กทม.จัดงบฯ ทุบทิ้ง “ดิเอทัส” 198 ล้าน ถ้าเจ้าของยังดื้อ แจ้งความจับ จำคุก 6 เดือน ปรับวันละ3หมื่น

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการ รื้อถอนโรงแรมดิเอทัส และอาคารเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ดิเอทัส เรสซิเดนซ์ ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด หลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อตุลาคม 2557 ให้ผู้อำนวยการเขตปทุมวันและผู้ว่าฯกทม. ใช้อำนาจตามมาตรา 42 และ 43 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดำเนินการรื้อถอนอาคารทั้งหมดหรือบางส่วนในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ความสูงเกิน 23 เมตร (ม.) ในพื้นที่ที่มีเขตถนนซอยกว้างน้อยกว่า 10 ม. ภายหลังกทม. โดยสำนักงานเขตปทุมวัน ได้เข้าติดตั้งป้ายห้ามใช้อาคารตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น ลงวันที่ 29 มกราคม 2558 ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นการปฎิบัติตามข้อกฎหมาย โดยกทม.จะต้องทำทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามกระบวนการ ก่อนจะเข้ารื้อถอนเอง หากได้ทำทุกขั้นตอนแล้ว แต่เจ้าของอาคารไม่ยินยอมก็จำเป็นต้องแจ้งความ ซึ่งมีความผิดทางกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และสำนักงานเขตมีอำนาจปรับวันละไม่เกิน 30,000 บาท

นายจักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนต่อไป คือ ให้ทางสำนักงานเขตปทุมวัน ประมาณราคาค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนอาคาร เนื่องจากเจ้าของอาคารไม่ยอมรื้อถอนมาเป็นระยะเวลา 1 ปีกว่า เบื้องต้นทางสำนักงานเขตได้ยื่นหนังสือเพื่อจัดสรรงบประมาณแล้ว จำนวน 198 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนโรงแรมดิเอทัส 102 ล้านบาท และอาคารเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ดิเอทัส เรสซิเดนซ์ 96 ล้านบาท หลังจากนี้จะตั้งคณะกรรมการพิจารณางบประมาณว่าจะใช้เงินหมวดใดเป็นค่าใช้จ่าย โดยต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด คาดว่าในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้จะอนุมัติได้ หลังจากได้รับอนุมัติในส่วนค่าใช้จ่ายจะเป็นขั้นตอนการสรรหาผู้รับจ้าง เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างหาเอกชนเพื่อเข้ารื้อถอนอาคาร ภายใน 90 วันหรือปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2561

“สำหรับวิธีการในการรื้อถอนตึก มีหลายวิธีการ เช่น ทุบอาคารบางส่วน ทุบทิ้งทั้งหมด แต่สำหรับโครงการดิเอทัส เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้รื้อถอนอาคารทั้งหมด เพราะผิดกฎหมายทั้งอาคาร วิธีการรื้อถอนอาจใช้การทุบราบ ไม่ต้องถึงขั้นแบบระเบิดตึกอย่างต่างประเทศ” นายจักกพันธุ์ กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางสำนักงานเขตปทุมวันได้เข้าแจ้งความเมื่อช่วงบ่ายเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเอกสารเพิ่มเติมสำหรับการเข้าแจ้งความ ส่วนการยื่นหนังสือเพื่อขออนุมัติงบประมาณนั้น ทางเขตได้ยื่นเรื่องมายังกทม.แล้ว อยู่ระหว่างรออนุมัติงบประมาณเพื่อสรรหาผู้รับจ้างตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม ได้รับแจ้งสำนักงานเขตว่า ระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานปฎิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ทางเขตไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ที่ผ่านมาเจ้าของอาคารได้ใช้สิทธิตามกฎหมายของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร กทม.จึงรอตามขั้นตอนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หลังคำสั่งศาลถือเป็นสิ้นสุดแล้ว เมื่อปี 2558 ทางเขตได้นำประกาศมาติดแล้วครั้งหนึ่ง ฉะนั้น หากจะดำเนินการจ่ายค่าปรับ ผู้ครอบครองอาคารจะต้องจ่ายค่าปรับย้อนหลัง ตั้งแต่วันแรกที่ฝ่าฝืนการใช้อาคาร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image