เอ็นจีโอค้านรับเงินบำนาญ เหตุเงินเกษียณไม่พอใช้ สปส.แจงเหตุผลปรับเงิน-ขยายเพดาน

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน  น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน  กล่าวภายหลังเดินทางเข้าร้องสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กรณีการเตรียมขยายเงินบำนาญชราภาพจากอายุ 55 ปี เป็นอายุ 60 ปี  ว่า การขยายอายุเงินบำนาญชราภาพจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปีนั้น เบื้องต้นพวกตนไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบังคับใช้ในคนที่อายุใกล้ 55 ปีแล้ว อย่างตนอายุ 53 ปี อีก 2 ปีก็จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ   ตนยังมองว่าการขยายอายุเงินบำนาญนั้นอาจไม่มีความจำเป็น เพราะตามธรรมชาติของคนแล้ว แม้จะอายุ 55 ปี แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็ยังแข็งแรงและเลือกที่จะทำงานต่อ เพราะเอาจริงๆ แล้วเงินบำนาญที่ได้รับก็ถือว่าน้อยมาก คงไม่สามารถนำมาดำรงชีวิตได้ สู้ทำงานรับเงินเดือนในการดำรงชีพยังจะดีกว่า เพราะเงินเดือนสูงกว่าเงินบำนาญที่ได้รับ จึงคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องยืดอายุการรับเงินบำนาญ  ส่วนคนที่จะเกษียณก็ต้องสามารถเลือกได้ว่าจะเกษียณที่อายุ 55 ปีหรือไม่ รวมทั้งกรณีการจะขยายเงินสมทบจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนมาตรา 39 ด้วยหรือไม่ ซึ่งกลุ่มนี้ต้องจ่ายเงินเอง เพราะออกจากระบบการทำงานตามปกติ จึงอยากให้สปส.ชี้แจงเรื่องนี้

นายณภูมิ สุวรรณภูมิ นักวิชาการสถิติ สำนักงานประกันสังคม ในฐานะนักคณิตศาสตร์ประกันภัย กล่าวว่า สำหรับเรื่องการขยายอายุรับบำนาญนั้น ยังอยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์ ซึ่งสามารถเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นข้อเสนอในเวทีได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับอายุรับเงินบำนาญเป็น 60 ปี หลักการคือต้องมีการประกาศก่อนล่วงหน้า และที่สำคัญคือคงไม่บังคับให้คนที่อายุใกล้ 55 ปีต้องขยายอายุรับเงินบำนาญที่ 60 ปี เพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนได้ หลักการเบื้องต้นคือน่าจะขยายอายุรับเงินบำนาญแบบเป็นขั้นบันไดมากกว่า เช่น คนอายุ 50 ปี ขอให้เกษียณรับเงินบำนาญที่อายุ 56 ปี อายุ 48 ปี ขอให้รับเงินบำนาญที่อายุ 57 ปี หรืออายุ 46 ปีขอให้รับเงินบำนาญที่อายุ 58 ปี เป็นต้น

“ระบบบำนาญถือเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข คือการออมเงินในบัญชีรวม ทำให้เราได้เงินบำนาญมาดูแลในแต่ละเดือนมากกว่าเงินที่ส่งสมทบแต่ละเดือน เนื่องจากคนวัยทำงานมาช่วยส่งเงินสมทบให้ จากหลักการที่ว่าคนรุ่นใหม่จะอยู่ในสภาพเศรษฐกิจที่ดีกว่า เรียกได้ว่าเป็นวัยเด็กมาช่วยผู้สูงอายุกว่า ส่วนสาเหตุที่ต้องมีการขยายอายุเงินบำนาญ เนื่องจากประเทศไทยตั้งกองทุนประกันสังคมล่าช้า ซึ่งประเทศอื่นมีมานานมากจนสามารถจ่ายเงินบำนาญก่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพก็เมื่อจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ซึ่งจากการคำนวณอายุเฉลี่ยของผู้ประกันตนหลังพ้นวัยเกษียณ 55 ปีพบว่า จะมีชีวิตอยู่ได้อีกประมาณ 24 ปี เงินบำนาญที่ต้องจ่ายไปถือว่าเป็นเงินมหาศาล ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องจ่ายสมทบเพื่อช่วยเหลือคนวัยเกษียณต้องแบกภาระมากขึ้น จึงมีการขยายอายุรับเงินบำนาญออกไป ซึ่งทั่วโลกที่มีระบบประกันสังคมก็มีเพียง 3% เท่านั้นที่ยังคงใช้อายุเกษียณที่ 55 ปี” นายณภูมิ กล่าว

นายณภูมิ กล่าวถึงกรณีการขยายเพดานเงินเดือนจ่ายเงินสมทบ ประกันสังคมจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท  ส่งผลให้ต้องจ่ายเงินสมทบสูงสุดจาก 750 บาท เป็น 1,000 บาท   ว่า ก่อนอื่นขอให้ทำความเข้าใจก่อนว่า การขยายเพดานเงินเดือนในการจ่ายเงินสมทบ ไม่ใช่เป็นเรื่องความมั่นคงของกองทุนประกันสังคม เพราะแม้จะจ่ายเงินสมทบเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้มีผลในเรื่องการยืดอายุกองทุนแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องความมั่นคงทางสังคม คือ เพื่อให้กองทุนมีความหมายต่อชีวิตของผู้ประกันตนและสามารถอยู่ในการดูแลลูกหลานของผู้ประกันตนต่อไปได้

