แคปซีล ในปี 2560 ได้แก่ บริษัท คาราบาวแดง จำกัด (น้ำดื่มตราคาราบาว) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งในส่วนที่มหาวิทยาลัยผลิตเองและร้านค้าในมหาวิทยาลัย ในส่วนของประชาชนผู้บริโภคก็มีความเข้าใจว่าแคปซีลไม่ได้รับรองความสะอาดของน้ำดื่ม และตระหนักในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หันมาบริโภคน้ำดื่มที่ไม่มีแคปซีลมากขึ้น

Advertisement

           

  สุณี ปิยะพันธุ์พงศ์                                           ปริญญา เทวานฤมิตร

ในส่วนแผนการดำเนินงานต่อไป คพ. จะนำข้อเสนอของภาคเอกชนบางรายที่ขอยืดระยะเวลาการเลิกใช้แคปซีล มากกว่า 1 ปี โดย คพ.จะร่วมกับสถาบันพลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สมาคมอาเซียนไวนิล เคาน์ซิล ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาประกอบการกำหนดระยะเวลาการเลิกใช้แคปซีลให้เหมาะสม ซึ่งจะหารือในที่ประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการเลิกใช้แคปซีล โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้ 1.บริษัทผู้ผลิตนำดื่ม อย่างน้อย 50% ของบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่ม เลิกใช้แคปซีลภายในปี 2561 และ 2.บริษัทผู้ผลิตนำดื่มทั้งหมด เลิกใช้แคปซีล ภายในปี 2562 นางสุณี กล่าว

Advertisement

ด้าน นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนโยบายลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ซึ่งร้านค้าส่วนใหญ่ที่ธรรมศาสตร์ไม่จำหน่ายน้ำดื่มที่มีแคปซีลแล้ว โดยทางร้านค้าจะจำหน่ายน้ำดื่มของธรรมศาสตร์เป็นหลักซึ่งน้ำดื่มของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่มีแคปซีล คาดว่าสิ้นปี 2560 แคปซีลที่ธรรมศาสตร์จะหมดไป มหาวิทยาลัยได้แจกกระบอกน้ำและถุงผ้าให้กับนักศึกษาในวันปฐมนิเทศเพื่อลดการเกิดขยะพลาสติก ซึ่งเริ่มแจกมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว และติดตั้งเครื่องกรองน้ำดื่มอย่างเพียงพอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image