Advertisement

“กองทุนประกันสังคมตั้งขึ้นเมื่อปี 2533 กำหนดเพดานเงินเดือนสูงสุดในการจ่ายเงินสมทบคือ 15,000 บาท ซึ่งในขณะนั้นถือว่าสูงมาก เพราะเงินเดือนเฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 3-4 พันบาท โดยได้รับสิทธิเงินช่วยเหลือว่างงานอยู่ที่ 7,500 บาท ซึ่งถือว่าสูงมากกว่าเงินเดือนเฉลี่ย ดังนั้น กองทุนจึงมีความหมาย เป็นความมั่นคงทางสังคม แต่ผ่านมา 20 กว่าปี กองทุนไม่ได้มีการปรับเพดานเงินเดือนเลย ทำให้มูลค่าของกองทุนลดลงทุกปี โดยเงินเดือนเฉลี่ยผู้ประกันตนปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 13,000 บาทแล้ว ถ้าเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ อย่างเงินช่วยเหลือว่าง 7,500 บาท จะมีความหมายอะไร เพราะน้อยกว่าเงินเดือนมาก  จึงต้องมีการปรับเพดานเงินเดือนในการจ่ายเงินสมทบขึ้น เพื่อให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มขึ้น และเป็นกองทุนที่มีความหมายต่อผู้ประกันตน ในการช่วยเหลือผู้ประกันตน” นายณภูมิ กล่าว

นายณภูมิ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือ ประกันสังคมทั่วโลกมีการปรับเพดานเงินเดือนจ่ายเงินสมทบทุกปี โดยพิจารณาจากเงินเดือนเฉลี่ยของผู้ประกันตนทั้งระบบเป็นเท่าไร แล้วจะเพิ่มเพดานเงินสมทบเป็นเท่าไร เช่น เงินเดือนเฉลี่ยผู้ประกันตนทั้งระบบอยู่ที่ 10,000 บาท แต่พอคำนวณใหม่แล้วกลายเป็นเฉลี่ย 10,500 บาท แสดงว่าเพิ่มขึ้น 5% ก็มาขยายเพดานเงินเดือนจ่ายสทบอีก 5% เป็นต้น แต่ประเทศไทยไม่เคยปรับเลย แต่ก็มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ผู้ประกันตนเรื่อยมา ดังนั้น จึงต้องมีการปรับเพดานเงินเดือนจ่ายเงินสมทบ ซึ่งไม่ได้ทำเพื่อกองทุน แต่ทำเพื่อให้กองทุนมีความหมายต่อผู้ประกันตน และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับคนที่มีเงินเดือนต่ำด้วย เพราะหากไม่มีการขยายเพดานขึ้นไปตามเงินเดือนที่ปรับตัวสูงขึ้น ก็เท่ากับว่าคนเงินเดือนน้อยจ่ายสูง แต่คนเงินเดือนสูงจ่ายต่ำกว่า ทั้งนี้ หากประเทศไทยมีการปรับเพดานเงินเดือนมาโดยตลอดเช่นประเทศอื่น จะส่งผลให้การจ่ายเงินบำนาญของผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบในอัตราเพดานสูงสุด ในระยะเวลาขั้นต่ำสุดคือ 15 ปี จะได้รับเงินบำนาญเฉลี่ยอยู่ที่ 9,000 บาทต่อเดือน ซึ่งหากสมทบนานกว่านี้ก็จะได้เงินที่สูงมากกว่านี้เช่นกัน

นายณภูมิ กล่าวว่า ส่วนการปรับฐานค่าจ้างจ่ายเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 4,800 บาท เป็น 7,800 บาท โดยคิดอยู่ที่ 9% ทำให้การจ่ายเงินสมทบจาก 432 บาท เป็น 702 บาท เท่ากันทุกคน ซึ่งมีข้อกังวลว่าผู้ประกันตนเองอาจจ่ายไม่ไหว เพราะค่าจ้างน้อยและอาจทำให้หลุดจากระบบนั้น หากพิจารณาแนวทางการดำเนินงานของประเทศอื่น ทางแก้ไขคือมีการเชื่อมโยงข้อมูลเงินเดือนจริงของผู้ประกันตนเองว่าเงินเดือนจริงเป็นเท่าไร โดยประเทศไทยหากระบบดีพออาจเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมสรรพากร หรืออาจให้คนที่เงินเดือนน้อยจริงๆ กรอกแบบฟอร์มกับทางประกันสังคม และอาจมีการตรวจสอบว่าเงินเดือนน้อยจริงหรือไม่ ก็เพื่อยกเว้นไม่ต้องใช้ฐานค่าจ้าง 7,800 บาท โดยให้จ่ายเงินสมทบที่ 9% ตามค่าจ้างจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image